กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมจัดงาน "มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข
เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน" เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจนไม่สามารถชำระหนี้ได้
โดยมีเจ้าหนี้เข้าร่วมกว่า 60 ราย
วัตถุประสงค์การจัดมหกรรมฯ
เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่กลับมาเต็มที่ และอาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น
ลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้ จากผลกระทบที่รายได้ยังไม่กลับมา เพราะสถานการณ์โควิด หรือค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น
เจ้าหนี้และประเภทหนี้ที่เข้าร่วม
สถาบันการเงิน/ผู้ให้บริการทางการเงิน ภาคเอกชนและภาครัฐ (SFIs) กว่า 60 แห่ง ครอบคลุม หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ จำนำทะเบียนรถ ที่อยู่อาศัย นาโนไฟแนนซ์ สินเชื่อการเกษตร สินเชื่อธุรกิจ หนี้ค่าประกันชดเชย บสย. หนี้ที่โอนไปบริษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.) และสินเชื่อของผู้ให้บริการทางการเงินภาครัฐ
เพิ่มประเภทสินเชื่อ ขยายเวลาการลงทะเบียน
เพื่อให้ช่วยเหลือลูกหนี้ได้ครอบคลุมและต่อเนื่องมากขึ้น ธปท. จึงได้หารือกับผู้ประกอบธุรกิจ จึงเพิ่มความช่วยเหลือกับลูกหนี้ ใน 2 เรื่อง ดังนี้
- เพิ่มประเภทสินเชื่อในมหกรรมฯ ได้แก่ สินเชื่อธุรกิจวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท ลูกหนี้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่ค้างชำระหนี้ตั้งแต่ 31 วันขึ้นไปก่อนวันที่ 31 ต.ค. 65 ทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท ลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่ค้างชำระหนี้ตั้งแต่ 31 วันขึ้นไปก่อนวันที่ 31 ต.ค. 65
- ขยายระยะเวลาลงทะเบียนจนถึงวันที่ 31 ม.ค. 66 จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 พ.ย. 65 เพื่อขยายโอกาสให้ลูกหนี้ที่ลงทะเบียนไม่ทันภายในระยะเวลามหกรรมเดิม พร้อมทั้งเป็นช่องทางให้ลูกหนี้ที่เข้ามาในงานมหกรรมสัญจรต่างจังหวัดสามารถแก้ไขหนี้กับผู้ประกอบธุรกิจอื่นที่ไม่ได้ร่วมงานสัญจร นอกจากนี้ ยังช่วยรองรับลูกหนี้ที่ต้องการแก้หนี้ 2 ประเภทที่เพิ่มขึ้นด้วย
ขั้นตอนและเงื่อนไขการแก้หนี้
หลังจากลูกหนี้ลงทะเบียนในช่วงวันที่ 26 ก.ย. – 31 ม.ค. 66 แล้ว เจ้าหนี้จะติดต่อกลับภายใน 18 วัน โดยเจ้าหนี้จะพิจารณาตามสถานะหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้