กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฯ) มีฐานะทั้งเป็นส่วนหนึ่งและเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากธนาคารแห่งประเทศไทยที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2528 สำหรับใช้เป็นช่องทางในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันการเงินที่ประสบปัญหา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงหรือลุกลามจนส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินโดยรวม กองทุนฯ มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันการเงินที่ประสบปัญหาให้ช่วงวิกฤติการเงินปี 2540 นอกเหนือไปจากภาระหน้าที่ในการค้ำประกันการชำระคืนเงินฝากและเงินกู้ให้แก่ผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ของสถาบันการเงินเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจและรักษาความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินของประเทศ เนื่องจากมีสถาบันการเงินที่ต้องปิดกิจการไปเป็นจำนวนมากในช่วงวิกฤติปี 2540 ในขณะที่กองทุนฯ ต้องให้ความช่วยเหลือแก้ไขฐานะทางการเงินของสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาและค้ำประกันทั้งเงินฝากและหนี้ของสถาบันการเงินทุกแห่ง จึงทำให้กองทุนฯ เกิดความเสียหายที่มีมูลค่ารวมถึงกว่า 1.4 ล้านล้านบาท
หลังจากวิกฤติการเงินในปี 2540 คลี่คลายกองทุนฯ ได้มีการปรับลดบทบาทลงอย่างต่อเนื่อง โดยภารกิจของกองทุนฯ ในปัจจุบันคงเหลือเพียงการบริหารสินทรัพย์ของกองทุนฯ เท่านั้น โดย ณ วันที่ 30 กันยายน 2555 กองทุนฯ มีสินทรัพย์รวม 165,564 ล้านบาท ในขณะที่มีภาระหนี้สินรวม 68 ล้านบาท
ในช่วงแรก กองทุนฯ ใช้วิธีการกู้ยืมเงินจากตลาดเงินในการดำเนินการ แต่ด้วยภาระทางการเงินที่สูงมากไม่เหมาะที่จะอาศัยเม็ดเงินจากตลาดเงินระยะสั้น ในเวลาต่อมาทางรัฐบาลจึงได้ตรากฎหมายขึ้นมาเพื่อให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินในรูปของการออกพันธบัตรเพื่อปรับโครงสร้างและจัดระบบการบริหารจัดการภาระหนี้จำนวนมากของกองทุนฯ ขึ้นมาแทน โดยกระทรวงการคลังจะรับภาระการชำระดอกเบี้ยของพันธบัตร ในขณะที่ ธปท. จะชำระคืนต้นเงินกู้เมื่อการดำเนินงานของธปท. มีผลกำไร หรือมีสินทรัพย์คงเหลือในบัญชีผลประโยชน์ประจำปี แต่เนื่องจาก ธปท. เป็นองค์กรที่ดำเนินงานโดยไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อการแสวงกำไร และมีพันธกิจที่มุ่งเน้นในด้านของการดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินและเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลัก ดังนั้น การดำเนินงานของธปท. กว่า 15 ปีที่ผ่านมาหลังวิกฤติจึงไม่ได้มีผลกำไรมากพอที่ไปชำระคืนต้นเงินได้ทั้งหมดและยอดเงินกู้ได้ลดลงเพียงประมาณ 3 แสนกว่าล้านบาทเท่านั้น
จากการที่รัฐบาลมีภาระทางการคลังในการใช้จ่ายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และลงทุนในโครงการพัฒนาศักยภาพของประเทศอยู่ในระดับที่สูง ดังนั้น เพื่อเปิดโอกาสให้รัฐบาลสามารถนำเงินงบประมาณที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตรตามโครงการ จัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนฯ ไปใช้เพื่อการฟื้นฟูประเทศและลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ทางรัฐบาลจึงได้มีการตราพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนฯ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 มกราคม 2555 โดยกำหนดให้กองทุนฯ รับภาระในการการชำระคืนทั้งต้นเงินกู้และการชำระดอกเบี้ยของพันธบัตรในโครงการ ซึ่งนอกเหนือจากกำไรสุทธิของ ธปท. สินทรัพย์คงเหลือในบัญชีผลประโยชน์ประจำปีตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา และเงินหรือทรัพย์สินของกองทุนฯ แล้ว ยังเปิดโอกาสให้กองทุนฯ เรียกเงินนำส่งจากสถาบันการเงินซึ่งในปัจจุบันกำหนดไว้ที่อัตราร้อยละ 0.46 ต่อปีจากยอดเงินฝากถัวเฉลี่ยของบัญชีที่ได้รับการคุ้มครองและยอดเงินที่ได้รับจากประชาชนเข้าบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนฯ (บัญชีสะสมฯ) ได้ด้วย ซึ่งตามประมาณการเบื้องต้นต้องใช้เวลาประมาณ 25 ปีจึงจะชำระเสร็จสิ้น
ในส่วนของเงินนำส่งจากสถาบันการเงินนั้น ในปัจจุบัน ธปท. ได้กำหนดไว้ที่อัตราร้อยละ 0.46 ต่อปีจากยอดเงินฝากถัวเฉลี่ยของบัญชีที่ได้รับการคุ้มครองและยอดเงินที่ได้รับจากประชาชนปีละ 2 งวด
เมื่อสิ้นปี 2556 ภาระหนี้คงค้างของพันธบัตรเพื่อช่วยเหลือกองทุนฯ อยู่ที่ 1.107 ล้านล้านบาท ลดลงจากยอดคงค้างเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2555 ซึ่งอยู่ที่ 1.138 ล้านล้านบาท
กองทุนฯ บริหารงานโดยคณะกรรมการจัดการกองทุน ซึ่งประกอบด้วย ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นประธาน และปลัดกระทรวงการคลังเป็นรองประธานโดยตำแหน่ง และมีกรรมการอื่นแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 9 คน ปัจจุบันคณะกรรมการจัดการกองทุนมีกรรมการทั้งสิ้น 11 คน ประกอบด้วย ผู้แทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย 4 คน กระทรวงการคลัง 3 คน สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกแห่งละ 1 คน โดยมีผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายจัดการกองทุน ธนาคารแห่งประเทศไทย ดำรงตำแหน่งกรรมการจัดการกองทุน เลขานุการคณะกรรมการจัดการกองทุน และผู้จัดการกองทุนด้วย ทั้งนี้คณะกรรมการจัดการกองทุนจะมีการประชุมกันเดือนละหนึ่งครั้ง
วิสัยทัศน์: สนับสนุนและส่งเสริมความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน รวมทั้งบริหารจัดการหนี้อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างเสถียรภาพต่อระบบการเงินการคลังของประเทศ