“...ประชาคมใดที่เพิกเฉยต่อความงามและศิลปะ ประชาคมนั้นย่อมจะเจริญสมบูรณ์มิได้ และประชาคมใดที่เอาใจใส่บำรุงศิลปวิทยา ประชาคมนั้นย่อมประสบความเจริญ มิใช่แต่ในด้านศิลปะอย่างเดียว ย่อมเจริญในด้านความดี และความจริง อันเป็นองค์ประกอบแห่งสันติสุขแห่งมนุษย์...”
ป๋วย อึ้งภากรณ์ (2459-2542) อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้เสนอแนวคิดให้ธนาคารสนับสนุนศิลปินในการสร้างผลงาน ซึ่งต่อมา ธปท. ได้ทยอยสะสมผลงานศิลปกรรมของเหล่าศิลปินแห่งชาติและศิลปินที่มีชื่อเสียงเอาไว้ เนื่องจากเล็งเห็นถึงคุณค่าในเชิงสุนทรียศาสตร์ของงานศิลปะที่สร้างสรรค์คุณค่า อันนำไปสู่การพัฒนาทั้งในมิติของ ความงาม ความดี และความจริง ตามความข้างต้น
ดังนั้น เพื่อเปิดโอกาสให้สาธารณชนและอนุชนรุ่นหลังได้ร่วมเสพ ชื่นชม และศึกษาเรียนรู้ ผลงานศิลปะที่ทางธปท. ได้สะสมเอาไว้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายทศวรรษ พร้อมทั้งเพิ่มความรับรู้เกี่ยวกับ ธปท. ในฐานะองค์กรที่มีบทบาทในการพัฒนาวงการศิลปกรรมของประเทศซึ่งช่วยยกระดับความรู้และรสนิยมทางศิลปะให้แก่สังคมไทย ธปท. จึงได้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์หอศิลปกรรมเสมือนจริงในรูปแบบออนไลน์ (Virtual Arts Museum) โดยผู้สนใจสามารถชื่นชมผลงานศิลปะที่ ธปท. สะสมไว้ได้ผ่านทางเว็บไซต์ ของ ธปท.
งานศิลปะที่ ธปท. สะสมไว้มีทั้ง จิตรกรรม ประติมากรรม และผลงานทัศนศิลป์ประเภทอื่น ๆ ของศิลปินระดับแนวหน้าของประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เช่น ผลงานของ
- เฟื้อ หริพิทักษ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ พ.ศ. 2528
- อังคาร กัลยาณพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) พ.ศ. 2532
- สวัสดิ์ ตันติสุข ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2534
- ชลูด นิ่มเสมอ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) พ.ศ. 2541
- จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2543
- ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2544
- ประเทือง เอมเจริญ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2548
- ช่วง มูลพินิจ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2554
- เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2554
- กำจร สถิรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย