FOCUSED AND QUICK (FAQ) Issue 195
สิ่งทอไทยไปต่ออย่างไรให้ยั่งยืน
โดย ศิรดา ศิริเญจพฤกษ์
12 July 2022
“อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยเผชิญกับความท้าทายจากปัญหาเดิมและผลกระทบของ
โควิด-19 แม้ว่าจะมีโอกาสจากกระแสของ Megatrends แต่การสนับสนุนจากภาครัฐจะเป็น
แรงผลักสำคัญที่จะทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยไปต่อได้อย่างยั่งยืน”
* อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยเผชิญความท้าทายหลายด้านจาก (1) ความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง จากการไม่มีสิทธิพิเศษทางการค้าในการส่งออกไปยังตลาดสำคัญ และค่าแรงที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค (2) ข้อจำกัดในการนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เนื่องจากการผลิตในประเทศกว่าร้อยละ 99 มาจากผู้ผลิต SMEs และรายย่อย ซึ่งใช้แรงงานเข้มข้นในการผลิตสินค้าขั้นกลางน้ำและปลายน้ำ และ (3) ความท้าทายต่อความมั่นคงของอุตสาหกรรมในระยะยาว จากการเข้ามาแข่งขันของสินค้าขั้นกลางและปลายน้ำที่มีความได้เปรียบด้านราคาของประเทศคู่แข่ง
* ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างพัฒนาระบบนิเวศน์ของอุตสาหกรรม ผ่านการพัฒนาตรารับรองคุณภาพเพื่อสร้างมาตรฐานและความแตกต่างให้กับสินค้าไทย รวมถึงจัดทำฐานข้อมูลผู้ประกอบการเพื่อเป็นช่องทางจัดหาวัตถุดิบและรักษาความมั่นคงของห่วงโซ่การผลิตในประเทศ
* ภาครัฐสามารถสนับสนุนเอกชนเพิ่มเติมได้ โดย (1) จัดตั้งระบบทดสอบคุณภาพสินค้าที่ได้มาตรฐานสากล (2) หาแนวทางร่วมกับผู้ประกอบการในการรักษาส่วนแบ่งตลาดส่งออก (3) มีแนวทางให้การสนับสนุนในอุตสาหกรรมสิ่งทอที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และ (4) สนับสนุนการสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนหาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับอุตสาหกรรม เพื่อให้อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยไปต่อได้อย่างยั่งยืน
1. บทนำ
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นหนึ่งในภาคการผลิตที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทย แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีความสำคัญทางเศรษฐกิจลดลงจากความท้าทายหลายด้าน ทั้งความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิตและการตลาดที่ลดลงเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค ข้อจำกัดในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของผู้ผลิตรายกลางถึงเล็ก ความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานในประเทศ ตลอดจนแนวโน้มการบริโภคและการผลิตที่เปลี่ยนไปจากผลกระทบของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม พบว่าผู้ประกอบการส่วนหนึ่งสามารถปรับตัวและต่อยอดการเติบโตได้ภายใต้ภาวะวิกฤติ บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์ที่จะนำเสนอโครงสร้างและพัฒนาการของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ความท้าทายที่อุตสาหกรรมกำลังเผชิญ และกระแสการเปลี่ยนแปลงที่จะมีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมในระยะข้างหน้า เพื่อนำไปสู่แนวทางการดำเนินนโยบายที่แก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม
2. โครงสร้างและพัฒนาการของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยมีพัฒนาการมาอย่างยาวนาน โดยประเทศญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาในระยะเริ่มต้นผ่านการเข้ามาลงทุนร่วมกับคนไทยในอุตสาหกรรมเส้นใยประดิษฐ์ การปั่นด้าย การทอและฟอกย้อม รวมถึงการผลิตสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม โดยระยะแรกเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างนักลงทุนชาวญี่ปุ่น จีนและไทย เพื่อตั้งโรงงานปั่นด้ายเชิงพาณิชย์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และหลังจากปี พ.ศ.2518 บริษัทจากประเทศไต้หวันและฮ่องกงได้เริ่มย้ายฐานการผลิตมาไทยเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการกีดกันทางการค้าจากประเทศอุตสาหกรรมหลัก รวมถึงเพื่อใช้ประโยชน์จากต้นทุนค่าแรงและค่าเงินที่ต่ำกว่าประเทศตน ทำให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีมายังผู้ประกอบการไทยนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
โครงสร้างอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยประกอบด้วย (1) การผลิตเส้นใยประดิษฐ์ (Man-made fiber) เป็นอุตสาหกรรมขั้นต้นน้ำ เนื่องจากไทยมีโรงงานผลิตปิโตรเคมีซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำคัญของการผลิตเส้นใยประดิษฐ์ ขณะที่เส้นใยธรรมชาติ เช่น ฝ้ายและลินิน พึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาและจีนเป็นหลัก จากข้อจำกัดด้านการเพาะปลูกในไทยที่ทำให้ผลิตวัตถุดิบไม่เพียงพอต่อการใช้งานในระดับอุตสาหกรรม 2) การปั่นด้ายและสิ่งทอ (Yarn and textile) เป็นอุตสาหกรรมขั้นกลางน้ำ ซึ่งเป็นขั้นตอนในการนำเส้นใยประดิษฐ์ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นต้นน้ำและเส้นใยธรรมชาติที่นำเข้าจากต่างประเทศมาผ่านกระบวนการปั่นเป็นเส้นด้าย ถักทอเป็นผ้าผืน ตลอดจนนำไปฟอก ย้อม หรือพิมพ์สีและลวดลาย ก่อนนำไปใช้ในงานในอุตสาหกรรมขั้นปลายน้ำ และ 3) การผลิตสิ่งทออื่นๆ และเครื่องนุ่งห่ม (Apparel) เป็นอุตสาหกรรมขั้นปลายน้ำ ซึ่งครอบคลุมการผลิตสินค้าขั้นปลายหลายประเภท อาทิ สิ่งทอฟังก์ชั่นและเทคนิค ซึ่งเป็นสิ่งทอที่มีรูปแบบเฉพาะตามประเภทการใช้งาน เช่น สิ่งทอทางการแพทย์ สิ่งทอที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นต้น รวมถึงสิ่งทอเพื่อใช้ในครัวเรือน เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย (รูปที่ 1)

ในอดีต อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นหนึ่งในภาคการผลิตที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันมีความสำคัญลดลง โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าระหว่างปี 2550-2559 เฉลี่ยอยู่ที่ 200,000 ล้านบาทต่อปี สูงเป็นลำดับที่ 9 ของสินค้าส่งออกภาคอุตสาหกรรม และมีการจ้างงานเฉลี่ยระหว่างปี 2556-2559 ราว 5.7 แสนคน สูงเป็นลำดับที่ 2 ของการผลิตภาคอุตสาหกรรมรองจากหมวดอาหารและเครื่องดื่ม อย่างไรก็ตามในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าการจ้างงานยังคงสูงเป็นลำดับที่สองของภาคการผลิต แต่อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีความสำคัญทางเศรษฐกิจลดลงจากความท้าทาย 3 ด้าน ได้แก่
(1) ความสามารถในการแข่งขันด้อยกว่าประเทศผู้ผลิตในภูมิภาคเดียวกัน โดยเฉพาะสินค้าขั้นปลายน้ำและกลางน้ำ จากการถูกระงับสิทธิพิเศษทางภาษีและต้นทุนค่าแรงที่สูงกว่าประเทศในภูมิภาค ข้อมูลสำมะโนอุตสาหกรรมชี้ให้เห็นว่ามูลค่าเพิ่มจากการผลิต (Value added) ของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มปรับลดลง โดยมีสาเหตุหลักจากการส่งออกสินค้าในหมวดอื่นๆที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ขณะที่มูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดส่งออกของไทยปรับลดลงเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค (รูปที่ 2) สอดคล้องกับ NRCA Index1 (Normalized Revealed Competitiveness Advantage) ซึ่งแสดงระดับความสามารถในการแข่งขันจากการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคที่ปรับลดลงเช่นกัน (รูปที่ 3)


อย่างไรก็ตาม ไทยยังคงมีความได้เปรียบในการส่งออกสินค้าขั้นต้นน้ำ ขณะที่เสียเปรียบในสินค้าขั้นกลางและปลายน้ำ เนื่องจากไทยมีการผลิตปิโตรเคมีภัณฑ์ซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตเส้นใยประดิษฐ์สำหรับสินค้าขั้นต้นน้ำ ขณะที่สินค้าขั้นปลายน้ำและสินค้าขั้นกลางน้ำสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะในปี 2553 หลังจากที่ไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (Generalized System Preferences: GSP) สำหรับการส่งออกสินค้าหลายรายการรวมถึงเครื่องนุ่งห่มไปยังสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มสำคัญ เนื่องจากรายได้ประชาชาติต่อจำนวนประชากร (Per Capita Income) สูงกว่าเกณฑ์ของสหภาพยุโรปที่ให้สิทธิ์ GSP กับประเทศในกลุ่มรายได้น้อย ส่งผลให้อัตราภาษีส่งออกสินค้ากลุ่มเครื่องนุ่งห่มของไทยอยู่ที่ร้อยละ 12 ขณะที่ประเทศในภูมิภาค เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และเมียนมาร์ได้รับอัตราภาษีที่ร้อยละ 0 และจากการถูกระงับสิทธิ์ GSP ในปี 2559 ในการส่งออกสินค้าหลายรายการรวมถึงเครื่องแต่งกายไปยังสหรัฐอเมริกาจากประเด็นด้านสิทธิแรงงาน ขณะที่กัมพูชาและเมียนมาร์ยังคงได้รับการยกเว้นภาษีข้างต้น (รูปที่ 4) ซึ่งสร้างความกังวลให้กับผู้ประกอบการไทยถึงส่วนแบ่งตลาดสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยที่มีแนวโน้มทยอยลดลงในทั้ง 2 ตลาดส่งออกสำคัญ

นอกจากนี้ ต้นทุนค่าแรงของไทยที่สูงกว่าประเทศในภูมิภาค เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกรวมถึงผู้ผลิตรายกลางถึงใหญ่บางส่วนของไทยตัดสินใจตั้งฐานการผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากการผลิตสินค้าขั้นปลายน้ำโดยมากมีขั้นตอนไม่ซับซ้อน แต่ต้นทุนค่าแรงของไทยสูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคราว 1 เท่าตัว โดยที่ทักษะของแรงงานไทยและประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงกัน จากการสอบถามสมาคมผู้ประกอบการสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มพบว่าผู้ผลิตไทยขนาดกลางถึงใหญ่ที่มีศักยภาพในการขยายฐานการผลิตจำนวนหนึ่งตัดสินใจขยายโรงงานผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน จากความได้เปรียบด้านสิทธิพิเศษทางภาษีส่งออกและต้นทุนค่าแรง โดยบริษัทแม่ที่ตั้งอยู่ในไทยเน้นการผลิตในขั้นตอนที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง เช่น การออกแบบ การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์
(2) ข้อจำกัดด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นธุรกิจ SMEs และรายย่อย ซึ่งมีเงินทุนจำกัดและยังมีการใช้เทคโนโลยีในวงจำกัด ข้อมูลสำมะโนอุตสาหกรรมและการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร2 ชี้ให้เห็นว่าผู้ประกอบการมากกว่าร้อยละ 98 เป็นธุรกิจ SMEs และรายย่อย โดยกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมขั้นกลางและขั้นปลายน้ำ และใช้แรงงานในการผลิตเป็นหลัก ขณะที่จำนวนผู้ประกอบการรายใหญ่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.3 ของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตในขั้นต้นน้ำที่มีสัดส่วนการใช้ทุนต่อแรงงานในระดับสูง ตามกระบวนการผลิตที่มีความซับซ้อนและใช้เครื่องจักรในการผลิตเป็นหลัก เช่น การปั่นเส้นใยจากโพลีเมอร์สังเคราะห์สอดคล้องกับอัตราส่วนการใช้ทุนต่อแรงงาน (Capital to labor ratio)3 ที่แสดงว่าการผลิตขั้นปลายน้ำใช้แรงงานเข้มข้นที่สุดเมื่อเทียบกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด (รูปที่ 