นโยบายการเงิน
การพิจารณาตัดสินและดำเนินนโยบายการเงินถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชน ภาคธุรกิจและระบบเศรษฐกิจโดยรวมในวงกว้าง ดังนั้น การกำหนดทิศทางนโยบายการเงินของประเทศจึงต้องดำเนินการอย่างรอบคอบโดย คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. 3 ท่าน ได้แก่ ผู้ว่าการ ธปท. ดำรงตำแหน่งประธาน กนง. รองผู้ว่าการ ธปท. หนึ่งท่าน ดำรงตำแหน่งรองประธาน กนง. และรองผู้ว่าการ ธปท. อีกหนึ่งท่าน ดำรงตำแหน่งกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและผ่านกระบวนการคัดเลือกตามที่กฎหมายกำหนดไว้อีก 4 ท่าน
การตัดสินนโยบายการเงิน
กนง. จะมีการประชุมกันปีละ 6 ครั้ง โดยกำหนดตารางการประชุมไว้ล่วงหน้าหนึ่งปี และในการประชุมแต่ละครั้ง กนง. จะประเมินภาวะเศรษฐกิจและการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะมีผลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อและการขยายตัวทางเศรษฐกิจตลอดจนเสถียรภาพระบบการเงิน เพื่อพิจารณากำหนดแนวนโยบายการเงินที่เหมาะสม คณะเลขานุการ กนง. ซึ่งมีผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. สายนโยบายการเงิน เป็นเลขานุการ กนง. จะทำหน้าที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้ กนง. พิจารณา และกำหนดประมาณการแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ พร้อมทั้งตัดสินใจว่าจะปรับขึ้น/คง/ลด อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หรือเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างปัจจุบันทันด่วน ก็อาจจะมีการจัดประชุม กนง. นัดพิเศษขึ้นก่อนที่จะถึงรอบการประชุมที่กำหนดไว้ล่วงหน้าได้
การสื่อสารผลการประชุม กนง.
หลังการประชุมแต่ละครั้ง จะมีการเผยแพร่ผลการประชุม กนง. เวลา 14.00 น. และ เลขาฯ กนง. จะแถลงผลการประชุม ในเวลา 14.30 น. ของวันประชุม พร้อมทั้งตอบคำถามสื่อมวลชนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินนโยบายและการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจ เนื่องจากตลาดเงินและตลาดทุนมีความอ่อนไหวต่อผลการตัดสินนโยบายการเงินเป็นอย่างมาก ธปท. จึงได้กำหนดแนวทางการรายงานข่าวผลการประชุม โดยให้สื่อมวลชนเผยแพร่ผลการตัดสินนโยบายหลังจากการแถลงข่าวผลการประชุมจบลงแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้มีสื่อมวลชนแห่งใดรายงานข่าวผลการประชุมออกไปก่อน ซึ่งอาจทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในการตัดสินใจทางด้านธุรกิจและการลงทุนจากการได้รับข้อมูลไม่พร้อมกัน
หลังจากการประชุม กนง. ประมาณ 2 สัปดาห์ จะมีการเผยแพร่ รายงานการประชุม กนง. ฉบับย่อ บนเว็บไซต์ของ ธปท. โดยรายงานการประชุมจะอธิบายการประเมินภาพเศรษฐกิจและทัศนะของกรรมการที่มีผลต่อการตัดสินนโยบายการเงิน นอกจากนี้ ทุก ๆ ไตรมาส ธปท. ยังจัดทำรายงานนโยบายการเงิน เพื่อชี้แจงรายละเอียดในการประเมินภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงิน และสื่อสารมติของ กนง. ต่อนักลงทุนและสาธารณชนพร้อมทั้งอธิบายเหตุผลของการตัดสินนโยบายต่าง ๆ อีกด้วย
การกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงิน
การดำเนินนโยบายการเงินของ กนง. ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (Flexible Inflation Targeting) ให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับการดูแลการเติบโตทางเศรษฐกิจและการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน โดย กนง. จะพิจารณารักษาความสมดุลของเป้าหมายด้านต่าง ๆ อย่างเหมาะสม และมีความพร้อมที่จะใช้เครื่องมือในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีอยู่สนับสนุนให้ระดับราคามีเสถียรภาพและเป็นไปตามเป้าหมายและเศรษฐกิจของประเทศเติบโตเต็มศักยภาพและยั่งยืน โดยไม่ก่อให้เกิดความเปราะบางต่อเสถียรภาพระบบการเงิน
ทั้งนี้ ในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินประจำปี กนง. จะต้องทำความตกลงร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก่อนที่รัฐมนตรีจะนำเสนอเป้าหมายที่ตกลงร่วมกันต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ โดยในปัจจุบัน คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1-3 เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และสำหรับปี 2565 โดยอัตราเงินเฟ้อในช่วงดังกล่าวเป็นระดับที่เหมาะสมกับบริบทของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เนื่องจาก (1) แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าและในระยะปานกลางจะเคลื่อนไหวอยู่ใกล้เคียงกับขอบล่างของเป้าหมาย สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างช้า ๆ รวมถึงมีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะปรับเพิ่มขึ้นจากราคาพลังงาน การชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานและปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) (2) สามารถยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชนได้ดี โดยในปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินที่กำหนด (well-anchored) และ (3) เป้าหมายแบบช่วงที่มีความกว้างร้อยละ 2 เอื้อต่อการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้สถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ให้มีความยืดหยุ่นเพียงพอในการรักษาเสถียรภาพราคา การขยายตัวของเศรษฐกิจและเสถียรภาพระบบการเงิน
ช่องทางการส่งผ่านของนโยบายการเงิน
การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายส่งผลต่อเศรษฐกิจผ่าน 5 ช่องทางหลัก ได้แก่1) อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินและของสถาบันการเงิน 2) สินเชื่อ 3) ราคาสินทรัพย์ 4) อัตราแลกเปลี่ยน และ 5) การคาดการณ์ของประชาชน ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและระดับราคาสินค้าและบริการ แต่กระบวนการส่งผ่านดังกล่าวอาจใช้เวลาแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจการเงินในแต่ละช่วง แต่ผลการวิจัยที่ผ่านมา พบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว กระบวนการส่งผ่านที่สมบูรณ์ใช้เวลาประมาณ 6-8 ไตรมาส
"ในการดำเนินนโยบาย แบงก์ชาติไม่สามารถดำเนินการทุกอย่างได้เพียงลำพัง แต่จำเป็นต้องประสานนโยบายในเชิงเศรษฐกิจมหภาคกับหน่วยงานต่าง ๆ ให้สอดคล้องกัน เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของประเทศ" ดร. ป๋วย อึ้งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย