อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงและแนวทางรองรับการยุติการใช้ LIBOR
จากเหตุการณ์ที่ Financial Conduct Authority (FCA) หน่วยงานกำกับดูแลอัตราดอกเบี้ย London Interbank Offered Rate (LIBOR) ประกาศจะไม่รับรองอัตราดอกเบี้ย LIBOR หลังสิ้นปี 2564 เป็นต้นไป จึงมีความเสี่ยงว่าอัตราดอกเบี้ย LIBOR อาจยุติการใช้อย่างถาวร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อธุรกรรมการเงินที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย LIBOR ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก
ในกรณีของไทย นอกจากการใช้อัตราดอกเบี้ย LIBOR อ้างอิงในธุรกรรมทางการเงินแล้ว อัตราดอกเบี้ย LIBOR ยังเป็นองค์ประกอบในการคำนวณอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง Thai Baht Interest Rate Fixing (THBFIX) ซึ่งถูกใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของธุรกรรมการเงิน รวมถึงตราสารอนุพันธ์อย่างแพร่หลาย ดังนั้น การยุติการใช้อัตราดอกเบี้ย LIBOR ดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อตลาดการเงินไทย และเป็นประเด็นที่ผู้ร่วมตลาดควรให้ความสำคัญและเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
ในการนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงร่วมกับตัวแทนจากสมาคมธนาคารไทยและสมาคมธนาคารนานาชาติ จัดตั้ง "คณะทำงานเตรียมความพร้อมของธนาคารพาณิชย์เพื่อรองรับการยุติการใช้ LIBOR" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาแนวทางรองรับกรณียุติการใช้ LIBOR สำหรับตลาดการเงินไทยเพื่อให้พร้อมรองรับต่อการยุติการใช้ LIBOR เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินไทยต่อไป