5) เนื่องจากการผลิตอาศัยความชำนาญของแรงงานในการตัดเย็บ โดยจากการสอบถามสมาคมผู้ประกอบการพบว่าเครื่องจักรที่มีในท้องตลาดสามารถรองรับการผลิตในระดับใหญ่ มีราคาสูงและต้องนำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น จึงยังมีข้อจำกัดในการจัดหาเครื่องจักรเพื่อรองรับการผลิตระดับเล็กสำหรับผู้ผลิต SMEs ทั้งนี้ การพึ่งพาแรงงานเข้มข้นในการผลิตสินค้าขั้นกลางและปลายน้ำอาจเป็นข้อจำกัดในการปรับเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในระยะข้างหน้า จึงจำเป็นต้องมีการหาแนวทางร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ยกระดับผลิตภาพให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กต่อไป

(3) ความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในประเทศ จากส่วนแบ่งในตลาดโลกที่ลดลง และการเข้ามาแข่งขันของสินค้าจากต่างประเทศที่มีความได้เปรียบด้านราคา จากการสัมภาษณ์สมาคมผู้ประกอบการ พบว่าระยะหลังเริ่มมีการเข้ามาแข่งขันของวัตถุดิบขั้นกลางน้ำ เช่น ผ้าผืน ผ้าพิมพ์ และสินค้าขั้นปลายน้ำ เช่น เครื่องแต่งกายสำเร็จรูป จากผู้ผลิตในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีน เนื่องจากจีนมีผู้ผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่มเกิดใหม่จำนวนมาก ซึ่งมีการผลิตสินค้าในปริมาณมากด้วยวัสดุคุณภาพด้อยกว่าเพื่อลดต้นทุนสินค้า ขณะที่ตลาดผู้บริโภคในประเทศจีนที่เป็นกลุ่มชนชั้นกลางเติบโตอย่างรวดเร็วและนิยมซื้อสินค้าคุณภาพดีจากแบรน์ซึ่งเป็นที่รู้จักในตลาดโลกมากกว่าแบรนด์ท้องถิ่น ทำให้สินค้าส่วนเกินจากผู้ผลิตท้องถิ่นถูกนำมาขายผ่านช่องทาง e-commerce ด้วยราคาที่อยู่ในระดับต่ำให้ผู้ซื้อในต่างประเทศ ซึ่งในมุมของประเทศผู้ผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่มีห่วงโซ่อุปทานขั้นต้นถึงปลายน้ำอย่างประเทศไทย หากมีการนำเข้าสินค้าขั้นกลางและปลายน้ำจากต่างประเทศมากขึ้นก็อาจส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตวัตถุดิบในประเทศและความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานในไทยได้เช่นกัน
3. โอกาสและความท้าทายของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยในระยะข้างหน้า
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยไม่เพียงต้องเผชิญกับความท้าทายเดิม แต่ยังพบกับความท้าทายใหม่จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 19 มาตรการป้องกันการแพร่ระบาด มาตรการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศ การเรียนและทำงานจากที่บ้าน ตลอดจนการลดค่าใช้จ่ายในสินค้าที่ไม่จำเป็น มีส่วนสำคัญที่ทำให้ความต้องการและการผลิตสิ่งทอและเครื่องแต่งกายทั่วโลกลดลง อย่างไรก็ดี สิ่งทอทางการแพทย์ เช่น หน้ากากอนามัยที่ผลิตจากผ้าไม่ถักทอ ชุดปิดคลุมทั้งตัวและชุด PARP4 ได้รับอานิสงส์จากอุปสงค์ทั่วโลกที่เร่งตัวขึ้น โดยช่วงครึ่งหลังของปี 2563 มูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยมีแนวโน้มทยอยปรับดีขึ้นตามอุปสงค์ต่างประเทศหลังจากเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดในหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ในประเทซึ่งสะท้อนจากยอดขายในประเทศยังต่ำกว่าระดับก่อนโควิค-19 จากภาคการท่องเที่ยวและกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศที่ยังคงฟื้นตัวไม่เต็มที่ (รูปที่ 6)
กระแสด้านสุขอนามัย สิ่งแวดล้อม สังคมสูงวัย และเทคโนโลยี จะเป็น Megatrends หลักที่เป็นโอกาสของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่มในระยะข้างหน้า (รูปที่ 7) โควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญด้านสุขอนามัยมากขึ้น สะท้อนจากความต้องการของผลิตภัณฑ์ด้านสุขอนามัยและความสะอาด อาทิ หน้ากากอนามัย น้ำยาฆ่าเชื้อบนผิวหนังและพื้นผิวสัมผัส ตลอดจนอุปกรณ์ลดความเสี่ยงจากการสัมผัสต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงโควิด-19 และแนวโน้มของการเกิดโรคระบาดที่อาจเพิ่มขึ้นจากภาวะโลกร้อน ผลิตภัณฑ์สิ่งทอเพื่อสุขอนามัยจึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในระยะต่อไป นอกจากนี้ ความกังวลต่อภาวะโลกร้อนและกระแสรักษ์โลกเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคมากขึ้น โดยพบว่าผู้บริโภคในกลุ่ม Millennial และ Gen Z ให้ความสำคัญกับสินค้าที่คำนึงถึงความยั่งยืนและรักษาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งผู้บริโภคในกลุ่มนี้บางรายยินดีซื้อสินค้าที่มีความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แม้ว่าจะมีราคาสูงกว่าสินค้าทั่วไปในท้องตลาด ตลอดจนในระยะหลังเกิดกระแสรณรงค์ลดการซื้อสินค้าแฟชั่นวงจรสั้นเพื่อลดการผลิตส่วนเกินและขยะจากเสื้อผ้าเหลือใช้ที่สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมสูง5 ทั้งนี้ ประเด็นที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งสำหรับไทยแลหลายประเทศรวม คือ ลักษณะทางประชากรศาสตร์ (Demographics) ที่กำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์และอัตราการเกิดที่น้อยลง ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ภาคการผลิตมีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเร็วขึ้น เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอนาคต นอกจากนี้ สังคมสูงวัยอาจเป็นโอกาสในตลาดสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มที่ตอบโจทย์สำหรับผู้สูงวัยได้เช่นกัน

4. บทสรุปและข้อเสนอแนะเพื่อให้อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยไปต่ออย่างยั่งยืน
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยเผชิญกับความท้าทายจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมยังคงเผชิญกับความท้าทายเดิมที่เป็นข้อจำกัดต่อการแข่งขันและการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของอุตสาหกรรม รวมไปถึงทิศทางการผลิตและบริโภคใหม่ตามกระแส Megatrends การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างจึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
ปัจจุบันผู้ประกอบการสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทออยู่ระหว่างการร่วมพัฒนาระบบนิเวศของอุตสาหกรรม ผ่านการ (1) พัฒนาและกำหนดมาตรฐานสินค้า เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ไม่มีมาตรฐาน และรักษาความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานสิ่งทอไทยในระยะยาว อาทิ การจัดทำตรารับรองคุณภาพ Thailand textile สำหรับสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ใช้วัตถุดิบจากในประเทศในสัดส่วนที่มากกว่าร้อยละ 40 ขึ้นไป การจัดทำมาตรฐาน Smart fabric สำหรับสิ่งทอในการป้องกันเชื้อโรค ตลอดจนสนับสนุนให้ภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเพื่อใช้ในหน่วยงานรัฐ สินค้าที่ผลิตในประเทศไทย (Made in Thailand) ซึ่งพิจารณาจากแหล่งกำเนิดของสินค้าตามหลักสากล ได้แก่ เส้นด้ายที่ผลิตในประเทศไทย ผ้าผืนที่ผลิตในประเทศไทย (2) ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านการจัดทำแพลตฟอร์มออนไลน์ Textile square ที่รวบรวมข้อมูลผู้ผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในไทย เพื่อเพิ่มโอกาสในการจัดหาวัตถุดิบจากภายในประเทศ โดยปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมกว่า 1,000 ราย รวมถึงการใช้ Sharing economy ในการผลิตและการพัฒนาธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการและสถาบันฯ ไปจนถึงการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับผู้ผลิตในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อหาแนวทางยกระดับประสิทธิภาพการผลิตให้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มต่อไป
อย่างไรตาม ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มยังคงต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากภาครัฐเพื่อสร้างระบบนิเวศและรักษาความสามารถในการแข่งขัน 4 ด้าน6 ได้แก่ (1) การจัดตั้งระบบทดสอบคุณภาพสินค้า (Laboratory) ที่ได้มาตรฐานสากล เนื่องจากปัจจุบันสถานที่ทดสอบคุณภาพสินค้าที่สามารถออกใบรับรองตามมาตรฐานสากลเป็นของบริษัทต่างชาติเกือบทั้งหมด ซึ่งเป็นคอขวดด้านการผลิตเนื่องจากสถานที่ทดสอบมีจำนวนน้อยจึงใช้เวลานานในการออกใบรับรองคุณภาพ ขณะที่ระบบทดสอบคุณภาพสินค้าที่เป็นของไทยยังมีข้อจำกัดในการออกใบรับรองที่ได้มาตรฐานสากล รวมถึงยังคงมีความเสี่ยงต่อการถูกปฏิเสธการรับสินค้าจากประเทศปลายทาง (2) การเจรจาข้อตกลงทางการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าหลัก เช่น สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันสินค้ากลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยเสียภาษีส่งออกสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน สร้างความกังวลต่อส่วนแบ่งตลาดของไทยที่อาจลดลงอย่างต่อเนื่องในประเทศคู่ค้าหลักหากไม่มีข้อตกลงทางการค้าเช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ (3) ภาครัฐอาจพิจารณาแนวทางให้การสนับสนุนเพิ่มเติมในสาขาของอุตสาหกรรมสิ่งทอเครื่อง
นุ่มห่มที่มีมูลค่าเพิ่มสูง มีแนวโน้มเติบโตดี และสอดคล้องกับกระแส Megatrends อาทิ กลุ่มสิ่งทอฟังก์ชั่นและเทคนิค เช่น สิ่งทอทางการเกษตรและประมง (Agro textiles) สิ่งทอทางการแพทย์ สิ่งทอที่ใช้ในเชิงอุตสาหกรรมอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความต้องการในตลาดโลกสูง และสามารถต่อยอดเทคโนโลยีในการใช้เส้นใยต่างๆไปประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ เช่น การผลิตแปรงสีฟัน และแปรงทาสี เป็นต้น รวมไปถึง (4) สนับสนุนให้สถาบันการศึกษามีส่วนร่วมในการยกประสิทธิภาพการผลิตสำหรับผู้ประกอบการขนาด SMEs และรายย่อย อาทิ ร่วมหาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผ่านการพัฒนาเครื่องจักรขนาดเล็กสำหรับใช้ในการผลิตรายย่อย เป็นต้น
โดยสรุป การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกทั้งจากกระแส Megatrends ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขอนามัย สังคมสูงวัย เทคโนโลยี ความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านการผลิตและการจัดการห่วงโซ่อุปทานเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายต่อการขับเคลื่อนของภาคอุตสาหกรรมไทยในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มซึ่งเป็นภาคการผลิตที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย ที่กำลังเผชิญความท้าทายจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยสามารถก้าวต่อไปในกระแสของการเปลี่ยนแปลงได้อย่างยั่งยืน
1 ดัชนี NRCA (Normalized Revealed Comparative Advantage) วิเคราะห์ศักยภาพในการส่งออกของสินค้าชนิดหนึ่งๆ เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของโลก โดยขจัดผลของมูลค่าการส่งออกแต่ละประเทศและมูลค่าการส่งออกระหว่างปี โดยค่าของดัชนี NRCA > 0 หมายถึงสินค้าที่ส่งออกมีความได้เปรียบเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของโลก และหาก NRCA < 0 หมายถึงสินค้าที่ส่งออกไม่มีความได้เปรียบเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของโลก
2 ข้อมูลสำมะโนอุตสาหกรรมล่าสุด ปี 2559 โดยมีรอบการจัดทำทุก 5 ปี และแบบสำรวจภาวะการทำงานของประชากรปี 2554
3 อัตราส่วนการใช้ทุนต่อแรงงาน (Capital to labor ratio) เป็นอัตราส่วนที่วัดมูลค่าการใช้ทุนและแรงงานต่อการผลิตสินค้าหนึ่งหน่วย
4 PARP (Power Air Purifying Respiratory) ซึ่งเป็นชุดสวมป้องกันที่มีพัดลมดูดอากาศในตัวเพื่อลดการสัมผัสกับเชื้อโรคและไวรัส
5 UN Environment Programme ชี้ว่าในปี 2564 อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 2-8% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก และมลภาวะทางน้ำที่ปล่อยจากกระบวนการฟอกย้อมคิดเป็นร้อยละ 20 ของน้ำเสียจากภาคอุตสาหกรรมที่ปล่อยลงแหล่งน้ำทั่วโลก นอกจากนี้เสื้อผ้าจากอุตสาหกรรม Fast fashion ยังกลายเป็นขยะเหลือใช้ถึงปีละ 92 ล้านตัน
ุ6 จากการสัมภาษณ์สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย สมาคมอุตสาหกรรมทอผ้าไทย กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอสภาอุตสาหกรรม และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ
References
Deloitte. (2022, May). The Deloitte Global 2022 Gen Z & Millennial Survey. Retrieved from https://www2.deloitte.com/content/dam/Deloitte/global/Documents/deloitte-2022-genz-millennial-survey.pdf
Imran A. et al. (2021, December 1). Mckinsey Global Institute. Retrieved from https://www.mckinsey.com/industries/retail/our-insights/state-of-fashion
Khait, A. (2019, December 19). A Market of Cheap Chinese Clothing: Shopping Traps And Ways to Avoid Them. Retrieved from All Things Fashion Fun: https://medium.com/all-things-fashion-fun/df9d0848f674
Mulhern, O. (2021, October 27). The 9 Essential Fast Fashion Statistics. Retrieved from EARTH.ORG: https://earth.org/data_visualization/the-9-biggest-fast-fashion-statistics/
UN Environment Programme. (2021, June 28). UNEP. Retrieved from https://www.unep.org/news-and-stories/story/putting-brakes-fast-fashion
จิรัฐ เจนพึ่งพร, พัชรพร ลีพิพัฒน์ไพบูลย์, รุจา อดิศรกาญจน์ (2560, กันยายน 14). ประเด็นชวนคิด: 6 Megatrends
กับเศรษฐกิจไทย. Retrieved from ธนาคารแห่งประเทศไทย: https://www.bot.or.th/Thai/
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม. (2561, มกราคม 1). แผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรายสาขาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม. Retrieved from https://www.sme.go.th/upload/mod_download/อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม.pdf
ศุภชลาศัย, ศ. (2539, พฤศจิกายน). ลู่ทางและโอกาสการส่งออกและผลกระทบจากการมีเขตการค้าเสรีอาเซียน สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอ. Retrieved from สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ: https://tdri.or.th/2013/02/a52/
บทความนี้สำเร็จลุล่วงได้ด้วยดีจากการได้รับคำปรึกษาที่ดีจาก คุณปราณี สุทธศรี คุณนฤมล พูลภักดี และ คุณธิติ เกตุพิทยา ตลอดจนทีม FAQ Editor ดร.เสาวณี จันทะพงษ์ และ ดร. ณชา อนันต์โชติกุล สำหรับความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์และช่วยให้งานศึกษามีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ผู้เขียนขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้
Contact author:
ศิรดา ศิริเบญจพฤกษ์
ผู้วิเคราะห์อาวุโส
ฝ่ายวางแผนองค์กร
สายยุทธศาสตร์และวางแผนองค์กร
siradas@bot.or.th