FOCUSED AND QUICK (FAQ) Issue 194
โอกาสและแนวทางสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมไทยภายใต้การเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมผู้สูงวัย
โดย รังสิมา ศรีสวัสดิ์
10 June 2022
“การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างรวดเร็วของไทยนำมาซึ่งความท้าทายหลายมิติ
แต่ขณะเดียวกันก็นำมาซึ่งโอกาสที่สำคัญ โดยภาครัฐควรต้องให้การสนับสนุนอย่างเพียงพอและจริงจังในการลงทุนและการวิจัย
เพื่อผลักดันให้สินค้าไทยมีโอกาสในการแข่งขันเพิ่มขึ้นในตลาดโลก”
- ครัวเรือนที่มีผู้สูงวัยเป็นสมาชิกมีรายได้และค่าใช้จ่ายต่ำกว่าครัวเรือนที่ไม่มีผู้สูงวัยเป็นสมาชิกและต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของครัวเรือนทั้งหมด สะท้อนให้เห็นถึงการบริโภคในอนาคตที่อาจโน้มลดลงเมื่อประเทศไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์
- ผู้สูงวัยยังคงมีความต้องการสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกับผู้บริโภควัยอื่น แต่มีโครงสร้างของสินค้าที่แตกต่างกันออกไปและมีแนวโน้มที่จะบริโภคสินค้าเพื่อสุขภาพมากขึ้น โดยผู้สูงวัยมีลักษณะการบริโภคที่ไม่แตกต่างกัน แม้จะอาศัยอยู่ในพื้นที่ต่างกันและมีระดับรายได้ที่แตกต่างกัน
- การผลิตอาหารและเครื่องดื่ม การก่อสร้างหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัย บริการทางการแพทย์และสาธารณะสุข เป็นกลุ่มสินค้าและบริการที่มีโอกาสสูงภายใต้สังคมผู้สูงวัย สะท้อนจากค่าใช้จ่ายสำหรับสินค้าและบริการดังกล่าวของครัวเรือนผู้สูงวัยที่มากกว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของครัวเรือนทั้งหมด
- การผลิตยานพาหนะส่วนบุคคล และการผลิตสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม เป็นกลุ่มสินค้าที่ยังมีโอกาสภายใต้สังคมผู้สูงวัย แต่ต้องปรับตัวโดยผลิตสินค้ารูปแบบใหม่ให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี การผลิตเครื่องสำอาง น้ำหอม เครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย และการศึกษาเป็นกลุ่มสินค้าและบริการที่มีความเสี่ยงภายใต้การเปลี่ยนเป็นสังคมผู้สูงวัย เนื่องจากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปและแนวโน้มความต้องการสินค้าในกลุ่มดังกล่าวที่โน้มลดลง
- ภาครัฐควรให้การส่งเสริม สนับสนุนการลงทุนและวิจัย รวมถึงลดขั้นตอนในการขออนุญาตและลดเอกสารที่ยุ่งยากเพื่อช่วยเอื้อโอกาสให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจของไทยให้สามารถผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและสามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ ขณะเดียวกันก็ควรออกนโยบายที่เกี่ยวข้องและเป็นรูปธรรมเพื่อดูแลกลุ่มสินค้าและบริการที่มีความเสี่ยงให้สามารถอยู่รอดได้ภายใต้การเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมผู้สูงวัย
ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งเป็นแผนที่ระบุถึงทิศทางและเป้าหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยทุกด้านในระยะสั้น 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) ได้ระบุถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก (Mega Trends) ที่จะเป็นปัจจัยท้าทายและโอกาสของไทยในระยะต่อไป อาทิ 1) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อรูปแบบการทำงานและวิถีการดำเนินชีวิต 2) การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ 3) การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร หรือการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย (Ageing Society)1 ซึ่งกระทบต่อกำลังแรงงานรวมถึงรูปแบบของสินค้าและบริการที่จะตอบสนองต่อผู้บริโภคภายใต้เศรษฐกิจสังคมผู้สูงวัย โดยการสร้างความพร้อมในการรับมือและแสวงหาโอกาสจากการเป็นสังคมผู้สูงวัยยังถือเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ซึ่งสอดคล้องกับ ประเทศอื่น ๆ ที่มีการกำหนดให้การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเป็นหนึ่งในเป้าหมายเร่งด่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเช่นกัน เนื่องจากปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกได้กลายเป็นสังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ (Aged Society)2 อาทิ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป สหรัฐฯ ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) คาดว่าโลกจะเปลี่ยนเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2593
สำหรับไทยนับเป็นอีกหนึ่งประเทศที่จะกลายเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างรวดเร็ว โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ในปี พ.ศ. 2564 ไทยมีสัดส่วนประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 18.2 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ในปี พ.ศ. 2565 ซึ่งจะทำให้ไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์3 ทั้งนี้ ข้อมูลการคาดการณ์จำนวนประชากรไทยจำแนกตามช่วงอายุขององค์การสหประชาชาติและธนาคารโลกในภาพที่ 1 และตารางที่ 1 ชี้ให้เห็นว่าไทยใช้เวลาประมาณ 20 ปีเท่านั้นในการเปลี่ยนผ่านจากสถานะการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยไปเป็นสังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ และใช้เวลาอีกเพียงประมาณ 10 ปีก็จะกลายเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มที่ (Super-Aged Society)4 นอกจากนี้ หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียนบวกหก (ASEAN+6)5 ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญและส่วนใหญ่มีอาณาเขตติดต่อกับไทยก็กำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างรวดเร็วเช่นกัน อาทิ จีน สิงคโปร์ และเวียดนาม ขณะที่อีกหลายประเทศกลายเป็นสังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์แล้ว เช่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และโดยเฉพาะญี่ปุ่นที่ปัจจุบันกลายเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างรวดเร็วของไทยจะนำมาซึ่งความท้าทายหลายมิติ อาทิ มิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านสังคม มิติด้านสุขภาพ แต่ขณะเดียวกันก็นับเป็นโอกาสที่สำคัญของไทย เนื่องจากประเทศคู่ค้าที่สำคัญหลายประเทศก็เปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเช่นกัน ทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยมีโอกาสเพิ่มขึ้นในการผลิตและส่งออกสินค้าที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้สูงวัยได้

ตลาดสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงวัยเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าลงทุนสำหรับผู้ประกอบการไทย เนื่องจากอีก 10 ปีข้างหน้าโลกจะมีประชากรผู้สูงวัยราว 998 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 11.7 ของประชากรโลก เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9.3 ในปี พ.ศ. 2563 อีกทั้งเมื่อพิจารณาถึงตลาดที่เป็นไปได้ในประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ ASEAN+6 ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกในปี พ.ศ. 2563 มากกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าการส่งออกรวม และพบว่า ในปี พ.ศ. 2573 สัดส่วนประชากรผู้สูงวัยของกลุ่มประเทศ ASEAN+6 จะอยู่ที่ร้อยละ 13 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10 ในปี พ.ศ. 2563 (ตารางที่ 1) ซึ่งสิงคโปร์และเกาหลีใต้จะกลายเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มที่ โดยมีสัดส่วนผู้สูงวัยต่อประชากรทั้งหมดอยู่ที่ร้อยละ 23 และ 25 ตามลำดับ ซึ่งในส่วนของเกาหลีใต้แม้ว่าจะเป็นตลาดส่งออกที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.8 ในปี พ.ศ. 2563 แต่การเปลี่ยนเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มที่ของเกาหลีใต้จะทำให้ไทยมีโอกาสใหม่ ๆ ในการขยายตลาดส่งออกที่อาจทำให้ไทยสามารถช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดได้เพิ่มขึ้นดังเช่นที่กรมส่งเสริมการค้าต่างประเทศสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเร่งศึกษาการตลาดและวางแผนการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุไปยังเกาหลีใต้ สำหรับญี่ปุ่นที่เป็นหนึ่งในตลาดส่งออกสำคัญ ซึ่งปัจจุบันเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มที่แล้ว พบว่า ในปี พ.ศ. 2573 จะมีสัดส่วนประชากรผู้สูงวัยมากกว่าร้อยละ 30 จึงนับเป็นอีกหนึ่งโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดส่งออกไปยังญี่ปุ่น โดยเน้นการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุมากขึ้น นอกจากนี้ ยังพบว่า ประเทศคู่ค้าสำคัญอื่น ๆ ได้แก่ สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป จะกลายเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มที่ในปี พ.ศ. 2573 ด้วยเช่นกัน

บทวิเคราะห์ฉบับนี้ต้องการชี้ให้เห็นถึงสินค้าและบริการที่มีศักยภาพในการตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคภายใต้สังคมผู้สูงวัยทั้งในและต่างประเทศ เพื่อชี้โอกาสให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยและเพื่อเสนอเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยทำการวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี พ.ศ. 2562 (Social Economic Survey: SES) เพื่อให้ทราบถึงสัดส่วนในการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนไทยที่มีผู้สูงอายุเป็นสมาชิก และวิเคราะห์ถึงจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค (SWOT Analysis) ของภาคอุตสาหกรรมไทย รวมถึงทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องประกอบการวิเคราะห์เพิ่มเติม เพื่อให้ทราบถึงความพร้อมของผู้ประกอบการไทยในการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคม ผู้สูงวัย ทั้งนี้ ผู้สูงวัยที่กล่าวถึงในบทวิเคราะห์ฉบับนี้ คือ ประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปในปีที่สำรวจ ซึ่งเป็นไปตามนิยามขององค์การสหประชาชาติและพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ของไทย
ข้อมูล SES ปี พ.ศ. 2562 ที่นำมาวิเคราะห์ในการศึกษาครั้งนี้ได้ทำการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างจำนวนทั้งสิ้น 45,406 ครัวเรือน6 โดยแต่ละครัวเรือนมีจำนวนสมาชิกเฉลี่ยที่ 2.7 คน และเมื่อจำแนกประเภทครัวเรือนออกเป็น 3 ประเภท ตามช่วงวัยของสมาชิกในครัวเรือน พบว่า ประเภทที่ 1 ครัวเรือนที่ไม่มีผู้สูงอายุเป็นสมาชิก (No Elderly) มีจำนวน 24,124 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 53.1 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด และมีจำนวนสมาชิกเฉลี่ย 2.6 คนต่อครัวเรือน ประเภทที่ 2 ครัวเรือนที่มีผู้สูงวัยเป็นสมาชิกในสัดส่วนน้อย (Less Elderly) คือ ครัวเรือนที่มีสัดส่วนสมาชิกผู้สูงวัยน้อยกว่าร้อยละ 60 ของจำนวนสมาชิกในครัวเรือนทั้งหมด มีจำนวน 11,989 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 26.4 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด และมีจำนวนสมาชิกเฉลี่ย 3.7 คนต่อครัวเรือน และ ประเภทที่ 3 ครัวเรือนที่มีผู้สูงวัยเป็นสมาชิกในสัดส่วนมาก (More Elderly) หรือครัวเรือนผู้สูงวัย คือ ครัวเรือนที่มีจำนวนผู้สูงอายุตั้งแต่ร้อยละ 60 ของจำนวนสมาชิกในครัวเรือนทั้งหมด มีจำนวน 9,293 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 20.5 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด และมีจำนวนสมาชิกเฉลี่ย 1.8 คน โดยครัวเรือนประเภทนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ลำพังจำนวน 3,834 ครัวเรือน รองลงมาเป็นครัวเรือนที่สมาชิกทุกคนเป็นผู้สูงวัยมีจำนวน 3,492 ครัวเรือน ส่วนอีก 1,967 ครัวเรือนเป็นครัวเรือนที่มีผู้สูงวัยเป็นสมาชิกในจำนวนที่มากกว่าสมาชิกในวัยอื่น ทั้งนี้ หากนับรวมครัวเรือนประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 เข้าด้วยกัน พบว่า จำนวนครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุเป็นสมาชิก7จะอยู่ที่ 21,282 ครัวเรือน หรือคิดเป็นร้อยละ 46.9 ของจำนวนครัวเรือน โดยรายละเอียดของครัวเรือนทั้ง 3 ประเภทแสดงดังภาพที่ 2
การศึกษาครั้งนี้จะทำการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคต่อคนต่อเดือนของครัวเรือนเพื่อให้เห็นถึงสัดส่วนการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนแต่ละประเภท รวมถึงสินค้าและบริการที่มีแนวโน้มจะเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นหรือลดลงภายใต้การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของไทย นอกจากนี้ ยังจะศึกษาลักษณะครัวเรือนผู้สูงวัยตามพื้นที่ของการอยู่อาศัยเพื่อให้เห็นถึงรายได้และลักษณะการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนผู้สูงอายุที่อาจมีความแตกต่างกันไปตามพื้นที่ของการอยู่อาศัย ซึ่งจำแนกออกเป็น 5 พื้นที่ ได้แก่ 1) กรุงเทพมหานคร 2) ภาคกลาง 3) ภาคเหนือ 4) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ 5) ภาคใต้ และจำแนกแต่ละพื้นที่ยกเว้นกรุงเทพมหานครออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาล และ 2) กลุ่มที่อาศัยอยู่นอกเขตเทศบาล

ข้อมูลรายได้และค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภครายเดือนชี้ให้เห็นว่า ครัวเรือนที่มีผู้สูงวัยเป็นสมาชิกมีรายได้และค่าใช้จ่ายต่ำกว่าครัวเรือนที่ไม่มีผู้สูงวัยเป็นสมาชิกและต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของครัวเรือนทั้งหมด8 โดยครัวเรือนที่มีผู้สูงวัยเป็นสมาชิกมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 8,529-9,591 บาทต่อคนต่อเดือน น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของครัวเรือนทั้งหมดประมาณร้อยละ 9-19 และมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 6,417-7,477 บาทต่อคนต่อเดือน น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของครัวเรือนทั้งหมดร้อยละ 9-22 ขณะที่ครัวเรือนที่ไม่มีผู้สูงวัยเป็นสมาชิกมีรายได้เฉลี่ย 11,978 บาทต่อคนต่อเดือน มากกว่าค่าเฉลี่ยของครัวเรือนทั้งหมดประมาณร้อยละ 13 และมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 9,477 บาทต่อคนต่อเดือน สูงกว่าค่าเฉลี่ยของครัวเรือนทั้งหมดร้อยละ 15 แสดงดังภาพที่ 3

ค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคที่ลดลงของครัวเรือนที่มีผู้สูงวัยเป็นสมาชิกสะท้อนให้เห็นถึงการบริโภคในอนาคตที่อาจโน้มลดลงเมื่อไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ ซึ่งผู้ผลิตอาจต้องปรับเปลี่ยนแผนการผลิตจากการผลิตสินค้าที่มีลักษณะเหมือนกันจำนวนมากเพื่อให้คุ้มทุนเป็นการผลิตที่เน้นตอบสนองต่อความต้องการส่วนบุคคลของผู้บริโภค โดยเมื่อพิจารณาในกลุ่มสินค้าพบว่าครัวเรือนแต่ละประเภทมีสัดส่วนการบริโภคที่แตกต่างกัน อีกทั้งครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุเป็นสมาชิกแต่ละครัวเรือนก็มีความต้องการบริโภคสินค้าและบริการที่แตกต่างกัน เนื่องจากสมรรถภาพร่างกายที่เสื่อมถอยส่งผลให้ความสามารถในการช่วยเหลือตนเองของผู้สูงอายุลดลงซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล นับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่จะพัฒนาสินค้าแต่ละประเภทให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้สูงอายุได้อย่างครอบคลุมทั้งผู้สูงอายุที่พึ่งพาตนเองได้และสูญเสียการพึ่งพาตนเอง

ผลการวิเคราะห์ข้อมูล SES พบว่า ผู้สูงวัยยังมีความต้องการสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองต่อการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกับผู้บริโภคในวัยอื่น แต่มีโครงสร้างของสินค้าและบริการที่แตกต่างออกไปและมีแนวโน้มที่จะบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้น (แสดงดังภาพที่ 4) ซึ่งสอดคล้องกับงานศึกษาอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเกษรา โพธิ์เย็น (2562) ระบุว่า ภาคการผลิตและธุรกิจของไทยที่มีโอกาสเติบโตและได้รับประโยชน์จากการที่โลกเปลี่ยนเป็นสังคมผู้สูงอายุ ได้แก่ 1) ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 2) ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ 3) ธุรกิจความงามเพื่อการชะลอวัย 4) ธุรกิจสัตว์เลี้ยงสำหรับผู้สูงวัย 5) ธุรกิจด้านนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพของผู้สูงอายุ 6) ธุรกิจด้านประกันสุขภาพ ประกันชีวิต 7) ธุรกิจการให้บริการเดลิเวอรี่ 8) ธุรกิจการดูแลผู้สูงอายุ 9) ธุรกิจเทรนเนอร์เฉพาะทางสำหรับผู้สูงอายุ และ 10) ธุรกิจที่ปรึกษาวางแผนการเงินหลังการเกษียณ สอดคล้องกับ McNair et al. (2012) ที่ชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจด้านเวชภัณฑ์และเทคโนโลยีการแพทย์ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และการเดินทางส่วนบุคคล เป็นอุตสาหกรรมและธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ภายใต้พลวัตการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมผู้สูงวัยของประเทศอังกฤษ เช่นเดียวกันกับ Arensberg (2018) ที่กล่าวว่า ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ธุรกิจอาหาร ธุรกิจด้านสุขภาพ เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสขยายตัวตามแนวโน้มความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นภายใต้การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (APEC) นอกจากนี้ McNair et al. (2012) ยังระบุว่า รัฐบาลอังกฤษควรให้ความสำคัญกับธุรกิจและการผลิตสินค้าเหล่านี้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมผู้สูงวัยเป็นแนวโน้ม ของโลก โดยประเทศที่สามารถช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดของโลกได้ก่อนจะเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์อย่างมากจากการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้
กลุ่มสินค้าและบริการที่มีแนวโน้มมีความต้องการเพิ่มขึ้นภายใต้การเป็นสังคมผู้สูงวัยของไทยจากการวิเคราะห์ข้อมูล SES ปี พ.ศ. 2562 คือ กลุ่มสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานและกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพ สะท้อนจากสัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อคนต่อเดือนเพื่อซื้อสินค้าและบริการดังกล่าวของครัวเรือนผู้สูงวัยที่โน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับครัวเรือนประเภทอื่น โดยมีโครงสร้างสินค้าและบริการที่แตกต่างออกไป ดังต่อไปนี้
1. อาหารและเครื่องดื่ม แม้ครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุเป็นสมาชิกจะมีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อเดือนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของครัวเรือนทั้งหมดอยู่ร้อยละ 19 และร้อยละ 1 ตามลำดับแสดงดังภาพที่ 5 แต่ครัวเรือนผู้สูงวัย มีแนวโน้มบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ ถั่วเปลือกแข็ง ผัก และผลไม้ต่าง ๆ (แสดงดังภาพที่ 6) ประกอบกับการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์โน้มลดลงอย่างมาก เนื่องจากผู้สูงวัยต้องการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ กล่าวคือ บริโภคอาหารในปริมาณน้อยแต่ได้รับสารอาหารครบถ้วน โดยอาหารที่บริโภคจะต้องมีแคลอรี่ น้ำตาล และโซเดียมในระดับต่ำ สามารถเคี้ยวและย่อยได้ง่าย
ทั้งนี้ ครัวเรือนที่มีผู้สูงวัยเป็นสมาชิกมีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อเดือนในการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของครัวเรือนทั้งหมดร้อยละ 45-53 และมีแนวโน้มที่จะบริโภคอาหารเสริมที่ช่วยสร้างสารอาหารเฉพาะหรือเพื่อชะลอวัยเพิ่มขึ้น สะท้อนจากค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อเดือนในการซื้อวิตามิน ยาบำรุง และอาหารเสริมที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของครัวเรือนทั้งหมดถึงร้อยละ 92 แสดงดังภาพที่ 7 และภาพที่ 8 ตามลำดับ


พฤติกรรมการบริโภคอาหารของผู้สูงอายุข้างต้นและกระแสการรักสุขภาพในปัจจุบันนับเป็นโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ที่จะพัฒนาสินค้าของตนให้ตรงต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค อาทิ การผลิตเนื้อสัตว์จากพืช การผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคอลลาเจน โพรไบโอติกส์ แคลเซียม อีกทั้งยังเป็นโอกาสแก่ผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ผลิตฉลากและบรรจุภัณฑ์ โดยการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เปิดได้ง่าย ไม่ต้องใช้แรงบิดมือ แรงดึง หรือแรงฉีกมาก และมีการออกแบบให้ถือหรือจับได้อย่างสะดวก มีน้ำหนักเบา สามารถป้องกันการสำลัก รวมถึงฉลากสินค้าที่มีคำอธิบายไม่ซับซ้อนสามารถอ่านและทำความเข้าใจได้ง่ายและมีตัวอักษรขนาดใหญ่ โดยภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้การสนับสนุน ดังนี้ 1) ร่วมมือกับภาคเอกชนในการทำ R&D พัฒนาสูตรอาหารและบรรจุภัณฑ์ 2) สร้างศูนย์วิจัย ห้องทดลอง เพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ และสร้างมาตรฐานรองรับผลิตภัณฑ์อาหารและบรรจุภัณฑ์ที่เหมาสมกับผู้สูงอายุ และ 3) พิจารณาลดขั้นตอน กระบวนการขออนุญาตของรัฐ ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น รวมทั้งปรับระบบเอกสารสู่รูปแบบ Digital
2. สินค้าประเภทที่ใช้ก่อสร้างหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัย อาทิ ปูนซีเมนต์ ไม้ กระเบื้อง โดยครัวเรือน ที่มีผู้สูงวัยเป็นสมาชิกในสัดส่วนน้อยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อเดือนมากกว่าค่าเฉลี่ยของครัวเรือนทั้งหมด ร้อยละ 16 เช่นเดียวกันกับครัวเรือนที่มีผู้สูงวัยเป็นสมาชิกในสัดส่วนมากก็มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อเดือน สูงกว่าค่าเฉลี่ยของครัวเรือนทั้งหมด ร้อยละ 19 แสดงดังภาพที่ 9

ที่อยู่อาศัยที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้สูงวัยควรมีลักษณะ ดังนี้ 1) มีพื้นที่กว้างขวาง เอื้อต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ 2) ไม่มีพื้นต่างระดับ หรือมีน้อยและไม่อยู่ในจุดที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ 3) บ้านสามารถถ่ายเทอากาศได้ดี 4) พื้นไม่ลื่น มีราวจับเพื่อช่วยในการอำนวยความสะดวกในการทรงตัว มีทางลาดสำหรับรถเข็น และ 5) อุปกรณ์ต่าง ๆ ในบ้านสามารถหยิบจับใช้งานได้สะดวก อาทิ ประตูบานเลื่อน ก๊อกน้ำก้านโยก เฟอร์นิเจอร์ที่รองรับสรีระสำหรับผู้สูงวัยโดยเฉพาะ เป็นต้น นอกจากนี้ โครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุส่วนใหญ่ตระหนักถึงปัญหาสุขภาพของผู้สูงวัยจึงใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างที่ลดการฟุ้งกระจายของฝุ่น โดยใช้โครงผนังเหล็กแผ่นรีดเย็นและผนังไฟเบอร์ซีเมนต์ในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุ และเน้นการปูพื้นโดยใช้กระเบื้องยางเพื่อลดความลื่นและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการลื่นหกล้มของผู้สูงวัย ซึ่งสินค้าในกลุ่มข้างต้นนับเป็นโอกาสของกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยในปัจจุบันมีผู้ประกอบการบางราย อาทิ SCG, TWWO DECOR ที่เริ่มปรับสินค้าเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานในที่อยู่อาศัยของผู้สูงวัย
อย่างไรก็ดี โครงสร้างหลักของการก่อสร้างที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน คือ คอนกรีตและซีเมนต์(ข้อมูลจากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตของไทยปี พ.ศ. 2558) แต่การก่อสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการลดการฟุ้งกระจายของฝุ่น อาจทำให้ความต้องการใช้คอนกรีตและซีเมนต์ในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยลดลง จึงเป็นโอกาสของผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างที่จะปรับเปลี่ยนการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในที่อยู่อาศัยและอำนวยความสะดวกด้านสุขภาพให้แก่ผู้สูงวัย นับเป็นอีกหนึ่งโอกาสของผู้ประกอบการภายใต้การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย อาทิ เซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวและแจ้งเหตุฉุกเฉิน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ ชุดตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้น แต่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ที่ใช้ในที่อยู่อาศัยต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งอาจกระทบต่อต้นทุนและความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ ดังนั้น ภาครัฐควรพิจารณาช่วยเหลือกระบวนการนำเข้าสินค้าดังกล่าว อาทิ การระบุพิกัดภาษีของสินค้าและมีหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน รวมถึงช่วยสนับสนุนด้านอื่น ๆ ที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ เช่น ลดขั้นตอนและเอกสารที่ใช้ในการขออนุญาตประกอบธุรกิจ การสร้างแรงจูงใจทางภาษีหรือให้การสนับสนุนการลงทุน
3. ยานพาหนะส่วนบุคคล ครัวเรือนผู้สูงวัยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการซื้อยานพาหนะส่วนบุคคลลดลง โดยครัวเรือนที่มีผู้สูงวัยในสัดส่วนน้อยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อเดือนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของครัวเรือนทั้งหมดร้อยละ 18 ส่วนครัวเรือนที่มีผู้สูงวัยเป็นสมาชิกในสัดส่วนมากมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อเดือนในการซื้อยานพาหนะส่วนบุคคลน้อยว่าค่าเฉลี่ยของครัวเรือนทั้งหมดถึงร้อยละ 68 แสดงดังภาพที่ 10 อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายสำหรับการใช้บริการรถสาธารณะประเภทรถรับจ้างไม่ประจำทางกลับเพิ่มสูงขึ้น อาทิ แท็กซี่ รถจักรยานยนต์รับจ้าง โดยเฉพาะในครัวเรือนที่มีผู้สูงวัยเป็นสมาชิกเป็นสัดส่วนมากมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อเดือนในการใช้บริการรถรับจ้างไม่ประจำทางสูงกว่าค่าเฉลี่ยของครัวเรือนทั้งหมดร้อยละ 27 แสดงดังภาพที่ 11 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้สูงวัยส่วนใหญ่ต้องการความสะดวกสบายในการเดินทาง นอกจากนี้ ผู้สูงอายุบางท่านอาจมีข้อจำกัดทางด้านร่างกายจึงไม่สามารถเป็นผู้ขับขี่ยานพาหนะได้เอง รวมทั้งอาจต้องการยานพาหนะที่มีห้องโดยสารขนาดใหญ่เพื่อติดตั้งอุปกรณ์เสริมในการเดินทาง อาทิ เก้าอี้เสริมสำหรับติดตั้งบนรถ อีกทั้งห้องโดยสารที่มีขนาดใหญ่จะช่วยเพิ่มพื้นที่ในการวางขาซึ่งจะช่วยลดอาการปวดขาหรือปวดข้อเข่าระหว่างการเดินทางได้


อย่างไรก็ดี การผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์เน้นการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศเป็นสำคัญ แสดงจากข้อมูลตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตปี พ.ศ. 2558 ที่ชี้ให้เห็นว่า การผลิตยานยนต์ของไทยอาศัยปัจจัยการผลิตขั้นกลางจากต่างประเทศร้อยละ 45.6 ส่วนการใช้ปัจจัยการผลิตขั้นกลางในประเทศอยู่ที่ร้อยละ 29.8 และร้อยละ 24.6 เป็นการใช้ปัจจัยการผลิตอื่น ๆ เช่น แรงงานและเครื่องมือเครื่องจักร เป็นต้น ดังนั้น การพึ่งพาปัจจัยการผลิตขั้นกลางจากต่างประเทศในสัดส่วนมากอาจทำให้ไทยเสียโอกาสและความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้ ผู้สูงวัยบางรายยังคงมีความสามารถในการขับขี่และต้องการที่จะขับขี่ยานพาหนะด้วยตนเอง ดังนั้น ภาครัฐควรสนับสนุนให้เกิดการ R&D ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้อำนวยความสะดวกและเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่รถยนต์ รวมถึงสนับสนุนและผลักดันให้บริการแชร์รถยนต์ (Ride Sharing) และการขับเคลื่อนรถยนต์อัตโนมัติให้เกิดขึ้นจริง เพื่อเป็นโอกาสและทางเลือกใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์
4. สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มซึ่งรวมถึงสิ่งทอทางการแพทย์ ครัวเรือนที่มีผู้สูงวัยเป็นสมาชิกมีค่าใช้จ่ายในการซื้อสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของครัวเรือนทั้งหมด โดยครัวเรือนที่มีผู้สูงวัยเป็นสมาชิกในสัดส่วนน้อย และครัวเรือนที่มีผู้สูงวัยเป็นสมาชิกในสัดส่วนมาก มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อเดือนในการซื้อสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั่วไป ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของครัวเรือนทั้งหมดร้อยละ 19 และร้อยละ 46 ตามลำดับ แสดงดังภาพที่ 12
ค่าใช้จ่ายในการซื้อสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ลดลงของครัวเรือนผู้สูงวัยอาจสะท้อนถึงความถี่ใน การซื้อเสื้อผ้าที่ลดลง เนื่องจากผู้สูงวัยมีความต้องการเสื้อผ้าที่แตกต่างไปจากกลุ่มอื่น ๆ โดยผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีความนิยมเสื้อผ้าตามแฟชั่นลดลง แต่ต้องการเสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย ระบายเหงื่อได้ดี ไม่ต้องรีด และผลิตจากเส้นใยธรรมชาติเพื่อลดการระคายเคืองต่อผิวหนัง รวมถึงอาจมีความต้องการใช้สิ่งทอทางการแพทย์มากกว่า สิ่งทอทั่วไป
สิ่งทอทางการแพทย์นับว่าเป็นสินค้าที่มีศักยภาพที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมสิ่งทอของไทยกลับมามีแรงขับเคลื่อนอีกครั้งภายใต้การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย แม้การผลิตสิ่งทอทางการแพทย์จะยังมีส่วนแบ่งทางการตลาดในประเทศอยู่ที่ร้อยละ 19 น้อยกว่าการผลิตสิ่งทอทั่วไปซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 81 แต่มีรายได้เติบโตเฉลี่ยถึงร้อยละ 4-6 ต่อปี ขณะที่รายได้ของธุรกิจสิ่งทอทั่วไปเติบโตเฉลี่ยเพียงร้อยละ 1 ต่อปี (Krungthai Compass, 2021) ทว่าการผลิตสิ่งทอทางการแพทย์ต้องนำเข้าปัจจัยการผลิตขั้นกลางจากต่างประเทศ เป็นสำคัญ เนื่องจากผู้ผลิตในประเทศส่วนใหญ่ยังไม่สามารถผลิตได้ครบทั้งกระบวนการตั้งแต่การผลิตต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ขณะที่การผลิตสิ่งทอทั่วไปใช้ปัจจัยการผลิตขั้นกลางจากในประเทศเป็นสำคัญ โดยข้อมูลจากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตปี พ.ศ. 2558 แสดงให้เห็นว่า การผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยใช้ปัจจัยการผลิตในประเทศอยู่ที่ร้อยละ 49.2 และร้อยละ 58.3 ตามลำดับ
ดังนั้น การผลิตสิ่งทอทางการแพทย์ของไทยจะมีต้นทุนการผลิตที่สูง และอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ ซึ่งภาครัฐควรเสริมสร้างโอกาส และสนับสนุนการผลิตในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ดังนี้ 1) ส่งเสริมการพัฒนาและวิจัยสิ่งทอใหม่ ๆ ที่มีคุณสมบัติให้เหมาะสมกับผู้สูงวัยมากขึ้น เช่น ระบายความร้อนได้ดี ฆ่าหรือยับยั้งแบคทีเรีย ไม่ระคายเคืองผิวหนัง 2) สนับสนุนการลงทุนวิจัยการผลิตเส้นใยธรรมชาติจากวัสดุการเกษตรเหลือใช้ เช่น เส้นใยสับปะรด เส้นใยกล้วย เส้นใยอ้อย เป็นต้น 3) สร้างแบรนด์และค่านิยมให้กับเครื่องนุ่งห่มสำหรับผู้สูงอายุที่ผลิตจากไทยให้ติดตลาดอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเรื่องคุณภาพเพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออก 4) ส่งเสริมการเรียนรู้เทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ใช้ในชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุให้แก่ผู้ประกอบการ 5) จัดตั้งศูนย์ทดสอบคุณภาพของสิ่งทอเพื่อผู้สูงอายุ เพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ และสร้างมาตรฐานและรับรองคุณภาพของสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มสำหรับผู้สูงอายุ 6) ผลักดันให้เกิดความเชื่อมโยงและความร่วมมือกับอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และกลุ่มเครื่องมือแพทย์ และ 7) ส่งเสริมการพัฒนาสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มเพื่อผู้สูงอายุดีไซน์ใหม่ ๆ ที่ทันสมัย
5. บริการสาธารณสุขและบริการที่ส่งเสริมสุขภาพ โดยครัวเรือนที่มีผู้สูงวัยเป็นสมาชิกในสัดส่วนมากมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อเดือนในการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นทั้งที่เป็นผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในทั้งในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน โดยเฉพาะในโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งพบว่า มากกว่าค่าเฉลี่ยของครัวเรือนทั้งหมดกว่าร้อยละ 50 แสดงดังภาพที่ 13
ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่โน้มเพิ่มขึ้นนับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในธุรกิจสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนที่จะปรับปรุงพัฒนาการให้บริการให้มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อสามารถรองรับความต้องการใช้บริการที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเป็นโอกาสของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ การท่องเที่ยว ธุรกิจประกัน โดยภาครัฐอาจสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคการท่องเที่ยวและโรงพยาบาลในบริการการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุทั้งไทยและต่างชาติให้เข้ามาใช้บริการการท่องเที่ยวและการแพทย์ของไทยเพิ่มขึ้น


การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยไม่เพียงแต่เป็นโอกาสต่อผู้ประกอบการในการผลิตสินค้าและบริการใหม่ ๆ แต่ยังนำมาซึ่งความท้าทายที่สำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมไทย ได้แก่ การขาดแคลนแรงงาน สินค้าและบริการบางประเภทที่อาจมีความต้องการลดลง ซึ่งจะกระทบต่อผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าและบริการดังกล่าว โดยการวิเคราะห์ข้อมูล SES ชี้ให้เห็นถึงกลุ่มสินค้าและบริการของไทยที่อาจเผชิญความท้าทายภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว เนื่องจากการบริโภคอาจมีแนวโน้มลดลง นั่นคือ กลุ่มสินค้าและบริการที่เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย สินค้าและบริการเพื่อความบันเทิงหรือเพื่อความงาม ได้แก่ น้ำหอม เครื่องสำอาง เครื่องประดับ และ เครื่องแต่งกาย9 นอกจากนี้ ข้อมูล SES ยังชี้ให้เห็นว่า การศึกษานับเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมการบริการที่ต้องเผชิญความท้าทายภายใต้การเป็นสังคมผู้สูงวัย แม้การศึกษาจะเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ แต่โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปตามอัตราการเกิดที่ลดลงอาจทำให้เกิดการยุบควบรวมโรงเรียนที่จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพทางการศึกษา และโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของเยาวชนไทย ซึ่งรัฐบาลควรให้ความสนใจและเร่งแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาของไทยอย่างตรงจุดและทันท่วงที

นอกจากนี้ ครัวเรือนผู้สูงวัยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่างกันมีลักษณะการบริโภคที่ไม่แตกต่างกัน ซึ่งครัวเรือนที่สมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยอาศัยอยู่ในภาคเหนือมากที่สุด รองลงมา คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง และส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาล แต่หากพิจารณาในมิติของรายได้ พบว่าครัวเรือนผู้สูงวัยในกรุงเทพมหานครมีรายได้เฉลี่ยมากที่สุดอยู่ที่ 15,246 บาทต่อคนต่อเดือน ขณะที่ครัวเรือนผู้สูงอายุนอกเขตเทศบาลในภาคเหนือมีรายได้เฉลี่ยต่ำที่สุดที่ 6,503 บาทต่อคนต่อเดือน อีกทั้งเมื่อพิจารณาในมิติของรายได้เพิ่มเติม พบว่า ครัวเรือนผู้สูงวัยที่มีรายได้สูง10 และครัวเรือนผู้สูงวัยที่มีรายได้ต่ำ11 มีลักษณะการบริโภคสินค้าและบริการที่ไม่แตกต่างกัน แต่ครัวเรือนแต่ครัวเรือนผู้สูงวัยที่มีรายได้ต่ำมีค่าใช้จ่ายในกลุ่มอาหารและ เครื่องดื่มสูงถึงร้อยละ 50 ของรายจ่ายทั้งสิ้นต่อเดือน และอีกกว่าร้อยละ 20 เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการอยู่อาศัย อย่างไรก็ดี ครัวเรือนผู้สูงวัยที่มีรายได้ต่ำมีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ขณะที่ครัวเรือนผู้สูงวัยที่มีรายได้สูงมีค่าใช้จ่ายในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่เกินร้อยละ 25 ของรายจ่ายทั้งสิ้นต่อเดือน และมีรายได้ต่อเดือนเพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ซึ่งอาจนำไปสู่ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรที่จะเร่งออกนโยบายและจัดทำนโยบายให้เป็นรูปธรรมเพื่อให้ครัวเรือนผู้สูงวัยที่กำลังจะกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของสังคมมีคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียมกันในทุกกลุ่มรายได้
แม้ผู้ประกอบการไทยจะมีศักยภาพและมองเห็นโอกาสในการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปภายใต้การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย แต่พบว่าการผลิตสินค้าและบริการในกลุ่มที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนใหม่ให้แก่เศรษฐกิจไทยอาจเผชิญกับอุปสรรคและความท้าทายหลายประการ แสดงดังการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค (SWOT Analysis) ในตารางที่ 5

โดยสรุป การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยนับเป็นโอกาสแก่ภาคอุตสาหกรรมและบริการของไทยในการผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการมีทางเลือกในการผลิตสินค้ามากขึ้น รวมถึงเป็นการขยายโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการรายใหม่ในการเข้าสู่ตลาด ทว่าการผลิตสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต และต้องพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศเป็นสำคัญ นับเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการในการพัฒนาสินค้าให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ดังนั้นภาครัฐควรให้การสนับสนุนในการทำ R&D เพิ่มขึ้น และเปิดศูนย์การทดสอบมาตรฐานสินค้าจำแนกตามอุตสาหกรรม เพื่อช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการ รวมถึงลดขั้นตอนและเอกสารที่ยุ่งยาก เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในการขออนุญาตประกอบธุรกิจ เพื่อผลักดันให้สินค้าไทยมีโอกาส ในการแข่งขันเพิ่มขึ้นในตลาดโลก
1 การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย (Ageing Society) ตามนิยามขององค์การสหประชาชาติ คือ ประเทศที่มีจำนวนประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรทั้งหมด หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี มากกว่าร้อยละ 7 ของประชากรทั้งหมด
2 สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ตามนิยามขององค์การสหประชาชาติ คือ ประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี มากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมด
3 คาดการณ์โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (https://thaitgri.org/?p=40044)
4 สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มที่ (Super-Aged Society) ตามนิยามขององค์การสหประชาชาติ คือ ประเทศที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด
5 กลุ่มประเทศอาเซียนบวกหก ประกอบด้วย ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
6 ใช้กลุ่มตัวอย่างเฉพาะครัวเรือนที่ไม่นับรวมคนรับใช้เป็นสมาชิก เพื่อสะท้อนถึงสัดส่วนผู้สูงอายุที่เป็นสมาชิกครัวเรือนได้
ตามจริง
7 หมายถึง ครัวเรือนที่มีผู้สูงวัยเป็นสมาชิกในสัดส่วนน้อย (ครัวเรือนประเภทที่ 2) และครัวเรือนที่มีผู้สูงวัยเป็นสมาชิกในสัดส่วนมาก (ครัวเรือนประเภทที่ 3)
8 ค่าเฉลี่ยของครัวเรือนทั้ง 3 ประเภท
9 ได้แก่ เข็มขัด รองเท้า นาฬิกาข้อมือ แว่นกันแดด กระเป๋าถือ กระเป๋าสตางค์ เป็นต้น
10 ครัวเรือนสูงวัยที่มีรายได้สูง คือ ครัวเรือนที่มีจำนวนผู้สูงวัยเป็นสมาชิกตั้งแต่ร้อยละ 60 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด และมีรายได้ต่อคนต่อเดือนตั้งแต่ 18,777 บาทขึ้นไป (คำนวณจากระดับรายได้ของครัวเรือนสูงวัย ณ เปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 90)
11 ครัวเรือนสูงวัยที่มีรายได้ต่ำ คือ ครัวเรือนที่มีจำนวนผู้สูงวัยเป็นสมาชิกตั้งแต่ร้อยละ 60 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด และมีรายได้ต่อคนต่อเดือนไม่เกิน 3,084 บาท (คำนวณจากระดับรายได้ของครัวเรือนผู้สูงวัย ณ เปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 10)
Reference:
Arenberg, M, B. (2018). Population aging: opportunity for business expansion, an invitational paper presented at the Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC) International Workshop on Adaptation to Population Aging Issues. Journal of Health, Poputation and Nutrition and Nutrition, 37(7), 1-11.
McNair, S., Flynn, M., Myerson, J., Gheerawo, R., & Ramster, G. (2012). What are the supply (workforce) and demand (product) implications of an ageing society? https://assets.publishing.service.gov.uk/government/uploads/system/uploads/attachment_data/file/283896/ep22-ageing-society-implications-manufacturing.pdf
SCG. (2564). Solution Provider ด้านที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ [เอกสารนำเสนอ]. งานเสวนา "เทคโนโลยีและการออกแบบที่พักผู้สูงอายุ", กรุงเทพฯ, ประเทศไทย.
กิตติ วงศ์ถาวราวัฒน์. (2564). แนวโน้มเทคโนโลยีการดูแลผู้สูงอายุ [เอกสารนำเสนอ].
เกษรา โพธิ์เย็น. (2562). สังคมผู้สูงอายุ : โอกาสของธุรกิจที่ยั่งยืนในอนาคต. วารสารวิทยาการจัดการปริทัศน์, 21(1), 201-209.
ชุมเขต แสวงเจริญ (2564). หลักการปรับเปลี่ยนหรือสร้างที่พักสำหรับผู้สูงอายุเพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัยและสะดวก [เอกสารนำเสนอ]. งานเสวนา "เทคโนโลยีและการออกแบบที่พักผู้สูงอายุ", กรุงเทพฯ, ประเทศไทย.
บทความนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีด้วยความช่วยเหลือของหลายท่านในสายนโยบายการเงิน อันได้แก่ คุณปราณี สุทธศรี คุณนฤมล พูลภักดี คุณธิติ เกตุพิทยา รวมทั้งทีม FAQ editor ดร.นครินทร์ อมเรศ และ ดร.ณชา อนันต์โชติกุล โดยผู้เขียนขอขอบพระคุณทุกท่านเป็นอย่างสูง
Contact Authors
dwnload PDF file 