พระประวัติส่วนพระองค์
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ประสูติ ณ ปีกุน วันเสาร์ที่ 29 เมษายน 2442 เป็นพระโอรสองค์ที่ 9 ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไชยันต์มงคล กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย และหม่อมส้วน ไชยันต์ มีเจ้าพี่เจ้าน้องร่วมพระบิดา 12 องค์ ได้ทรงเศกสมรสกับหม่อมราชวงศ์หญิง ชวลิต สนิทวงศ์ บุตรีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพร้อมพงศ์อธิราช ในปี 2464 มีบุตรคือ ม.ร.ว. ไชยวัฒน์ ไชยันต์ และม.ร.ว. พัฒนไชย ไชยันต์
เมื่อ ม.ร.ว. ชวลิต ไชยันต์ ได้ถึงแก่กรรมในปี 2472 พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ได้ทรงเศกสมรสกับ หม่อมเจ้าหญิง พัฒน์คณนา กิติยากร พระธิดาของพระบรมวงศ์เธอฯ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ มีธิดา คือ ม.ร.ว. กิติวัฒนา ไชยันต์
พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2503 เนื่องจากประชวรด้วยโรคพระหทัย ทรงมีพระชนมายุรวม 61 พรรษา 3 เดือน 24 วัน
บทบาทต่อธนาคารแห่งประเทศไทย
พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายไทยของกระทรวงการคลัง ได้ทรงเสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเตรียมจัดตั้งธนาคารชาติไทย เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2482 ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทย” และสภาผู้แทนราษฎรได้อนุมัติร่างพระราชบัญญัติและประกาศในราชกิจจานุเบกษา สำนักงานธนาคารชาติไทยจึงได้ก่อตั้งขึ้นและเริ่มปฏิบัติงานเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2483 และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2483
และด้วยพระปรีชาสามารถและพระวิริยะอุตสาหะของพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้เปิดดำเนินการในฐานะธนาคารกลางแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2485 โดยพระองค์ได้ทรงร่างพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 ด้วยพระองค์เอง และทรงดำรงตำแหน่งผู้ว่าการพระองค์แรก
ระหว่างที่พระองค์ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย พระองค์ต้องเผชิญปัญหาเกี่ยวกับการคลังและการเงินในระหว่างสงคราม ตลอดจนการป้องกันภาวะเงินเฟ้อในประเทศ พระองค์จึงทรงเสนอให้รัฐบาลออกพระราชบัญญัติเงินตราในภาวะฉุกเฉิน พ.ศ. 2484 และเสนอวิธีการต่างๆ ต่อรัฐบาลไทยหลายวิธี จนสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้สำเร็จลุล่วงได้
ด้วยความวิริยะอุตสาหะของพระองค์ ประเทศไทยจึงได้ลงนามร่วมเป็นสมาชิกองค์การทั้งสอง ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2492 เป็นต้นมา ทั้งนี้พระองค์ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการในสภาผู้ว่าการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และทรงใช้ความรู้และความชำนาญในการติดต่อกู้เงินจากธนาคารโลก เพื่อใช้ในการพัฒนากิจการสาธารณูปโภคในประเทศไทย
ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย มี 2 วาระ คือ 27 พ.ย. 2485 ถึง 16 ต.ค. 2489 และ 3 ก.ย. 2491 ถึง 2 ธ.ค. 2491
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
2451 | ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น 4 รัชกาลที่ 5 |
2464 | ได้รับพระราชทานจัตุถาภรณ์มงกุฎไทย |
2469 | ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น 4 รัชกาลที่ 7 |
2470 | ได้รับพระราชทานตริตาภรณ์ช้างเผือก |
2471 | ได้รับพระราชทานทุติยจุลจอมเกล้า |
2473 | ได้รับพระราชทานทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย |
2473 | ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น 3 รัชกาลที่ 7 |
2474 | ได้รับพระราชทานทวีติยาภรณ์ช้างเผือก |
2480 | ได้รับพระราชทานประถมาภรณ์มงกุฎไทย |
2483 | ได้รับพระราชทานประถมาภรณ์ช้างเผือก |
2493 | ได้รับพระราชทานประถมจุลจอมเกล้า |
2496 | ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น 1 รัชกาลที่ 9 |
2497 | ได้รับพระราชทานมหาวิชรมงกุฎ |
2500 | ได้รับพระราชทานมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก |
สำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของต่างประเทศ ได้ทรงรับตราเซนต์มอริส และเซนส์ลาซาร์ ของอิตาลี
ที่มา : หนังสือสดุดีพระเกียรติคุณ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย