ธนบัตร
ธนบัตรที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ สื่อกลางที่ใช้ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ ซึ่งเราสามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย และเราทุกคนต่างรู้จักคุ้นเคยกับการใช้ธนบัตรเพื่อการจับจ่ายใช้สอยกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ถึงแม้ในปัจจุบันความจำเป็นในการใช้ธนบัตรอาจจะลดน้อยลงจากในอดีต เพราะคนหันมาใช้บัตรเครดิต บัตรเดบิต กันมากขึ้นตามการพัฒนาระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่การชำระเงินด้วยธนบัตรก็ยังคงมีบทบาทที่สำคัญมากต่อระบบเศรษฐกิจอยู่ดี
การจะมีธนบัตรที่อยู่ในสภาพดีในปริมาณที่เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายได้นั้น จำเป็นต้องมีหน่วยงานหนึ่งที่ทำหน้าที่ดูแลกระบวนการผลิต และบริหารจัดการธนบัตรที่หมุนเวียนในระบบการเงิน ซึ่งหน่วยงานนี้ก็คือ สายออกบัตรธนาคาร ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นั่นเอง
ในการกำหนดปริมาณธนบัตรที่จะจัดพิมพ์เพื่อออกใช้ในปีหนึ่ง ๆ นั้น ธปท. จะพิจารณาให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ และความต้องการใช้ธนบัตรชนิดราคาต่าง ๆ ของประชาชน โดยในการที่จะสร้างความเชื่อมั่นในมูลค่าของธนบัตรที่พิมพ์ออกใช้หมุนเวียนในระบบการเงินนั้น ธปท. ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตาม พระราชบัญญัติเงินตรา พุทธศักราช ๒๕๐๑ ที่กำหนดให้มี ทุนสำรองเงินตรา หนุนหลังเต็มจำนวนมูลค่าธนบัตรที่นำออกใช้เสมอ สินทรัพย์เป็นทุนสำรองเงินตรา ได้แก่ ทองคำ เงินตราต่างประเทศบางสกุล หลักทรัพย์ต่างประเทศ และสินทรัพย์อื่นๆ ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย โดย ธปท. จะต้องรักษาและกันทุนสำรองเงินตรานี้ไว้ต่างหากจากทรัพย์สินอื่น ๆ อันจะถือเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีการนำธนบัตรออกใช้หมุนเวียนเกินกว่ามูลค่าสินทรัพย์ของทุนสำรองเงินตราที่มีอยู่
หน่วยงานหลักของสายออกบัตรธนาคาร
1)
โรงพิมพ์ธนบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีหน้าที่พิมพ์ธนบัตรและสิ่งพิมพ์อื่นตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดอย่างเช่นอากรแสตมป์ แสตมป์สรรพสามิต และดวงตราไปรษณียากร
2)
ฝ่ายบริหารจัดการธนบัตร ซึ่งมี
ศูนย์จัดการธนบัตร ทั้งหมด 10 แห่ง กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ทำหน้าที่ดูแลธนบัตรที่หมุนเวียนในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมกับการใช้งาน
3) ฝ่ายวิจัยออกบัตรธนาคาร มีหน้าที่กำหนดทิศทางงานวิจัยที่ครอบคลุมการผลิตและบริหารจัดการธนบัตร ทำโครงการวิจัย และให้คำปรึกษาทางวิชาการและเทคนิค
4) ฝ่ายกลยุทธ์และวางแผนธนบัตร มีหน้าที่วางแผนกลยุทธ์ ดูแลงบประมาณประจำปี และงานอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนให้การดำเนินงานของสายออกบัตรธนาคารบรรลุวัตถุประสงค์
5) ฝ่ายการบัญชีและพัสดุ มีหน้าที่บริหารงานพัสดุเพื่อสนับสนุนงานด้านธนบัตร และพัฒนาข้อมูลระบบทางบัญชีการเงิน
6) ฝ่ายบริหารและพัฒนาบุคคล มีหน้าที่กำกับ ดูแล และบริหารงานทรัพยากรบุคคลด้านต่าง ๆ ให้สอดคล้องตามนโยบายการบริหารงานทรัพยากรบุคคลของธนาคาร
