กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ธนาคารแห่งประเทศไทยมีขอบข่ายของภารกิจและความรับผิดชอบที่ครอบคลุมอย่างกว้างขวาง ทั้งในด้านของการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ ระบบการเงิน ระบบการชำระเงิน การซื้อขายเงินตราต่างประเทศ รวมถึงการกำกับดูแลสถาบันการเงิน การจะทำหน้าที่ในแต่ละด้านให้เกิดประสิทธิผลนั้นจำเป็นต้องมีการตรากฎหมายพิเศษเฉพาะขึ้นมาเพื่อรองรับการปฏิบัติหน้าที่ในด้านต่างๆ ทั้งในส่วนที่อยู่ในความรับผิดชอบของธปท. โดยตรง และส่วนที่ธปท. เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ยกตัวอย่างเช่น
พ.ร.บ. ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งกำหนดวัตถุประสงค์ ขอบเขตการทำงาน และโครงสร้างของธปท. เพื่อให้การดำเนินงานของธปท. เป็นไปตามมาตรฐานสากลของธนาคารกลาง
พ.ร.บ. เงินตรา ซึ่งกำหนดบทบาทในส่วนของการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศ การรักษาไว้ซึ่งทุนสำรองเงินตราตามกฎหมาย เพื่อดำรงเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือของค่าเงินบาท ซึ่งรวมไปถึงการออกแบบ จัดพิมพ์ธนบัตร และบริหารจัดการธนบัตร เพื่อให้ประชาชนมีธนบัตรอยู่ในสภาพดีใช้อย่างเพียงพอ และเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ
พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ซึ่งกำหนดบทบาทในด้านของการดูแลการแลกเปลี่ยนเงินหรือการดำเนินการอื่นใดซึ่งมีเงินตราต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องในทุกรูปแบบ
พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน ซึ่งให้อำนาจธปท. ในการกำกับดูแลให้สถาบันการเงินมีความสามารถในการบริหารความเสี่ยง รวมถึงการกำหนดกฎเกณฑ์ที่จะกำกับให้กรรมการ ผู้บริหารและพนักงานของสถาบันการเงินปฏิบัติหน้าที่อย่างมีธรรมาภิบาล และไม่ให้เกิดความเสียหายกับเงินฝากของประชาชน
พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกำหนดให้ ธปท. เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการให้บริการ รวมถึงส่งเสริมการใช้บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งนอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในด้านของการจับส่วนใช้สอยส่วนบุคคลแล้ว ยังเป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของภาคธุรกิจและการให้บริการภาครัฐในอีกทางหนึ่งด้วย
นอกเหนือจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบโดยตรงของธปท. ดังที่ได้ระบุไว้ข้างต้นแล้ว ยังมีกฎหมายอีกบางฉบับที่ธปท. เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งได้แก่
พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเงินฝากของผู้ฝากเงินในสถาบันการเงิน โดยเรียกเก็บเงินจากสถาบันการเงินเข้ามาสะสมไว้ในกองทุนคุ้มครองเงินฝาก เพื่อจ่ายคืนผู้ฝากเงินในกรณีที่สถาบันการเงินประสบปัญหาและถูกเพิกถอนใบอนุญาต
พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต ซึ่งช่วยให้สถาบันการเงินสามารถเข้าถึงข้อมูลฐานะการเงินและประวัติการชำระหนี้ของลูกค้า เพื่อให้ทราบว่าลูกค้ามีภาระหนี้อยู่กับสถาบันการเงินอื่นมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะทำให้สถาบันการเงินสามารถประเมินความเสี่ยงทางการเงินของลูกค้าได้อย่างถูกต้องแม่นยำมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จากการปล่อยสินเชื่อใหม่ ยังช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้กับสถาบันการเงินและระบบสถาบันการเงินโดยรวม
พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย รองรับการจัดตั้งและการดำเนินงานของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ซึ่งทำหน้าที่บริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงิน ปรับโครงสร้างหนี้ ปรับโครงสร้างกิจการ เพื่อประโยชน์แก่การฟื้นฟูเศรษฐกิจหรือความมั่นคงของประเทศ
พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ซึ่งเปิดโอกาสให้กระทรวงการคลังสามารถกู้เงินโดยการออกพันธบัตรระดมทุนจากตลาดการเงินมาเพื่อสนับสนุนการดำเนินการของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือแก่สถาบันการเงินที่ประสบปัญหาในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจการเงินในประเทศในปีพ.ศ. 2540
พ.ร.ก. ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 ซึ่งกำหนดให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ รับผิดชอบการชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ยเงินกู้ ในส่วนที่เกี่ยวกับหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือการจัดการและฟื้นฟูสถาบันการเงิน ที่ประสบปัญหาวิกฤตทางการเงินเมื่อปี พ.ศ. 2540 และให้ ธปท. เป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงานของกองทุนดังกล่าว โดยยังคงหลักเกณฑ์และแหล่งเงินในการชำระคืนต้นเงินกู้ที่กำหนดไว้แต่เดิม พร้อมกับเพิ่มเติม การเรียกเก็บเงินจากสถาบันการเงินเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินการดังกล่าวด้วย
พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย พ.ศ. 2555 ซึ่งให้อำนาจกับธปท. ในการให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินเป็นการชั่วคราว เพื่อให้สถาบันการเงินนำไปปล่อยกู้ต่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากมหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นใน ปีพ.ศ. 2554 ที่มีความจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือทางการเงินเป็นพิเศษ ซึ่งมีส่วนในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศและสร้างเสถียรภาพให้แก่เศรษฐกิจโดยรวม
นอกจากนี้ ยังมีกฎเกณฑ์หรือมาตรการอื่นๆ ที่ออกโดยธปท. เองหรือโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากแหล่งข้อมูลต่อไปนี้
- ประกาศ/หนังสือเวียน ธปท.
- สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา
- สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
- สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
- คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต