เกี่ยวกับ ธปท.
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นองค์กรของรัฐที่มี บทบาทหน้าที่ หลักในการบริหารจัดการให้ระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย โดยผ่านการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพในอัตราที่เหมาะสมกับศักยภาพของประเทศ ซึ่งถือเป็นการร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เอื้อให้ประชาชนสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนในระยะยาว ภายใต้วิสัยทัศน์ “เป็นองค์กรที่มองไกล มีหลักการและร่วมมือ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของไทย” และค่านิยมร่วม “ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ ติดดิน” โดยมีพันธกิจ “มุ่งเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจการเงินที่มีเสถียรภาพ และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและทั่วถึง”
สำหรับทิศทางการดำเนินงานของ ธปท. ในภาพรวมนั้น ธปท. จะดำเนินงานตาม แผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (พ.ศ. 2563 – 2565) ภายใต้หัวข้อ “ธนาคารกลางท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง” (Central Bank in a Transformative World) เพื่อรองรับสภาพแวดล้อมที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่มีความผันผวน (Volatility) ไม่แน่นอน (Uncertainty) ซับซ้อน (Complexity) และคลุมเครือ (Ambiguity) ที่ทวีความเร็วและแรงกว่าช่วงที่ผ่านมา ซึ่งอาจเรียกสภาพแวดล้อมดังกล่าวว่า VUCA+ โดยมีพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต รูปแบบธุรกิจ บริการทางการเงิน และระบบเศรษฐกิจ (disruptive technology) เป็นตัวเร่งสำคัญ นอกจากนี้ ระบบเศรษฐกิจสังคมไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการสะสมปัญหาเชิงโครงสร้างและความเปราะบางของสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่มากขึ้น
ธปท. ตระหนักว่าภายใต้สภาพแวดล้อม VUCA+ โลกกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เร็วและแรงกว่าที่เคยเป็นมา แผนยุทธศาสตร์ 3 ปีของ ธปท. จึงได้กำหนดแนวทางเพื่อให้ ธปท. ทำหน้าที่ธนาคารกลางได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในช่วง 3 ปีข้างหน้า สามารถขับเคลื่อนให้ระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศมีพัฒนาการและปรับตัวได้อย่างเท่าทัน รวมทั้งส่งเสริมให้ระบบเศรษฐกิจการเงินไทยเติบโตได้เต็มศักยภาพและมีความทนทานสามารถรับมือกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ ธปท. ยังให้ความสำคัญกับการวางรากฐานสำคัญขององค์กร (internal transformation) เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและศักยภาพขององค์กรในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และภารกิจของ ธปท. ให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างชัดเจน ดังนั้น ในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (พ.ศ. 2563-2565) จึงได้กำหนดประเด็นความท้าทายสำคัญ 7 ด้าน และการปรับเปลี่ยนรากฐานสำคัญขององค์กร 3 ด้าน ดังนี้
ประเด็นความท้าทายสำคัญ 7 ด้าน
1. ระบบการเงินเข้าสู่โลกการเงินดิจิทัลอย่างรวดเร็ว
2. กรอบและกลไกการกำกับดูแลเสถียรภาพระบบการเงินต้องเท่าทันกับความเสี่ยงและสภาพแวดล้อมใหม่
3. นโยบายการเงินและนโยบายการคลังต้องคำนึงถึงขีดจำกัด โดยเฉพาะจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง
4. อัตราแลกเปลี่ยนจะผันผวนสูงและการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของภาคเอกชนจะมีความสำคัญมากขึ้น
5. ภัยคุกคามทางไซเบอร์และความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีจะเป็นความเสี่ยงหลักของระบบการเงิน
6. การดำเนินงานโดยคำนึงถึงความยั่งยืน (sustainability) ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลจะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
7. การรักษาความเป็นอิสระและความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางต้องเผชิญกับความท้าทายที่หลากหลายขึ้น
การปรับเปลี่ยนรากฐานสำคัญขององค์กร 3 ด้าน
รากฐานที่ 1 ปลดล็อกและเสริมสร้างศักยภาพของพนักงานให้เป็นพลังขององค์กร
รากฐานที่ 2 ปรับวัฒนธรรมองค์กรและกระบวนการทำงานไปสู่การเป็นองค์กรที่มีความคล่องตัวสูง
รากฐานที่ 3 ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลเป็นเครื่องมือหลักในทุกกระบวนการทำงาน