คำถาม - คำตอบ
Q1: ธปท. คาดว่ามาตรการนี้จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด
A1: จากการประเมินเบื้องต้นคาดว่ามาตรการครั้งนี้จะสามารถพยุงการจ้างงานได้หลายแสนคน และช่วยบริษัทให้มีสภาพคล่องในการประกอบธุรกิจได้อีกหลาย 10,000 บริษัท รวมถึงช่วยลดความเสี่ยง GDP at risk ได้
Q2: ธปท. กังวลหรือไม่ ว่า การพักทรัพย์พักหนี้นั้น สง. จะเลือกช่วยเหลือเฉพาะธุรกิจที่เข้มแข็งเป็นหลัก ทำให้การช่วยเหลือไปไม่ถึงธุรกิจที่อ่อนแอ
A2: สง. จะให้ความช่วยเหลือลูกหนี้โดยพิจารณามาตรการที่เหมาะสมตามความจำเป็นของลูกหนี้แต่ละกลุ่ม ดังนั้น โดยทั่วไป ธุรกิจที่เข้มแข็งน่าจะไม่มีความจำเป็นต้องเข้าร่วมโครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” ซึ่ง สง. อาจจะให้ความช่วยเหลือด้วยการเพิ่มสภาพคล่องตามมาตรการในส่วนของสินเชื่อฟื้นฟู
นอกจากนี้ สง. น่าจะมีแรงจูงใจที่จะช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมาก เพื่อลดโอกาสที่จะกลายเป็นหนี้เสีย
ทั้งนี้ ธปท. กำหนดให้ สง. ส่งรายงานความคืบหน้าของการให้สินเชื่อตามมาตรการนี้เป็นประจำทุกเดือน เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการติดตามและประเมินผลของมาตรการในด้านที่สำคัญต่าง ๆ พร้อมกำชับให้ สง. เร่งกระจายสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึงทั้งลูกหนี้เดิมและลูกหนี้ใหม่ โดยให้ความสำคัญกับผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็กและผู้ประกอบธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม
Q3: มาตรการจะสามารถออกใช้ได้เมื่อไหร่ และจะมีผลบังคับใช้พร้อมกันทั้ง 2 มาตรการหรือไม่
A3: ขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาตามขั้นตอนการตรากฎหมาย โดยทางการจะดูแลให้สามารถออกใช้ได้เร็วที่สุด ซึ่งทั้ง 2 มาตรการจะมีผลบังคับใช้พร้อมกัน
Q4: เมื่อ สง. ตกลงที่จะให้ความช่วยเหลือตามมาตรการแก่ลูกหนี้แล้ว ยังต้องผ่านการพิจารณาของ ธปท. อีกหรือไม่
A4: เนื่องจากมาตรการนี้เกี่ยวข้องกับการขอรับสภาพคล่องจาก ธปท. ดังนั้น สง. จึงต้องขออนุมัติสินเชื่อโดยการส่งข้อมูลของลูกหนี้ที่จะให้ความช่วยเหลือมาที่ ธปท. เพื่อพิจารณา ซึ่ง ธปท. จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือ โดยให้ความสำคัญกับการดูแลให้ความช่วยเหลือถึงกลุ่มที่จำเป็น ตลอดจน ธปท. จะดูแลให้กระบวนการเป็นไปอย่างรวดเร็วเพื่อให้ลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลืออย่างเร็วที่สุด
Q5: ลูกหนี้ที่อยากเข้าร่วมมาตรการต้องทำอย่างไร
A5: เมื่อมาตรการนี้มีผลบังคับใช้แล้ว ลูกหนี้สามารถติดต่อกับ สง. ได้โดยตรง และหากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ call center ของ ธปท. ที่โทร. 02-283-6112 หรือ email : FinRehab@bot.or.th
II มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูฯ
Q6: เกณฑ์การกำกับดูแล Stablecoin จะออกได้เมื่อไหร่
A6: ธปท. จะมีการออก Consultative paper เพื่อรับฟังความเห็นก่อนพิจารณาแนวทางกำกับดูแลต่อไป ซึ่งคาดว่าจะออกเกณฑ์การกำกับดูแลภายในปีนี้
Q7: สำหรับคริปโทเคอร์เรนซี กรณีที่มีการนำเหรียญคริปโทเคอเรนซีไปใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการที่ร้านค้า สามารถทำได้หรือไม่
A7: กรณี Stablecoin ประเภทที่มีเงินบาทหนุนหลัง (Baht-backed Stablecoin) ที่ใช้เป็นสื่อกลางในการชำระเงิน ธปท. จะกำกับดูแลลักษณะเดียวกับการกำกับดูแลการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ภายใต้ พ.ร.บ. ระบบการชำระเงิน พ.ศ. 2560 โดยอาจกำหนดเงื่อนไขในการให้บริการ เพื่อดูแลความเสี่ยงในมิติต่าง ๆ โดยผู้ที่ประสงค์จะให้บริการในลักษณะดังกล่าวจะต้องหารือกับ ธปท. เพื่อพิจารณาก่อนเริ่มดำเนินการ หากไม่ขออนุญาตถือว่ามีความผิด
กรณีของการใช้คริปโทเคอร์เรนซีที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. ในการชำระค่าสินค้าและบริการ ในลักษณะที่คู่สัญญาที่ตกลงแลกเปลี่ยนกันเอง ผู้เกี่ยวข้องและผู้ใช้ต้องศึกษากฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค และต้องยอมรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเอง
Q8 ขอทราบ timeline และแผนดำเนินการของ CBDC
A8: ธปท. มี CBDC 2 รูปแบบ คือ wholesale CBDC ซึ่งใช้ในระดับสถาบันการเงิน และ retail CBDC สำหรับภาคประชาชน โดย ธปท. เริ่มศึกษาและพัฒนา wholesale CBDC ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 และได้ต่อยอดจนสู่การพัฒนาระบบการโอนระหว่างประเทศร่วมกับธนาคารกลางฮ่องกง (HKMA) ธนาคารกลางแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (CBUAE) และสถาบันศึกษาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (PBC DCI) นอกจากนี้ ในปี 2564-2565 ธปท. มีแผนที่จะศึกษาและพัฒนา retail CBDC โดยในต้นเดือนเมษายนจะมีออก Direction paper เพื่อระบุถึงแนวทางของการพัฒนา CBDC เบื้องต้น และเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาต่อไป