แรงงานเมียนมาสามารถเลือกโอนเงินกลับประเทศผ่านผู้ให้บริการ 2 ประเภทหลัก
1) ผู้ให้บริการในระบบที่กำกับดูแลโดย ธปท. (Formal channel) คือ ธนาคารและ MT ที่ให้บริการโอนเงินกลับประเทศแก่แรงงานเมียนมาผ่านหลายช่องทาง เช่น สาขาธนาคาร ตู้ ATM/Kiosk mobile application
การโอนเงินผ่านธนาคาร ในปัจจุบันธนาคารบางแห่งขยายช่องทางให้บริการแก่แรงงานเมียนมาให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปรับลดค่าธรรมเนียมเพื่อจูงใจแรงงานเมียนมาให้เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นด้วยการเชื่อมต่อการโอนเงินโดยตรงกับธนาคารในเมียนมา ทำให้ลดค่าธรรมเนียมลงเหลือเพียง 0-150 บาทต่อครั้ง หรือร่วมมือกับเครือข่ายโอนเงินระหว่างประเทศ เช่น Western Union, MoneyGram ซึ่งล้วนทำให้ผู้รับเงินปลายทางได้รับเงินเร็วกว่าการโอนเงินผ่านระบบธนาคารปกติ ซึ่งมีค่าธรรมเนียมที่แพงกว่ามาก หรือประมาณ 1,100 – 1,500 บาท ทั้งนี้ ธนาคารบางแห่งเริ่มเสนอบริการที่ผู้รับเงินปลายทางสามารถเลือกรับเงินได้ทั้งแบบโอนเข้าบัญชี เงินสดที่สาขา และส่งเงินให้ถึงบ้าน (Delivery) อย่างไรก็ตามการโอนเงินผ่านธนาคารยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากความไม่สะดวกของผู้รับเงินปลายทางในการเดินทางไปรับเงินที่ธนาคารในเมียนมาซึ่งอยู่ห่างไกลจากผู้รับปลายทาง เนื่องจากสาขาธนาคารยังไม่ครอบคลุมในทุกพื้นที่ สะท้อนได้จากสถิติด้าน Financial inclusion1 ในปี 2561 พบว่าเมียนมามีธนาคารเพียง 5.1 สาขาต่อประชากรผู้ใหญ่ 100,000 คน ในขณะที่ไทยมี 11.7 สาขาต่อประชากรผู้ใหญ่ 100,000 คน
สำหรับการโอนเงินผ่าน MT มีค่าธรรมเนียมใกล้เคียงกับธนาคาร คือ 0-160 บาทต่อครั้ง โดย MT บางแห่งได้อำนวยความสะดวกให้แก่แรงงานเมียนมาในไทยเพิ่มขึ้น เช่น เปิดสาขาให้บริการใกล้กับสถานที่ที่แรงงานเมียนมาทำงาน สื่อสารด้วยภาษาเมียนมา มีจุด cash out ในเมียนมา ในรูปแบบ Mobile agent2 ที่ผู้รับปลายทางสามารถรับเงินได้ทันทีกระจายอยู่ทั่วประเทศมากกว่า 4,000 จุด (ณ สิ้นปี 2563) และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต
จากข้อมูลมูลค่าธุรกรรมโอนเงินกลับของแรงงานเมียนมาผ่านธนาคาร และ MT ในปี 2561-2563 (รูปที่ 1) พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสังเกต คือ ในปี 2563 การโอนเงินผ่านธนาคารเติบโตอย่างก้าวกระโดดและสูงกว่า MT เกินเท่าตัว จากการรุกตลาดของธนาคารแห่งหนึ่งที่คิดค่าธรรมเนียมต่ำ ให้บริการผ่าน ATM และสาขา และผู้รับเงินปลายทางได้รับเงินภายในวันทำการถัดไป โดยเลือกรับได้ทั้งโอนเข้าบัญชี เงินสดที่สาขา และส่งถึงบ้าน (Delivery) จึงคาดว่าปัจจัยที่เพิ่มความสะดวกดังกล่าว มีส่วนสนับสนุนให้แรงงานเมียนมาเข้ามาใช้บริการในระบบเพิ่มขึ้น

2) ผู้ให้บริการที่ไม่เป็นทางการ (Informal channel) หรือผ่านนายหน้า
Kubo (2015) พบว่าการโอนเงินผ่านช่องทางที่ไม่เป็นทางการ (รูปที่ 2) แรงงานเมียนมาสามารถจ่ายเงินให้นายหน้าได้ 3 ช่องทาง ได้แก่ โอนเงินผ่านธนาคารในไทย เดินทางไปจ่ายเงินให้นายหน้า หรือนายหน้ามารับเงินจากแรงงาน และผู้รับเงินในเมียนมาสามารถรับเงินจากนายหน้าได้ 3 ช่องทาง ได้แก่ ไปรับเงินที่ธนาคาร (ไม่ต้องมีบัญชีธนาคาร) เดินทางไปรับเงินจากนายหน้า หรือนายหน้านำเงินมาให้ผู้รับที่บ้าน ซึ่งแยกนายหน้าได้ 3 ประเภทหลัก ดังนี้
a. นายหน้ามีจุดให้บริการทั้งในประเทศไทย และเมียนมาเป็นของตนเอง (หรือครอบครัว)
จุดให้บริการอาจเป็นร้านค้า หรือเป็นเพียงตัวบุคคลจะมีทุนสำรอง (working capital) อยู่ในเมียนมา จึงไม่มี
การเคลื่อนย้ายเงิน ทำให้ผู้รับเงินในเมียนมาได้รับเงินทันที เมื่อมีคำสั่งโอนเงินจากไทย (อาจสื่อสารผ่านข้อความหรือโทรศัพท์) (รูปที่ 3)
b. นายหน้าของ 2 ประเทศ อาศัยความเชื่อใจซึ่งกันและกัน
นายหน้าของ 2 ประเทศ จะใช้วิธี netting ระหว่างด้านโอนเงินออก (แรงงานเมียนมาโอนเงินกลับประเทศ) และด้านรับเงินโอน (การชำระเงินค่าสินค้าของผู้นำเข้าสินค้าจากไทยนอกระบบ) ซึ่งต้องอาศัยความเชื่อใจอย่างมาก (รูปที่ 4)
c. นายหน้าอาศัยเครือข่ายของธนาคารพาณิชย์
นายหน้าจะเปิดบัญชีไว้ทั้ง 2 ประเทศ โดยใช้บัญชีในไทยเป็นจุดรับเงินจากแรงงานเมียนมาที่อยู่ในไทย และใช้บัญชีในเมียนมาเพื่อโอนเงิน ไปยังสาขาธนาคารที่ใกล้ผู้รับเงินมากที่สุด และผู้รับเงินปลายทางจะเดินทางมารับเงินที่ธนาคารในเมียนมา (รูปที่ 5)
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบจำนวนเงินบาทที่ใช้ในการโอนเงินจากไทยไปเมียนมาระหว่างผู้ให้บริการในระบบ ในช่วงเดือนมกราคม 2563 และนายหน้า3 ด้วยมูลค่า 200,000 จัต (ประมาณ 4,100 – 4,200 บาท) ซึ่งเป็นมูลค่าใกล้เคียงที่แรงงานเมียนมาส่วนใหญ่โอน4 (รูปที่ 6) พบว่าการโอนเงินผ่านนายหน้าจะใช้เงินบาทรวมประมาณ 4,144 – 4,450 บาทซึ่งเป็นช่วงกว้างที่สุด ในขณะที่การโอนผ่านธนาคาร จะใช้เงินบาทรวมประมาณ 4,150 – 4,300 บาท และหากโอนผ่าน MT จะใช้เงินบาทรวมประมาณ 4,120 – 4,280 บาท และเป็นช่องทางที่ใช้เงินบาทน้อยที่สุด (ถูกที่สุด)

นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงต้นทุนการโอนเงินไปเมียนมาตามข้อมูลของ World bank (Remittance prices worldwide) ซึ่งครอบคลุมทั้งผู้ให้บริการที่เป็น MT และธนาคาร พบว่าในช่วงปี 2563 – 2564 มีต้นทุนการโอนเงิน (ตามสมมติฐานมูลค่าเงินโอนที่ 200 ดอลลาร์ สรอ. หรือเทียบเท่า 7,100 บาท) เฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 11.8 ซึ่งเกิดจากต้นทุนโอนเงินผ่านระบบธนาคารปกติที่มีค่าธรรมเนียมต่อครั้งสูง แต่เมื่อพิจารณาเฉพาะการโอนเงินผ่าน MT พบว่าต้นทุนดังกล่าวต่ำกว่ามาก และมีแนวโน้มที่ลดลงตั้งแต่ปี 2562 ที่ MT มีการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการโอนเงินผ่าน MT ทุกรายมีค่าต่ำกว่าร้อยละ 55 อย่างไรก็ตาม จากหนึ่งในเป้าหมายย่อย6 ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติที่สนับสนุนให้แต่ละประเทศลดต้นทุนการโอนเงินกลับของแรงงานย้ายถิ่นให้ได้ต่ำกว่าร้อยละ 3 ภายในปี 2573 นั้น พบว่าจากข้อมูลในไตรมาส 4 ปี 2564 มี MT เพียงบางแห่งเท่านั้นที่สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ และถ้าหากเทียบมูลค่าเงินโอนต่อครั้งให้ใกล้เคียงกับข้อมูลที่ ธปท. ได้รับจากแบบสอบถามคือประมาณ 4,100 – 4,200 บาทนั้น จะทำให้เหลือ MT เพียงรายเดียวเท่านั้นที่มีต้นทุนการโอนเงินต่ำกว่าร้อยละ 373. ผลสำรวจพฤติกรรมกลุ่มตัวอย่างแรงงานเมียนมา
กลุ่มตัวอย่างแรงงานเมียนมาที่ตอบแบบสอบถามในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีทั้งหมด 770 ราย โดย 3 ใน 4 ของจำนวนดังกล่าวเป็นเพศหญิง และเกือบกึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 46) อายุไม่เกิน 30 ปี โดยร้อยละ 70 ทำงานในประเทศไทยไม่นาน (ต่ำกว่า 6 ปี) และร้อยละ 72 มีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 10,000 บาท นอกจากนี้พบว่ากลุ่มตัวอย่างมาจากเขตตะนาวศรีมากที่สุด เนื่องจากมีพรมแดนติดกับประเทศไทย รองลงมาเป็น พะโค มาเกว และมอญ ตามลำดับ ซึ่งเป็นเขต/รัฐที่มีประชากรอยู่อย่างหนาแน่น และมีความเป็นสังคมเมืองมากกว่าบริเวณอื่นในเมียนมา
แรงงานเมียนมากว่าร้อยละ 53 โอนเงินกลับประเทศเป็นประจำทุกเดือน โดยวัตถุประสงค์ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 51) เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นในชีวิตประจำวัน ค่าใช้จ่ายการศึกษา (ร้อยละ 20) และใช้หนี้ (ร้อยละ 11) ส่วนที่เหลือส่วนใหญ่นำไปลงทุน หรือฝากธนาคาร สำหรับมูลค่าเงินโอนต่อครั้งพบว่า อยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 3,800 บาท และมีการกระจายตัวตามรูปที่ 7 โดยคาดว่ามูลค่าเงินโอนคิดเป็นประมาณร้อยละ 30 – 40 ของรายได้ต่อเดือน จากที่กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 72 มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 10,000 บาท

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างเกี่ยวกับปัจจัยที่ใช้ตัดสินใจเลือกใช้บริการโอนเงินกลับประเทศ พบว่าส่วนใหญ่(ร้อยละ 74) ให้ความสำคัญกับความสะดวกของผู้รับเงินในเมียนมา มากกว่าความสะดวกของผู้ส่งเงิน จึงเลือกช่องทางโอนเงินผ่านนายหน้าเป็นอันดับ 1 (ร้อยละ 44) รองลงมาผ่าน MT (ร้อยละ 35) และ ธนาคาร (ร้อยละ 15) (รูปที่ 8) โดยในแต่ละช่องทางโอนเงินจะมีลักษณะการรับเงินในเมียนมา ดังนี้ กรณีผ่านนายหน้า กว่าครึ่งของผู้รับในเมียนมา (ร้อยละ 55) จะมีนายหน้าส่งเงินให้ถึงบ้าน กรณีผ่าน MT หรือธนาคาร ส่วนใหญ่ผู้รับเงินในเมียนมาต้องไปรับเงินเองที่ ร้านค้า หรือธนาคาร
มีข้อสังเกตว่ามูลค่าการโอนเงินผ่านธนาคาร ในความเป็นจริงน่าจะต่ำกว่านี้ เนื่องจากที่กลุ่มตัวอย่างตอบมาว่าใช้การโอนเงินผ่านธนาคาร อาจไม่ใช่การใช้บริการของธนาคารในการโอนเงินข้ามประเทศ แต่เป็นการใช้บริการของธนาคารในการโอนเงินให้นายหน้าในไทย เนื่องจากคำตอบเกี่ยวกับผู้รับเงินปลายทางที่สามารถไปรับเงินที่ร้านค้า หรือมีนายหน้านำเงินมาให้ได้ หรือแม้แต่การไปรับเงินที่ธนาคารปลายทาง ก็อาจเป็นการโอนเงินผ่านนายหน้าได้เช่นกัน ตามที่กล่าวในส่วนที่ 2
เมื่อเจาะลึกลงไปเฉพาะกลุ่มที่เลือกโอนเงินผ่านนายหน้าและมีการตอบรายละเอียดในส่วนนี้ครบถ้วน ประมาณ 320 ราย พบว่ามูลค่าเงินโอนเฉลี่ยสูงกว่าภาพรวมเล็กน้อย ที่ประมาณ 4,400 บาทต่อครั้ง หรือประมาณ 210,000 จัตต่อครั้ง (รูปที่ 9) เสียค่าธรรมเนียม 20 – 50 บาทต่อครั้ง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่โอน ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากจำนวนเงินที่แรงงานเมียนมาโอนกลับประเทศมีมูลค่าไม่สูง โดยเกือบร้อยละ 40 ของแรงงานกลุ่มนี้ มีนายหน้าในประเทศไทยเดินทางมารับเงินด้วยตนเอง รองลงมาแรงงานไปโอนที่ธนาคาร และโอนผ่าน ATM ตามลำดับ (รูปที่ 10)
นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างที่โอนเงินผ่านนายหน้า มากกว่าร้อยละ 90 รู้จัก “นายหน้า” ผ่านเพื่อนโดยการบอกต่อ และผู้รับเงินปลายทางส่วนใหญ่ได้รับเงินเต็มจำนวนตามที่ตกลงกันไว้ไม่เกิน 1 วัน (รูปที่ 11)
รับการรับรู้ของกลุ่มตัวอย่างแรงงานเมียนมาต่อช่องทางโอนเงินผ่านผู้ให้บริการ 6 ช่องทาง (ประกอบด้วย MT 3 ราย / ธนาคาร / นายหน้า / เพื่อน) พบว่า การโอนเงินกลับประเทศผ่าน นายหน้าและ MT บางแห่ง ได้รับคะแนนใกล้เคียงกัน 3 ด้าน ได้แก่ ความสะดวกของผู้โอนเงิน ความสะดวกของปลายทาง และความรวดเร็ว แต่ MT บางแห่งมีคะแนนด้านค่าธรรมเนียมมากกว่า หรือแสดงว่ามีค่าธรรมเนียมต่ำกว่า เนื่องจากปัจจุบัน MT บางแห่งให้บริการโดยไม่คิดค่าธรรมเนียม ในขณะที่นายหน้า ได้คะแนนดีกว่าในด้านใช้เอกสารน้อย หรือไม่ต้องใช้เอกสารในการทำธุรกรรม (รูปที่ 12)
ในทางกลับกันพบว่าปัจจัย 2 อันดับแรกที่ทำให้แรงงานเมียนมาไม่โอนเงินผ่านผู้ให้บริการในระบบ (รูปที่ 13) ในกรณีช่องทาง MT เกิดจากปัจจัยด้านผู้ส่ง คือ สถานที่ตั้ง MT อยู่ห่างจากแรงงาน และแรงงานกลัวสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ไม่รู้เรื่อง ในขณะที่ช่องทางธนาคารนั้น เกิดจากผู้รับเงินปลายทาง ที่ไม่มีบัญชีธนาคาร และอยู่ห่างจากธนาคาร
สำหรับกลุ่มตัวอย่างแรงงานเมียนมาที่เคยโอนเงินผ่านผู้ให้บริการในระบบ (รูปที่ 14) พบว่า ร้อยละ 69 เคยใช้บริการโอนเงินกลับประเทศผ่าน MT ในกลุ่มนี้ประมาณร้อยละ 35 เลิกใช้บริการแล้ว เนื่องจากความยุ่งยากในการใช้บริการ และแรงงานเมียนมาร้อยละ 58 เคยใช้บริการโอนเงินกลับประเทศผ่านธนาคาร (อาจมีบางส่วนเป็นการโอนเงินเข้าบัญชีนายหน้าที่อยู่ในไทยตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น) ในกลุ่มนี้ประมาณร้อยละ 41 เลิกใช้บริการแล้ว เนื่องจากความยุ่งยากในการใช้บริการเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ แรงงานที่โอนเงินผ่าน “ธนาคาร” และ “MT” ยังคงนิยมใช้บริการโอนเงินผ่านช่องทางดั้งเดิม (physical premises) คือ สาขาของธนาคาร และ MT หรือตู้ ATM เนื่องจากช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนักในขณะนี้
4. บทสรุป
1) สาเหตุที่แรงงานเมียนมามักเลือกโอนเงินกลับประเทศผ่านนายหน้ามากกว่าโอนเงินผ่านผู้ให้บริการในระบบ เป็นเพราะแรงงานให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านความสะดวกของผู้รับเงินในเมียนมาเป็นหลัก จึงเลือกการโอนเงินกลับประเทศผ่านนายหน้าที่ส่วนใหญ่จะส่งเงินให้ผู้รับถึงบ้าน ด้านผู้ส่งเงินก็มีความสะดวกเช่นเดียวกัน เนื่องจากนายหน้าจะเดินทางมารับเงินเอง หรือแรงงานจะโอนเงินไปบัญชีนายหน้าผ่านสาขาธนาคารและตู้ ATM อีกทั้งแรงงานมีความเชื่อมั่นในนายหน้าสูง เนื่องจากส่วนใหญ่รู้จักนายหน้าผ่านเพื่อนของตนเอง และเกือบทั้งหมดได้รับเงินเต็มจำนวนตามที่ตกลงกันไว้
2) ค่าธรรมเนียมในการโอนเงินกลับประเทศไม่แตกต่างกันมากระหว่างการโอนผ่านนายหน้ากับการโอนเงินผ่านธนาคาร ขณะที่การโอนผ่าน MT บางแห่งอาจมีค่าใช้จ่ายถูกกว่า
3) ปัจจัยที่อาจสนับสนุนให้แรงงานเมียนมาหันมาใช้บริการผ่านผู้ให้บริการในระบบมากขึ้น คือความสะดวก
ในการเข้าถึงช่องทางของผู้ให้บริการ การสื่อสารด้วยภาษาเมียนมา และจุดรับเงินที่ครอบคลุมขึ้นในเมียนมา ดังนั้นหากผู้ให้บริการในระบบสามารถปรับช่องทางและรูปแบบการให้บริการให้ตอบโจทย์ความต้องการให้ดีเท่า หรือดีกว่านายหน้า คาดว่าแรงงานเมียนมาจะหันมาใช้บริการโอนเงินผ่านผู้ให้บริการในระบบเพิ่มขึ้น
ในปัจจุบัน จากมูลค่าธุรกรรมการโอนเงินของแรงงานเมียนมาผ่านผู้ให้บริการในระบบที่มีจำนวน 7.3 พันล้านบาท คิดเป็นเพียงร้อยละ 9 ของมูลค่าเงินโอนของแรงงานเมียนมาทั้งหมด8 อีกทั้งต้นทุนของบริการโอนเงินยังมีช่องว่างที่จะลดลงได้อีกในอนาคต หากเทียบกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่ร้อยละ 3 ซึ่งในปัจจุบันมี MT เพียงรายเดียวที่สามารถบรรลุได้ (กรณีโอนเงินมูลค่า 4,100 – 4,200 บาท) จึงนับเป็นโอกาสทางธุรกิจที่จะจูงใจให้ผู้ให้บริการรายใหม่เข้ามาแข่งขันเพื่อรุกตลาดแรงงานกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต กอปรกับสถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้แรงงานและผู้ให้บริการปรับพฤติกรรมหันมาใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการทำธุรกรรมทางการเงินเพิ่มขึ้น ซึ่งลดข้อจำกัดด้านสถานที่ตั้ง ที่เคยเป็นอุปสรรคในการเข้ามาประกอบธุรกิจของผู้ให้บริการรายใหม่ ในขณะที่โครงสร้างพื้นฐานระบบการเงินของไทยปัจจุบันมีความครอบคลุม รองรับเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ และเข้าถึงได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ
ผลลัพธ์จากการศึกษานี้ทำให้เข้าใจในพฤติกรรมเชิงลึกของแรงงานเมียนมาได้ชัดเจนขึ้นว่าแรงงานเมียนมาเลือกช่องทางโอนเงินกลับประเทศอย่างไร มีปัจจัยอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง รวมถึงศึกษารูปแบบการให้บริการและต้นทุนของการโอนเงินกลับผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่มีในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นข้อมูลสนับสนุนการออกแบบ FX Service Provider Landscape และปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการให้บริการเงินโอนระหว่างประเทศต่อไป เพื่อเอื้อให้ธุรกิจสามารถให้บริการได้ตรงความต้องการและด้วยต้นทุนที่ถูกลง อีกทั้งสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้แรงงานเมียนมามาใช้บริการโอนเงินผ่านผู้ให้บริการในระบบมากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มความปลอดภัย รวมทั้งยกระดับการทำธุรกรรมให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และทำให้การจัดทำสถิติการเงินระหว่างประเทศถูกต้องครบถ้วนยิ่งขึ้นด้วย
1 Financial access survey (2019)
2 เป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมในเมียนมาที่ประชาชนยังไม่สามารถเข้าถึงระบบธนาคาร และโครงสร้างของระบบธนาคารยังไม่พัฒนา โดยผู้ใช้บริการสามารถเก็บเงินไว้ในโทรศัพท์ ผ่านการลงทะเบียนหมายเลขโทรศัพท์ และสามารถถอนเงินได้ผ่าน Mobile agent ที่ได้รับแต่งตั้ง ซึ่งมีจำนวนมากทั่วประเทศ8 สมมติฐานตามจำนวนแรงงานเมียนมาคงค้างในประเทศไทย ณ เดือน ม.ค. 63 (ก่อนช่วงระบาดโควิด-19) มีประมาณ 1.8 ล้านราย มูลค่าเงินโอนกลับประเทศเฉลี่ย 46,000 บาทต่อปีต่อคน (3,800x12) จึงคาดว่า ตลาดโอนเงินกลับประเทศของแรงงานเมียนมามีมูลค่าอยู่ที่ 8.2 หมื่นล้านบาทต่อปี (2.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ.)
References
International Monetary Fund, 2019. Financial access survey, Retrieved from https://data.imf.org/
Koji KUBO, 2015. Evolving informal remittance methods of Myanmar migrant workers in Thailand.
Randall Akee and Devesh Kapur, 2017. Myanmar Remittance.
World bank, 2022. Remittance Prices Worldwide.
วนัญญา พงษ์ทรัพย์, 2558. อุปสรรคการทำธุรกรรมโอนเงินกลับประเทศของแรงงานเมียนมาร์ผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ภายใต้มาตรการออกใบอนุญาตทำงานของประเทศไทย.
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว, 2563. สถิติจำนวนคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักร ประจำเดือนมกราคม 2563.
บทความนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี เพราะความช่วยเหลือและคำแนะนำจากผู้บริหารฝ่ายนโยบายและกำกับการแลกเปลี่ยนเงิน คุณวรรณพร ลักษณะสุต คุณชนานันท์ สุภาดุลย์ คุณทวีวรรณ ปิ่นโต คุณชุติพงศ์ อิทธิภูวดล และทีม FAQ Editor: ดร.ณชา อนันต์โชติกุล และคุณจารุพรรณ วานิชธนันกูล ผู้เขียนขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้