ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินที่เอื้อให้บุคคลทั่วไปรวมถึงประชาชนรายย่อยสามารถลงทุนต่างประเทศได้คล่องตัวขึ้นเพื่อให้คนไทยสามารถกระจายความเสี่ยงการลงทุนได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจยังมีคำถามเกี่ยวกับการลงทุนต่างประเทศในมิติต่าง ๆ ท่านสามารถหาคำตอบได้จากบทความนี้
ผู้ลงทุนรายย่อยที่สนใจลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น บอนด์ และผลิตภัณฑ์การลงทุนอื่น ๆ สามารถทำได้ในหลายช่องทาง โดยช่องทางที่น่าจะคุ้นเคยกันดีแล้ว น่าจะเป็นช่องทางการลงทุนผ่านผู้ให้บริการในไทย ซึ่งผู้ลงทุนสามารถไปลงทุนผ่าน (1) กองทุนรวม (2) กองทุนส่วนบุคคล หรือ (3) บริษัทหลักทรัพย์ไทย
การลงทุนผ่านกองทุนรวม ผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ตามนโยบายกองทุนที่สนใจ โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของดัชนีหลักทรัพย์ หรือกลุ่มตราสารที่มีลักษณะคล้ายกัน เช่น กองทุนรวมที่ลงทุนในดัชนีหุ้น S&P 500 หรือกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นเทคโนโลยี ซึ่งมีผู้จัดการกองทุนทำหน้าที่บริหารการลงทุนให้ กองทุนรวมมีจุดเด่นตรงที่มีเงินน้อยก็ลงทุนได้ ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์สูง และไม่ต้องกังวลเรื่องการเสียภาษี เพราะผู้จัดการกองทุนจะเป็นคนที่ดูแลให้ทั้งหมด โดยประเภทสินทรัพย์ที่กองทุนรวมลงทุนได้ คือ หุ้น บอนด์ หน่วยลงทุน เงินฝาก สัญญาอนุพันธ์
การลงทุนผ่านกองทุนส่วนบุคคล ผู้ลงทุนจะมีทางเลือกสินทรัพย์เพิ่มขึ้นและสามารถกำหนดนโยบายการลงทุนได้เอง โดยมีผู้จัดการกองทุนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญบริหารการลงทุนให้เช่นเดียวกับกองทุนรวม แต่กองทุนส่วนบุคคลอาจมีเงินลงทุนเริ่มต้นและค่าใช้จ่ายในการบริหารที่สูงกว่า ขณะที่การเสียภาษีเงินได้ขึ้นอยู่กับประเภทสินทรัพย์ที่ลงทุน เช่น หากลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศโดยตรงก็จะต้องนำมาคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากขายหลักทรัพย์และนำเงินกลับไทยในปีเดียวกัน ทั้งนี้ ประเภทสินทรัพย์ที่กองทุนส่วนบุคคลลงทุนได้ คือ หุ้น บอนด์ หน่วยลงทุน เงินฝาก สัญญาอนุพันธ์ ประกันชีวิตควบการลงทุน
การลงทุนผ่านบริษัทหลักทรัพย์ไทย (บล.) ผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนในหลักทรัพย์รายตัวที่สนใจได้ โดยส่วนใหญ่ผู้ลงทุนจะทำธุรกรรมได้เองผ่าน application หรือ website ของ บล. ซึ่งจะเหมาะกับผู้ลงทุนที่มีประสบการณ์ลงทุนอยู่แล้ว โดยมักมีค่าธรรมเนียมขั้นต่ำในการทำธุรกรรม และเงินลงทุนเริ่มต้นส่วนใหญ่ที่ 1 แสนบาท โดยหากขายหลักทรัพย์และนำเงินกลับไทยในปีเดียวกันจะต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ ประเภทสินทรัพย์ที่ลงทุนได้มี หุ้น บอนด์ หน่วยลงทุน เงินฝาก สัญญาอนุพันธ์ในตลาด Exchange
