คำถาม-คำตอบแถลงข่าวร่วม การส่งเสริมการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 อย่างยั่งยืน
1. ทำไม ธปท. ต้องมีการปรับมาตรการเป็นระยะ
มาตรการถูกปรับให้สอดคล้องตามสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่อง จากการช่วยเหลือแบบปูพรมในช่วงที่การระบาดยังไม่ชัดเจน
แต่เมื่อชัดขึ้นว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อออกไปและส่งผลต่อลูกหนี้ไม่เท่ากัน ด้วยกระสุนที่จำกัด มาตรการระยะที่ 2 จึงปรับเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้แบบตรงจุด ให้ผู้เดือดร้อนมาแจ้งขอเข้ามาตรการและส่งเสริมให้สถาบันการเงิน ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้
ต่อมา การระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่ เม.ย. 64 ส่งผลรุนแรงขึ้นมาก มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3 จึงเน้นบรรเทาภาระหนี้ในระยะยาว ลดภาระดอกเบี้ย และมีทางเลือกในการปิดหนี้
มาตรการพักหนี้ 2 เดือน ในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา เป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้าและเร่งด่วนสำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดระลอกล่าสุด
จากการหารือกับ ธนาคารพาณิชย์ พบว่าลูกหนี้ที่อยู่ในโครงการพักชำระหนี้ 2 เดือน ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบหนักและมีโอกาสจะต้องพักต่อออกไปอีก ซึ่งเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปและยืดเยื้อกว่าคาดเช่นนี้ การแก้ไขหนี้แบบสั้น ๆ จึงไม่ตอบโจทย์แล้ว การพักชำระหนี้เหมาะกับการแก้ปัญหากรณีเศรษฐกิจมี shock ระยะสั้น และสถานการณ์กลับสู่ปกติเร็ว แต่การพักชำระหนี้ไปเรื่อย ๆ นอกจากจะไม่ทำให้ภาระลดลงจริง ยังทำให้ลูกหนี้มีความเครียดจากความไม่แน่นอน เสียเวลาในการติดต่อสถาบันการเงิน และ สถาบันการเงินเจ้าหนี้เองก็สิ้นเปลืองต้นทุนการบริหารจัดการด้วย
2. มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูที่ออกมาใหม่มีสาระสำคัญอย่างไร
ธปท. ได้ปรับเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟู โดยนำข้อเสนอแนะของภาคเอกชนมาใช้ปรับเกณฑ์ในรอบนี้ด้วย เพื่อให้เพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อระยะถัดไปวงเงิน 150,000 ล้าน โดยจะขยายวงเงินสินเชื่อลูกหนี้รายใหม่จากไม่เกิน 20 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 50 ล้านบาท ส่วนลูกหนี้เดิมที่มีวงเงินเดิม 30% ไม่ถึง 50 ล้านบาท สามารถขอได้สูงสุด 50 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องให้เพียงพอมากขึ้นต่อสถานการณ์ โควิด-19 ที่ยาวกว่าที่คาดการณ์ไว้
ทางการได้ปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการค้ำประกันของ บสย. รวมถึงการปรับลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันรวมสำหรับลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง โดยลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันในปีที่ 1-2 เพื่อลดภาระในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว คาดว่าจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 6 กันยายนนี้
3. ธปท. จะสร้างแรงจูงใจให้สถาบันการเงินเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มขึ้นอย่างไร คาดหวังว่าสถาบันการเงินจะช่วยได้มากน้อยแค่ไหนในสถานการณ์เช่นนี้
การใช้หลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองอย่างยืดหยุ่นไปจนถึงสิ้นปี 2566 เพื่อลดภาระต้นทุนสำหรับสถาบันการเงินที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างยั่งยืน ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยวิธีที่นอกเหนือไปจากการขยายเวลาการชำระหนี้เพียงอย่างเดียว เช่น การเปลี่ยนโครงสร้างสินเชื่อจากระยะสั้นเป็นระยะยาวร่วมกับการปรับโครงสร้างหนี้วิธีอื่น ๆ การปรับโครงสร้างหนี้ที่มีการให้สินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ รวมถึงการลดภาระการผ่อนชำระให้ลูกหนี้ ซึ่งจะช่วยจูงใจให้เกิดการส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังลูกหนี้ได้อย่างเต็มศักยภาพ
การขยายระยะเวลาปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF เหลือร้อยละ 0.23 จากร้อยละ 0.46 ต่อปี ที่จะสิ้นสุดสิ้นปี 2564 นี้ ออกไปจนถึงสิ้นปี 2565 เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถส่งผ่านต้นทุนที่ลดลงไปในการบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชนได้อย่างต่อเนื่องภายใต้สถานการณ์ COVID-19 ที่ยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง
คาดว่าสถาบันการเงิน จะยังคงช่วยเหลือลูกหนี้ให้รอดไปด้วยกันเพราะหาก ลูกหนี้ไม่รอด สถาบันการเงิน ก็ไม่รอดเช่นกัน
ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2 ปี 2564 ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็ง โดยมีเงินกองทุน เงินสำรองและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ต่อเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวและทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้และสนับสนุนความต้องการสินเชื่อได้ ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นช่วยชะลอการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ผลประกอบการปรับดีขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน โดยหลักจากค่าใช้จ่ายกันสำรองที่ลดลงหลังจากการกันสำรองในระดับสูงในปีก่อน
ธปท. ดูแลให้ธนาคารพาณิชย์ ทั้งระบบเสริมสร้าง Buffer เงินกองทุนและเงินสำรองสูงมาอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือน ม.ค. 2563 ช่วงก่อนเกิด COVID-19 ธนาคารพาณิชย์มีการกันสำรองส่วนเกินจำนวนมากตามมาตรฐานบัญชีใหม่ (TFRS9) นอกจากนี้ ในปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ ก็ยังคงมีการตั้งสำรองเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้มีเงินสำรองเพียงพอสามารถรองรับการเสื่อมค่าของสินเชื่อรายย่อยที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากวิกฤตโควิดนี้ได้ และยังสามารถส่งความช่วยเหลือให้แก่ลูกหนี้รายย่อยต่อไปได้
4. ในส่วน non-bank และ สถาบันการเงินที่ไม่ได้อยู่ภายใต้กำกับของ ธปท. มีแนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมตามมาตรการเกี่ยวกับสินเชื่อลูกหนี้รายย่อย ด้วยหรือไม่
ธปท. ได้ประสานงานกับผู้ประกอบธุรกิจ non-bank ภายใต้ชมรมผู้ประกอบธุรกิจเช่าซื้อ สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต จำนำทะเบียนรถ ซึ่งเป็น non-bank ภายใต้การกำกับของ ธปท. โดยทุกชมรมตอบรับกับมาตรการของ ธปท. แล้ว
5. ธปท. และ สมาคมธนาคารไทย คิดว่าปัญหาหลักของลูกหนี้คืออะไร
ปัญหาหลักของลูกหนี้มาจากรายได้ที่ลดลงหรือไม่มีในช่วงที่ผ่านมา
ผู้ประกอบธุรกิจในกลุ่ม sector ที่ได้รับผลกระทบไม่ว่าจะสถานการณ์การระบาดทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการที่ได้รับกระทบจากคำสั่ง lockdown เช่น ภาคเท่องเที่ยว เกี่ยวเนื่องกับท่องเที่ยว ขนส่งผู้โดยสาร ร้านอาหาร ก่อสร้าง เป็นต้น
ลูกหนี้รายย่อย ที่ถูกลดเงินเดือนหรือถูกเลิกจ้าง โดยเฉพาะที่อยู่ในสถานประกอบการที่ถูกสั่งปิดกิจการจากการ lockdown หรือจากที่ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา
“หลุมรายได้” ขนาดใหญ่ในระบบเศรษฐกิจไทย โดยในช่วงปี 2563-2564 คาดว่ารายได้จากการจ้างงานจะหายไปถึง 1.8 ล้านล้านบาท จากนายจ้างและอาชีพอิสระ 1.1 ล้านล้านบาท และลูกจ้าง 7.0 แสนล้านบาท มองไปข้างหน้า การจ้างงานคงฟื้นตัวไม่เร็วและรายได้จากการจ้างงานในปี 2565 คาดว่าจะหายไปอีกราว 8.0 แสนล้านบาท ซึ่งหมายถึงในปี 2563-2565 “หลุมรายได้” อาจมีขนาดถึง 2.6 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ดี ก็มีภาคธุรกิจฟื้นตัวแล้ว (K-shaped) คือภาคการผลิตเพื่อการส่งออก ที่เริ่มฟื้นตัวกลับมาได้ จากการส่งออกสินค้าขยายตัวดีตามเศรษฐกิจต่างประเทศที่สถานการณ์เบากว่าไทย แต่มีแรงงานที่เกี่ยวข้องเพียง 8% ได้รับประโยชน์ ขณะที่แรงงานในภาคบริการกว่า 52 % ส่วนใหญ่ยังเดือดร้อน โดยรวมจึงยังทำให้ความเป็นอยู่ของครัวเรือน/การจ้างงานยังเปราะบางจกผลกระทบที่เป็นวงกว้างและการฟื้นตัวของรายได้ที่ยังไม่ทั่วถึง
6. ลูกหนี้ต้องเตรียมตัวอย่างไร
เตรียมข้อมูลเบื้องต้น ดังนี้
ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ท่านได้ดำเนินการอย่างไรบ้าง เช่น ลดสต็อกสินค้า, ลดพนักงาน เป็นต้น
มีการทำ Cash Flow เพื่อประมาณการว่าในอีก 1.5 ปีข้างหน้า ต้องการเงินทุนหมุนเวียนประมาณเท่าไร
เจ้าของกิจการได้นำเงินส่วนตัวมาลงทุนเพิ่มในกิจการหรือไม่
มี Asset ใดบ้าง ที่ท่านได้มีการเปลี่ยนสภาพเป็นเงินทุน เพื่อหมุนเวียนในธุรกิจ
7. ธปท. มีตัวเลขลูกหนี้ที่ได้รับการช่วยเหลือจากสถาบันการเงินหรือไม่ จำนวนกี่ราย มูลค่าหนี้เท่าไหร่
ข้อมูล ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 64 มีลูกหนี้ที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือ (สถาบันการเงิน Non-bank +SFIs) จำนวน 5 ล้านบัญชี เป็นมูลหนี้ 3.29 ลลบ. (ในจำนวนนี้เป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงิน 1.9 ล้านบัญชี เป็นยอดหนี้ประมาณ 2 ลลบ.)
ซึ่งลดลงจากช่วงเวลาที่มีลูกหนี้อยู่ในมาตรการสูงสุดเมื่อเดือน ก.ค. 63 ที่มีลูกหนี้ในมาตรการจำนวน 12.52 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 7.2 ลลบ. โดยส่วนใหญ่ลูกหนี้ที่ออกจากมาตรการสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ โดยลูกหนี้ในมาตรการทยอยลดลงมาเป็นลำดับ
อย่างไรก็ดี ลูกหนี้ในมาตรการมีแนวโน้มเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่ มิ.ย. 64 จากสถานการโรคบาดที่รุนแรงขึ้น จนมีการ lockdown อีกครั้งในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา
