เกี่ยวกับ ธปท.
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นองค์กรของรัฐที่มี บทบาทหน้าที่ หลักในการบริหารจัดการให้ระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย โดยผ่านการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพในอัตราที่เหมาะสมกับศักยภาพของประเทศ ซึ่งถือเป็นการร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยให้ประชาชนสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนในระยะยาวด้วย
ภารกิจที่สำคัญของ ธปท. ได้แก่ การดูแลเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ ผ่านอัตราเงินเฟ้อ และอัตราแลกเปลี่ยนหรือค่าเงินบาท ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงบริหารจัดการธนบัตรหมุนเวียนภายในประเทศ และดูแลระบบการชำระเงินด้วย
หน้าที่อีกประการหนึ่งของ ธปท. ที่มีความสำคัญมากก็คือการกำกับดูแล ตรวจสอบ วิเคราะห์ฐานะและการดำเนินงาน รวมถึงการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงิน และกำหนดสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงขั้นต่ำของสถาบันการเงินตามมาตรฐานสากล เพื่อให้มั่นใจว่าสถาบันการเงินมีความแข็งแกร่งของเงินกองทุนเพียงพอ และมีการตั้งสำรองเพื่อรองรับความเสี่ยงอย่างเหมาะสมกับสภาวะและแนวโน้มของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ธปท. ยังมีหน้าที่กำหนดนโยบายและออกเกณฑ์เพื่อดูแลให้สถาบันการเงินและระบบการชำระเงินมีความมั่นคง และ ธปท. ก็ยังมีบทบาทในการช่วยส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพในระบบสถาบันการเงินเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันที่จะเพิ่มขึ้นจากการเปิดเสรีทางการเงินในอนาคต พร้อมทั้งสนับสนุนให้สถาบันการเงินมีธรรมาภิบาลที่ดีเพื่อความโปร่งใส และดูแลให้การดำเนินงานของสถาบันการเงินมีความเป็นธรรมต่อลูกค้าและประชาชนด้วย
ธปท. ได้มีการจัดทำแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาให้ระบบสถาบันการเงินไทยสามารถปรับตัวให้มีความเข้มแข็ง ให้บริการได้อย่าง มีประสิทธิภาพและทั่วถึง โดยในปัจจุบันได้ดำเนินมาถึงช่วงท้ายของแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (ระยะที่สอง) (2553-2557) สิ่งธปท. ที่กำลังมุ่งดำเนินการอยูในขั้นตอนนี้ คือการเพิ่มการแข่งขันและประสิทธิภาพให้ระบบ ซึ่งในระยะต่อไปจะมีการสนับสนุนให้สถาบันการเงินรายใหม่เข้ามาให้บริการมากขึ้นด้วย
นอกจากนั้น ธปท. ก็ยังทำหน้าที่เป็นนายธนาคารของรัฐบาลในการรับจ่ายเงินเพื่อบัญชีเงินฝากของกระทรวงการคลัง รวมถึงการเก็บรักษาเงิน หรือ หลักทรัพย์อย่างอื่นให้กับรัฐบาล และยังทำหน้าที่เป็นนายธนาคารให้กับสถาบันการเงินต่าง ๆ ซึ่งในกรณีที่สถาบันการเงินประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ธปท. ก็มีอำนาจหน้าที่ในการให้กู้ยืมเงินหรือให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันการเงินด้วย
สำหรับทิศทางการดำเนินงานในระยะต่อไป ธปท. ได้จัดทำ แผนยุทธศาสตร์ เพื่อเป็นกรอบทิศทางการทำงานของ ธปท. ในระยะ 5 ปี ข้างหน้าภายใต้เป้าหมายที่จะร่วมพาประเทศสู้ความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของไทย โดยมุ่งสร้างความสมดุลให้ระบบเศรษฐกิจการเงินไทยมีเสถียรภาพ พร้อมกับมีพัฒนาการและการเติบโตอย่างทั่วถึง และเป็นธรรมมากขึ้น เพื่อรองรับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจการเงิน ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อนขึ้น
แผนยุทธศาสตร์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน (ปี 2555-2559) ได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์คือ เป็นองค์กรที่มองไกล มีหลักการ และร่วมมือ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของไทย และกำหนดค่านิยมร่วมคือ “ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ ติดดิน”
โดยมีพันธกิจคือ “มุ่งเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจการเงินที่มีเสถียรภาพ และมีพัฒนาการอย่างยั่งยืนและทั่วถึง” ซึ่งทาง ธปท. ได้แบ่งพันธกิจหลักขององค์กรออกเป็น 5 ด้านด้วยกัน ซึ่งได้แก่
1. เสถียรภาพราคา 2. เสถียรภาพระบบการเงิน 3. เสถียรภาพระบบชำระเงิน 4. ความเป็นเลิศทางด้านธนบัตร 5. คุ้มครองผู้บริโภคทางการเงิน
นอกจากนี้ ธปท. ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของข้อมูลเศรษฐกิจการเงินอย่างครบถ้วน รอบด้าน ทันต่อเหตุการณ์ และเชื่อถือได้ เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบสถานการณ์ทางเศรษฐกิจตามความเป็นจริง โดยมีการรายงานข้อมูลและดัชนีชี้วัดที่สำคัญทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงอธิบายถึงสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงในแต่ละส่วนพร้อมทั้งประเมินภาพแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะต่อไปอยู่เป็นประจำ
สำหรับการสื่อสารในเรื่องของนโยบายการเงิน ธปท. มีการเผยแพร่ผลการตัดสินนโยบายการเงินหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินแต่ละครั้งให้สาธารณชนได้รับรู้ โดยจะเปิดเผยถึงเหตุผลของการตัดสินใจคงหรือปรับเพิ่ม/ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ข้อมูลที่ใช้ประกอบการตัดสินใจ พร้อมทั้งให้มุมมองแนวโน้มเศรษฐกิจของ ธปท. และตอบข้อซักถามของสื่อมวลชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับมุมมองของ ธปท. ในประเด็นต่าง ๆ
นอกจากนี้ ธปท. ยังมีการเผยแพร่บทวิเคราะห์แนวโน้มทางเศรษฐกิจและใช้เป็นสมมติฐานในการจัดทำประมาณการเศรษฐกิจประกอบการตัดสินนโยบายการเงิน ซึ่งจะช่วยให้ภาคเอกชนสามารถวางแผนและตัดสินใจทางธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจและแนวทางการดำเนินโยบายการเงินของ ธปท.
ตลอดช่วงเวลาอันยาวนานกว่า 70 ปี นับตั้งแต่ ธปท. เริ่มเปิดดำเนินงานในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2485 เป็นต้นมา ผู้ว่าการจากอดีตจนถึงปัจจุบัน มีจำนวนทั้งสิ้น 22 ท่าน โดยผู้ว่าการ ธปท. คนปัจจุบันได้แก่ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ซึ่งเข้าดำรงตำแห่งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 นอกจากผู้ว่าการซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของ ธปท. แล้ว ในทำเนียบผู้บริหาร ยังประกอบไปด้วยรองผู้ว่าการ 3 ท่าน และผู้ช่วยผู้ว่าการอีก 10 ท่าน ซึ่งทำหน้าที่บริหารส่วนงานต่าง ๆ ของ ธปท. สำหรับนโยบายและการดำเนินงานด้านต่าง ๆ นั้นจะกำหนดโดย คณะกรรมการ ที่มีอยู่หลายคณะอย่างเช่น คณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน เป็นต้น โดยมีคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยทำหน้าที่กำหนดนโยบายในภาพรวมของ ธปท.