ระบบการชำระเงิน
ระบบการชำระเงินเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยสนับสนุนกิจกรรมทางการค้าและการเงิน เพื่อให้มีการส่งมอบเงินชำระราคาระหว่างกันได้อย่างคล่องตัว มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย ซึ่งจะช่วยหล่อลื่นกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลและรักษาเสถียรภาพระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยมีบทบาทที่สำคัญสามด้านคือ
1. การกำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการชำระเงิน ซึ่งได้แก่ การสนับสนุนให้ผู้ใช้บริการมีช่องทางชำระเงินที่สะดวกรวดเร็ว สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บริการในแต่ละกลุ่ม รวมถึงมีมาตรฐานและการเชื่อมโยงระหว่างผู้ให้บริการแต่ละราย ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ
2. การกำกับดูแลเพื่อให้บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์มีความมั่นคงปลอดภัย น่าเชื่อถือ และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล
3. การคุ้มครองและให้ความรู้แก่ผู้ใช้บริการ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจสิทธิและหน้าที่ของตัวเอง สามารถเลือกใช้บริการได้อย่างเหมาะสม และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้บริการในการใช้บริการชำระเงิน
การกำหนดนโยบายเกี่ยวกับระบบการชำระเงินของประเทศ รวมถึงระบบการหักบัญชีระหว่างสถาบันการเงิน ให้สอดคล้องกับพัฒนาการของภาคธุรกิจและพัฒนาการด้านเทคโนโลยีการชำระเงินเป็นหน้าที่ของ คณะกรรมการระบบการชำระเงิน (กรช.) ซึ่งมีผู้ว่าการธปท. เป็นประธาน
ธปท. ได้พัฒนาระบบการชำระเงินของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการนำระบบบาทเนตและระบบการหักบัญชีเช็คด้วยภาพเช็คและระบบการจัดเก็บภาพเช็ค (Imaged Cheque Clearing and Archive System: ICAS) ที่ทันสมัยมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการชำระเงิน
การส่งเสริมการพัฒนาระบบการชำระเงินของประเทศ ปัจจุบันอยู่ภายใต้แผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงินปี 2555-2559 โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญอยู่ที่การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการชำระเงิน การลดความเสี่ยงในระบบการชำระเงิน และการคุ้มครองและให้ความรู้แก่ผู้ใช้บริการ โดยจะมุ่งเน้นไปที่
- การส่งเสริมและพัฒนาการทำธุรกรรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ การส่งเสริมการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ทดแทนเงินสด (บัตรเดบิต Mobile payment/banking และ e-money) การจัดตั้ง Local Switching (เพื่อส่งเสริมการใช้บัตรเดบิตหรือ ATM ที่ออกใช้ในประเทศ) และมาตรฐานข้อความในการรับส่งข้อมูลการชำระเงิน
- การส่งเสริมการเข้าถึงบริการการชำระเงิน เช่นช่องทางโทรศัพท์มือถือ (Mobile payment)
- การเพิ่มความปลอดภัยในการใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในการใช้บริการบัตรเดบิต บัตรเอทีเอ็ม และบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์
- การเตรียมความพร้อมสำหรับ AEC เพื่อให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรองรับการชำระเงินกับประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจและประชาชนสามารถทำธุรกรรมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างประเทศ (Cross-Border Electronics Payments) เช่น Asian Payment Network ซึ่งเป็นเครือข่ายการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ภายในกลุ่มประเทศอาเซียน
- การลดความเสี่ยงจากการชำระดุล โดยกำหนดมาตรการบริหารความเสี่ยงจากการชำระดุลประเภทต่างๆ
- การคุ้มครองและให้ความรู้แก่ผู้ใช้บริการ เพื่อให้ประชาชนสามารถเลือกใช้บริการได้อย่างเหมาะสม และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้บริการในการใช้บริการชำระเงิน
ข้อมูลเกี่ยวกับระบบการชำระเงินที่น่าสนใจสำหรับสื่อมวลชน
- ธุรกรรมภาพรวมระบบการชำระเงิน
- คำนิยามด้านระบบการชำระเงิน
- รายชื่อผู้ประกอบธุรกิจชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment)
- ระบบการหักบัญชีเช็คด้วยภาพเช็ค (ICAS)
- ระบบบาทเนต
- ประกาศ/หนังสือเวียนระบบการชำระเงิน
- รายงานประจำปี
- กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- คำถาม-คำตอบระบบการชำระเงิน