สำหรับอีกช่องทางที่ ธปท. เริ่มเปิดในปี 2563 ให้บุคคลรายย่อยไปลงทุนต่างประเทศได้เองผ่านผู้ให้บริการ/โบรกเกอร์ในต่างประเทศ ในวงเงินไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปี ผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนในหลักทรัพย์รายตัวที่สนใจได้เอง ช่องทางนี้เหมาะกับผู้ลงทุนที่มีประสบการณ์สูง โดยผู้ลงทุนควรเลือกผู้ให้บริการ/โบรกเกอร์ที่มีความน่าเชื่อถือ ลักษณะการเสียภาษีจะเหมือนกับช่องทางผ่าน บล. ไทย คือ หากขายหลักทรัพย์และนำเงินกลับไทยในปีเดียวกันจะต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ ประเภทสินทรัพย์ที่ลงทุนได้มี หุ้น บอนด์ หน่วยลงทุน เงินฝาก สัญญาอนุพันธ์ ประกันชีวิตควบการลงทุน สำหรับช่องทางนี้ ผู้ลงทุนต้องยื่นแบบแจ้งความประสงค์กับ ธปท. ก่อนการลงทุนเป็นรายปี โดยมีรายละเอียดตามหัวข้อถัดไป
สำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนต่างประเทศด้วยตนเอง โดยผ่านผู้ให้บริการในต่างประเทศ มีวิธีการทั้งหมด 6 ขั้นตอน (ขั้นที่ 5-6 เป็นทางเลือกของแต่ละผู้ลงทุน) ดังนี้
1. Registration: การยื่นแบบแจ้งความประสงค์การลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศ
1.1 กรณีเริ่มใช้งานครั้งแรก ผู้ลงทุนต้องลงทะเบียนรับ username และ password ผ่าน website ของ ธปท. ก่อน เพื่อใช้ login เข้าระบบยื่นแบบแจ้งความประสงค์การลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศตามขั้นตอนนี้ เอกสาร / คลิกเพื่อชมวีดีโอ 1.2 กรณีได้รับ username และ password แล้ว ผู้ลงทุนยื่นแบบแจ้งความประสงค์การลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศตาม ขั้นตอนนี้ เอกสาร / คลิกเพื่อชมวีดีโอ 2. FX Transaction: การแลก FX และโอนออกกับธนาคารพาณิชย์ทำได้โดยยื่นแบบรับทราบการแจ้งความประสงค์ที่ได้จาก ขั้นตอนที่ 1 ประกอบการทำธุรกรรม 3. Investment: การลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศกับผู้ให้บริการในต่างประเทศ 4. Report: การรายงานยอดคงค้างเงินลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศ ภายในปีที่โอนเงินไปลงทุนต่างประเทศผ่าน BOT website ตามขั้นตอนนี้ เอกสาร / คลิกเพื่อชมวีดีโอ 5. FX Hedging: ผู้ลงทุนรายย่อยสามารถเลือกทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงค่าเงินสำหรับเงินลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศกับ ธนาคารพาณิชย์ ได้ไม่เกินมูลค่าลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยใช้แบบรับทราบการแจ้งความประสงค์ที่ได้จากขั้นตอนที ประกอบการทำธุรกรรม 6. Repatriation: ผู้ลงทุนสามารถโอนเงินลงทุนกลับเข้าประเทศและแลกเป็นเงินบาท หรือ ฝากเงินเข้าบัญชีเงินฝากเงินตราต่าง ประเทศกับธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้ กรณีที่ขายหลักทรัพย์และนำเงินลงทุนกลับเข้าประเทศในปีปฏิทินเดียวกัน ต้องนำมาคำนวน ภาษีเงินได้ฯ ด้วย
สำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการทราบเพิ่มเติมเกี่ยวกับระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศ สามารถศึกษาได้จากประกาศเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงิน และ คําถาม – คําตอบ เรื่อง การกําหนดหลักเกณฑและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการลงทุนในตราสารในตางประเทศ และ อนุพันธ หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมท่านสามารถติดต่อ02-356-7799