นับตั้งแต่ที่ประเทศไทยเริ่มมีการนำธนบัตรออกใช้ในปี 2445 เป็นต้นมา มีธนบัตรแบบต่าง ๆ ที่ได้นำออกใช้แล้วทั้งสิ้น 16 แบบ โดยธนบัตรที่ใช้หมุนเวียนอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ ธนบัตรแบบ 15 ชนิดราคา 20 บาท 50 บาท 100 บาท 500 บาท และ 1000 บาท แบบ 16 ชนิดราคา 20 บาท 50 บาท 100 บาท 500 บาท และ 1000 บาท นอกจากนี้ยังมีการพิมพ์ธนบัตรที่ระลึกเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองที่สำคัญอีกด้วย
ในกระบวนการออกแบบและพิมพ์ธนบัตรนั้น นอกจากจะต้องคำนึงถึงความสวยงามน่าใช้ ขนาดที่เหมาะสม และเน้นเอกลักษณ์ความเป็นไทยแล้ว คุณสมบัติที่สำคัญมากที่สุดประการหนึ่งคือการกำหนดลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงที่นำมาใช้ในการพิมพ์ธนบัตร อย่างเช่นการใช้กระดาษที่มีลายน้ำ แถบสีโลหะ และเส้นใยเรืองแสง รวมถึงการใช้หมึกพิมพ์
การพิมพ์ธนบัตรปลอมถือเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงซึ่งมีโทษสูงสุดถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต เพราะการมีธนบัตรปลอมปะปนอยู่ในระบบการเงินจะทำให้ประชาชนเกิดความไม่ไว้วางใจในธนบัตรของรัฐบาลและส่งผลประทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศอีกด้วย ดังนั้น ธปท. จึงได้มุ่งมั่นพัฒนาและนำเทคโนโลยีต่อต้านการปลอมแปลงใหม่ ๆ มาใช้กับธนบัตร พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการสังเกตธนบัตร กระตุ้นเตือนให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการสังเกตธนบัตรทุกครั้งที่มีการรับธนบัตรหมุนเวียนเปลี่ยนมือ และในขณะเดียวกันก็ดำเนินนโยบายบริหารจัดการให้ธนบัตรที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมีสภาพเหมาะสมกับการใช้งาน ธนบัตรที่มีสภาพดีและสะอาดนั้นนอกจากจะทำให้ผู้ใช้งานมีความพึงพอใจแล้วยังทำให้สามารถสังเกตลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงได้โดยง่าย เพราะหัวใจสำคัญในการตัดตอนวงจรการแพร่กระจายของธนบัตรปลอม ก็คือความสามารถในการตรวจสอบธนบัตรปลอมของประชาชนนั่นเอง
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับธนบัตร
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับธนบัตรที่ประชาชนควรทราบ ได้แก่:
1. ประชาชนสามารถที่จะเรียนรู้ วิธีตรวจสอบธนบัตร ได้ด้วยวิธีง่าย ๆ 3 วิธี อันได้แก่การ สัมผัส ยกส่อง และพลิกเอียง โดยสามารถขอเอกสารแนะนำวิธีสังเกตธนบัตรได้จาก แผนกวิเทศสัมพันธ์และประชาสัมพันธ์ ฝ่ายกลยุทธ์และวางแผนธนบัตร สายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย โทร. 0 2356 8687 ถึง 8690
2.
ธนบัตรปลอม ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ไม่สามารถนำมาใช้จ่ายหรือแลกเปลี่ยนได้ การนำธนบัตรปลอมไปใช้นั้น ผู้ใช้จะมีความผิดตามกฎหมาย ดังนั้นผู้ที่ได้รับธนบัตรปลอม ควรแยกธนบัตรปลอมออกจากธนบัตรจริงและเขียนหรือประทับตราว่าเป็นธนบัตรปลอม และนำไปมอบให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือธนาคารแห่งประเทศไทย
3. การพิมพ์ธนบัตรปลอมมีโทษสูงสุดถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต และทางการมีรางวัลนำจับธนบัตรปลอมไม่เกิน 100,000 บาทให้กับผู้ที่แจ้งเบาะแสแหล่งผลิตหรือแหล่งจำหน่ายธนบัตรปลอมจนนำไปสู่การสืบสวนจับกุมตัวผู้กระทำความผิด
4.
