ธปท. มีกลไกในการกำกับดูแลการบริหารเงินสำรองตามขั้นตอนดังนี้
การลงทุนเงินสำรองทางการมีกระบวนการกำกับดูแลในหลายระดับ ภายใต้กรอบกฎเกณฑ์ที่ละเอียดชัดเจน และมีการคานอำนาจระหว่างผู้ทำหน้าที่บริหารความเสี่ยงกับผู้ทำหน้าที่ลงทุนระหว่างคณะกรรมการ ธปท. กับฝ่ายบริหาร
ในการบริหารเงินสำรองทางการนั้น จะมีการติดตามและประเมินผลอย่างสม่ำเสมอ โดยมีการรายงานผลการบริหารและความเสี่ยงการลงทุนต่อคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่มีหน้าที่กำกับดูแล และมีการกำหนดหลักเกณฑ์การบริหารความเสี่ยงที่รัดกุมโดยยึดหลักการตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย
ธปท. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง (คบส.) คณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน (อสง.) คณะอนุกรรมการบริหารเงินสำรองทางการ (อบท.) และคณะอนุกรรมการลงทุน (อลท.) เพื่อเป็นกลไกในการกำกับดูแลการบริหารเงินสำรองทางการ โดยมีหน้าที่ความรับผิดชอบดังนี้
คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง (คบส.) ทำหน้าที่กำหนดกรอบนโยบาย และแนวทางการบริหารความเสี่ยงของ ธปท. ในภาพรวม ซึ่งครอบคลุมถึงการประเมินความเสี่ยง การกำหนดระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และการควบคุมความเสี่ยงที่เหมาะสม นอกจากนี้ คบส. ยังมีอำนาจตัดสินใจ และอนุมัติเกณฑ์การบริหารความเสี่ยงทางการเงินที่คณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องได้นำเสนอเพื่อขออนุมัติ
คณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน (อสง.) มีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองกรอบนโยบาย และแนวทางการบริหารความเสี่ยงทางการเงินก่อนนำเสนอให้ คบส. อนุมัติ ซึ่งครอบคลุมกรอบและนโยบายเกี่ยวกับความเสี่ยงในการบริหารเงินสำรอง การกำหนด ขอบเขตและเครื่องมือการลงทุน นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ติดตามประเมินผลการบริหารและความเสี่ยงของเงินสำรองทางการ และกำหนดเกณฑ์คัดเลือกสถาบันการเงินที่ ธปท. สามารถทำธุรกรรมด้านการบริหารเงินสำรองด้วย
คณะอนุกรรมการบริหารเงินสำรองทางการ (อบท.) มีหน้าที่กำหนดกรอบนโยบายและแนวทางในการจัดวาง Strategic Asset Allocation (SAA) เพื่อวางแผนการลงทุนเงินสำรองระยะยาว โดยทำหน้าที่กำหนดดัชนีอ้างอิงกองทุน ทบทวนความเหมาะสมโดยคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่เกิดขึ้นในโลก ติดตามประเมินผลการบริหารและความเสี่ยงของเงินสำรอง และพัฒนากระบวนการบริหารเงินสำรองภายใต้แนวทางที่คณะกรรมการและคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องกำหนด
คณะอนุกรรมการลงทุน (อลท.) มีหน้าที่กำหนดกลยุทธ์การลงทุน Tactical Asset Allocation (TAA) เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในระยะสั้นถึงกลาง ทำหน้าที่ดูแลให้การบริหารเงินสำรองมีความรัดกุมเหมาะสมภายใต้กรอบที่คณะกรรมการและคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องกำหนด