พันธบัตร
ในการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและบริหารจัดการให้การดำเนินนโยบายการเงินมีประสิทธิภาพ ธนาคารแห่งประเทศไทยมีหน้าที่ดูแลอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงินให้อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินกำหนด โดยอาศัยกลไกของ การดำเนินการผ่านตลาดการเงิน (Open Market Operations หรือ OMOs) ซึ่งเป็นหนึ่งใน เครื่องมือการดำเนินนโยบายการเงิน ทั้งนี้ การดำเนินการผ่านตลาดการเงินจะประกอบไปด้วยเครื่องมือหลักดังต่อไปนี้
- การทำธุรกรรมซื้อคืน/ขายคืนพันธบัตรแบบทวิภาคี (Bilateral Repurchase Operations)
- การออกพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand Bond Issuance)
- การทำธุรกรรมสวอปเงินตราต่างประเทศ (Foreign Exchange Swap)
- การทำธุรกิจซื้อขาด/ขายขาดหลักทรัพย์ (Outright sale/purchase of securities)
การออกพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยนอกจากจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือซึ่งช่วยเพิ่มความคล่องตัวและประสิทธิภาพในการบริหารสภาพคล่องในตลาดเงินแล้ว ยังมีความเชื่อมโยงกับการดูแลค่าเงินบาทของธปท. ด้วย เพราะเมื่อธปท. เข้าซื้อเงินตราต่างประเทศเพื่อดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทผันผวนมากเกินไป ก็จะส่งผลให้เงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นและในขณะเดียวกันก็เท่ากับเป็นการปล่อยเงินบาทในปริมาณที่เท่ากันเพิ่มเข้าไปในระบบการเงินของประเทศด้วย ดังนั้นเพื่อดูแลไม่ให้ปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้นจนส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินและอัตราเงินเฟ้อของประเทศ ธปท. ในฐานะธนาคารกลางจึงจำเป็นต้องออกพันธบัตรธปท. เพื่อดูดซับสภาพคล่องเงินบาทที่เพิ่มขึ้นจากการแทรกแซงค่าเงินบาทออกจากระบบการเงิน (Sterilization) ด้วยภาระการดูแลค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาทำให้ธปท. จำเป็นต้องออกพันธบัตรธปท. จำนวนมหาศาลเพื่อดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบการเงิน
นอกจากนี้ ธปท. ยังทำหน้าที่กำกับดูแล และจัดจำหน่ายตราสารหนี้ภาครัฐในตลาดแรก รวมถึงเป็นนายทะเบียนและตัวแทนการจ่ายดอกเบี้ย และไถ่ถอนต้นเงินตราสารหนี้ พร้อมทั้งพัฒนา อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นตลาดกรุงเทพ (BIBOR) และพัฒนาตลาดซื้อคืนภาคเอกชน (Private Bilateral Repo) เพื่อสร้างตลาดเงินในประเทศให้มีความกว้างและความลึกยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นยังร่วมพัฒนาตลาดตราสารหนี้ กับกระทรวงการคลังหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น พัฒนาการออกตราสารหนี้ภาครัฐในตลาดแรก เพิ่มสภาพคล่องและประสิทธิภาพของตลาดรอง และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกระบวนการส่งมอบและชําระราคาตราสารหนี้อีกด้วย
ตราสารหนี้ภาครัฐส่วนใหญ่จะเปิดจำหน่ายให้กับสถาบันการเงินโดยผ่านการประมูลตราสารหนี้ด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) ซึ่งจะมีการแจ้งกำหนดการประมูล และ ข้อมูลตราสารหนี้ ไว้ล่วงหน้า แต่เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐซึ่งมีความเสี่ยงต่ำในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับที่ต่ำมาก จึงได้มีการเปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ให้กับประชาชนเป็นครั้งคราวตามโอกาสที่เหมาะสม ซึ่งได้แก่ พันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง และ พันธบัตรออมทรัพย์ธนาคารแห่งประเทศไทย