ธนบัตรชำรุดไม่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย แต่อาจจะสามารถแลกเปลี่ยนเป็นธนบัตรใหม่ได้หากลักษณะการชำรุด อยู่ในเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยสามารถขอแลกได้ที่ธนาคารออมสินทั่วประเทศทุกวันทำการ และธนาคารพาณิชย์ทั่วประเทศ (ยกเว้นสาขาย่อยและสาขาในห้างสรรพสินค้า) ทุกวันพุธ โดยสามารถสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับธนบัตรชำรุดได้ที่ แผนกตรวจพิสูจน์ธนบัตร สายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย โทร 0 2356 8735 ถึง 8737
5. ธนบัตรเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ประสงค์นำภาพธนบัตรไปใช้เพื่อเผยแพร่ในทุกรูปแบบ ต้องทำหนังสือขออนุญาต พร้อมส่งตัวอย่างรูปแบบชิ้นงานให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาความเหมาะสม ก่อนนำออกเผยแพร่หรือแจกจ่าย ผู้ที่นำภาพธนบัตรไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือพิมพ์ภาพเลียนแบบธนบัตรถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และมีความผิดตามกฎหมายด้วย
6. การนำภาพธนบัตรไปใช้ในสื่อโฆษณาควรคำนึงถึงความเหมาะสมของการวางตำแหน่งภาพมิให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้
- เป็นภาพธนบัตรเพียงบางส่วน ไม่เต็มฉบับ หรือ
- เป็นภาพธนบัตรในมุมอื่นที่ไม่ใช่ภาพธนบัตรหน้าตรง และ
- เป็นภาพธนบัตรขาวดำ
- หากเป็นภาพธนบัตรหน้าตรงหรือรูปสีต้องมีขนาดเล็กหรือใหญ่กว่าธนบัตรรัฐบาลอย่างเห็นได้ชัด
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการนำภาพธนบัตรไปใช้สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2356 8689 ถึง 90
7. ในการที่จะช่วยยืดอายุธนบัตร ลดปริมาณการพิมพ์ธนบัตรใหม่ และประหยัดงบประมาณของประเทศนั้น ไม่ควรขยำ พับกรีด ขีดเขียน ประทับตรา เย็บ ธนบัตรหรือนำไปประดิษฐ์เพื่อใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ
มาตรฐานธนบัตรไทย
ด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง สายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงได้รับรางวัลและการรับรองจากหน่วยงานต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ ยกตัวอย่างเช่น
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ด้านการบริหารการจัดการพลังงานดีเด่นในอาคารขนาดใหญ่ ในการประกวดรางวัล Asean Energy Awards 2013
- ใบประกาศนียบัตรผลงานที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ Thailand Kaizen Award ปี 2013
- รางวัลสถานประกอบกิจการดีเด่นด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานประจำปี 2555
- รางวัลธนบัตรสวยงามที่สุดในโลกประจำปี 2004
- ได้รับการรับรองมาตรฐานด้านคุณภาพ ISO 9001 ด้านสิ่งแวดล้อม ISO 14001 ด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย TIS/OHSAS 18001 และด้านการจัดการแบบบูรณาการ IMS โดยสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ
- รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class : TQC) ประจำปี 2557
- ได้รับการรับรองมาตรฐานด้านคุณภาพ ISO 9001 : 2015 ด้านสิ่งแวดล้อม ISO 14001 : 2015 ด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย TIS 18001 : 2554 / BS OHSAS 18001 : 2007 และด้านการจัดการแบบบูรณาการ IMS โดยสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ
- รางวัล The Best Regional Banknote of the Year 2015 และรางวัลธนบัตรสวยงามที่สุดในโลกประจำปี 2004
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ด้านการบริหารการจัดการพลังงานดีเด่นในอาคารขนาดใหญ่ ในการประกวดรางวัล Asean Energy Awards 2013 และรางวัลชนะเลิศประเภทอาคารควบคุมดีเด่น ในการประกวดรางวัล Thailand Energy Award 2013
- รางวัลสถานประกอบกิจการต้นแบบดีเด่นด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 6 ปี และรางวัลกิจกรรมการรณรงค์ลดสถิติอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ ( Zero Accident Campaign) ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี
- รางวัล Thailand Kaizen Award ระดับ Gold, Silver และ Bronze
“ธนบัตรคือสื่อกลางที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการจับจ่ายเพื่อซื้อหาปัจจัยดำรงชีพและความสะดวกสบายอื่น ๆ ซึ่งทำหน้าที่เสมือนน้ำมันหล่อลื่นของระบบเศรษฐกิจ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยมีหน้าที่จะต้องผลิตธนบัตรออกมาให้เพียงพอกับความต้องการใช้จ่ายของประชาชน และดูแลบริหารจัดการให้ธนบัตรที่หมุนเวียนในระบบอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์พร้อมใช้งานได้”