ตลาดการเงิน
ตลาดเงินและพันธบัตร
ในการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและบริหารจัดการให้การดำเนินนโยบายการเงินมีประสิทธิภาพ ธนาคารแห่งประเทศไทยมีหน้าที่ดูแลอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงินให้อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินกำหนด โดยอาศัยกลไกของ การดำเนินการผ่านตลาดการเงิน (Open Market Operations) ซึ่งเป็นหนึ่งใน เครื่องมือการดำเนินนโยบายการเงิน ทั้งนี้ การดำเนินการผ่านตลาดการเงินจะประกอบไปด้วยเครื่องมือหลักดังต่อไปนี้
- การทำธุรกรรมซื้อคืน/ขายคืนพันธบัตรแบบทวิภาคี (Bilateral Repurchase Operations)
- การออกพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand Bond Issuance)
- การทำธุรกรรมสวอปเงินตราต่างประเทศ (Foreign Exchange Swap)
- การทำธุรกิจซื้อขาด/ขายขาดหลักทรัพย์ (Outright sale/purchase of securities)
การออกพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยนอกจากจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือซึ่งช่วยเพิ่มความคล่องตัวและประสิทธิภาพในการบริหารสภาพคล่องในตลาดเงินแล้ว ยังมีความเชื่อมโยงกับการดูแลค่าเงินบาทของธปท. ด้วย เพราะเมื่อธปท. เข้าซื้อเงินตราต่างประเทศเพื่อดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทผันผวนมากเกินไป ก็จะส่งผลให้เงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นและในขณะเดียวกันก็เท่ากับเป็นการปล่อยเงินบาทในปริมาณที่เท่ากันเพิ่มเข้าไปในระบบการเงินของประเทศด้วย ดังนั้นเพื่อดูแลไม่ให้ปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้นจนส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินและอัตราเงินเฟ้อของประเทศ ธปท. ในฐานะธนาคารกลางจึงจำเป็นต้องออกพันธบัตรธปท. เพื่อดูดซับสภาพคล่องเงินบาทที่เพิ่มขึ้นจากการแทรกแซงค่าเงินบาทออกจากระบบการเงิน (Sterilization) ด้วยภาระการดูแลค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาทำให้ธปท. จำเป็นต้องออกพันธบัตรธปท. จำนวนมหาศาลเพื่อดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบการเงิน
นอกจากนี้ ธปท. ยังทำหน้าที่กำกับดูแล และจัดจำหน่ายตราสารหนี้ภาครัฐในตลาดแรก รวมถึงเป็นนายทะเบียนและตัวแทนการจ่ายดอกเบี้ย และไถ่ถอนต้นเงินตราสารหนี้ พร้อมทั้งพัฒนา อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นตลาดกรุงเทพ (BIBOR) และพัฒนาตลาดซื้อคืนภาคเอกชน (Private Bilateral Repo) เพื่อสร้างตลาดเงินในประเทศให้มีความกว้างและความลึกยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นยังร่วมพัฒนาตลาดตราสารหนี้ กับกระทรวงการคลังหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น พัฒนาการออกตราสารหนี้ภาครัฐในตลาดแรก เพิ่มสภาพคล่องและประสิทธิภาพของตลาดรอง และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกระบวนการส่งมอบและชําระราคาตราสารหนี้อีกด้วย
ตราสารหนี้ภาครัฐส่วนใหญ่จะเปิดจำหน่ายให้กับสถาบันการเงินโดยผ่านการประมูลตราสารหนี้ด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) ซึ่งจะมีการแจ้งกำหนดการประมูล และข้อมูลตราสารหนี้ ไว้ล่วงหน้า แต่เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีโอกาสได้ลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐซึ่งมีความเสี่ยงต่ำในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับที่ต่ำมาก จึงได้มีการเปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ให้กับประชาชนเป็นครั้งคราวตามโอกาสที่เหมาะสม ซึ่งประกอบด้วย พันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง และ พันธบัตรออมทรัพย์ธนาคารแห่งประเทศไทย
ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน
ในส่วนของการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ธปท. ได้ใช้ นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการบริหารจัดการ (Managed Float) ซึ่งจะเน้นให้ค่าเงินบาทสะท้อนสภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้น ๆ โดยปล่อยให้เคลื่อนไหวไปตามกลไกตลาดและไม่กำหนด อัตราแลกเปลี่ยน ตายตัวไว้ที่ค่าใดค่าหนึ่ง หรือผูกค่าเงินบาทไว้กับเงินตราต่างประเทศสกุลใดสกุลหนึ่ง
ภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจที่มีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกมากขึ้นเช่นในปัจจุบัน อัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มที่จะผันผวนมากขึ้น ภาคธุรกิจเอกชนจำเป็นต้องปรับตัวรับความผันผวนของค่าเงินที่เพิ่มขึ้นด้วยการเน้นบริหารความเสี่ยงและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของตัวเอง ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการภาคธุรกิจเอกชนสามารถป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ อย่างเช่น การซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า การทำธุรกรรม FX Swap ฯลฯ
นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาธปท. ยังมีนโยบายที่ชัดเจนในด้านของการผ่อนคลายกฎเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้นักลงทุนในประเทศออกไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะเป็นการสนับสนุนให้ธุรกิจและนักลงทุนไทยขยายกิจการและเครือข่ายการลงทุนไปยังต่างประเทศแล้ว ยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทอย่างเป็นธรรมชาติจากผลของกระแสเงินทุนไหลเข้าอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ค่าเงินบาทผันผวนมากเกินไปจนอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม หรือมีสัญญาณว่าเกิดการเก็งกำไรในค่าเงินบาท ธปท. ก็อาจจะเข้าไปดูแลความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเป็นครั้งคราวตามความจำเป็นของสถานการณ์ โดยจะพิจารณาจาก Nominal effective exchange rate (NEER) ซึ่งประกอบด้วยสกุลเงินของคู่ค้าและ คู่แข่งทางการค้าที่สำคัญ เป็นหลักไม่ใช่แค่ดอลลาร์สหรัฐฯ เพียงสกุลเดียว แต่ทั้งนี้การดูแลค่าเงินบาทของธปท. จะต้องไม่ฝืนปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ
ยิ่งไปกว่านั้น ธปท. ก็ยังมีการบังคับใช้ มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท ซึ่งอาจมีการปรับระดับความเข้มข้นให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงได้ด้วย
การที่ธปท. มีภาระในการดูแลความผันผวนของค่าเงินบาท ทำให้ เงินสำรองทางการของประเทศ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หน้าที่อีกประการหนึ่งของ ธปท. ก็คือ การบริหารเงินสำรองทางการโดยยึดหลักสำคัญสามประการคือ การรักษามูลค่าของเงินสำรองในรูปเงินตราต่างประเทศ (Security) ต้องมีสภาพคล่องเพียงพอ (Liquidity) และ สร้างผลตอบแทนที่สูงที่สุดภายใต้ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Return) เงินสำรองระหว่างประเทศของ ธปท. ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศที่มีความมั่นคง และมีความเสี่ยงต่ำ อย่างเช่น ทองคำ เงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศหรือสถาบันการเงินระหว่างประเทศ พันธบัตรรัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้วที่มีความน่าเชื่อถือสูง หลักทรัพย์ของประเทศที่มีความน่าเชื่อถือสูง และสิทธิพิเศษถอนเงินที่นำส่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)
ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับนักวิชาการ นักเรียน นักศึกษาเกี่ยวกับตลาดการเงิน
- เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
- การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและเงินบาท
- พฤติกรรมการทำ FX Hedging ของผู้ประกอบการไทยและความสัมพันธ์กับอัตราแลกเปลี่ยน (FAQ Issue 84)
- INTERNATIONAL SPILLOVERS ของการดำเนินและยุติมาตรการ QE (FAQ Issue 83)
- ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยทำให้ทุนนอกไหลเข้าไทยจริงหรือ? (FAQ Issue 78)
- ผู้ส่งออกไทยเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้านจากค่าเงินบาทแข็งมากน้อยแค่ไหน (บทความน่าสนใจ 31 พค 56)
- USD futures : ทางเลือกในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (บทความน่าสนใจ 10 มค 56)
- การให้ความช่วยเหลือของ ธปท. แก่ภาคเศรษฐกิจสำคัญ