FOCUSED AND QUICK (FAQ) Issue 197
ปรับวิธีเพาะปลูกพืชอย่างไร ให้เพิ่มผลผลิตได้อย่างดี
โดย บัญญัติ คำบุญเหลือ สุเมธ พฤกษ์ฤดี สมบูรณ์ หวังวณิชพันธุ์ เพชรลักษณ์ บุญญาคุณากร และ พิทูร ชมสุข
18 August 2022
“การปลูกพืชตามหลักวิชาการ* เป็นแนวทางที่สอดคล้องกับบริบทของเกษตรกรไทย
เนื่องจากมีต้นทุนต่ำช่วยให้ผลิตภาพสูงขึ้น เกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนได้เร็วกว่าการใช้แนวทางอื่น
และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีช่วยให้เกษตรกรเข้าใจหลักการทำเกษตรแม่นยำ และสะสมทุนเพื่อต่อยอดการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงต่อไป”
ภาคเกษตรมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างมาก เพราะมีการจ้างงานคิดเป็น 1 ใน 3 ของกำลังแรงงานทั้งหมด ปัจจุบันเกษตรกรต้องประสบปัญหาผลิตภาพต่ำ อันนำไปสู่ปัญหารายได้น้อย และคุณภาพชีวิตที่ลดลง ทำให้ไม่มีแรงจูงใจที่จะปรับปรุงคุณภาพการผลิต ดังนั้น การเพิ่มผลิตภาพหรือผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น จึงเป็นทางออกที่ดีที่จะช่วยยกคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น สาเหตุสำคัญของผลิตภาพที่ต่ำมาจาก (1) การบริหารจัดการกระบวนการผลิตและต้นทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพ (2) ปริมาณและคุณภาพปัจจัยการผลิตที่ยังไม่เพียงพอ เช่น น้ำที่ไม่พอและเค็มเกินใช้เพาะปลูก และ (3) การบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อรับมือผลกระทบจากภัยพิบัติที่ไม่ดีพอ ปัจจุบันแม้ว่าจะมีเทคโนโลยีและวิธีการเพิ่มผลิตภาพจำนวนมาก แต่ด้วยบริบทของเกษตรกรไทยในปัจจุบันที่ส่วนใหญ่เป็นรายย่อย เงินทุนจำกัด และสูงอายุ ผู้เขียนจึงเห็นว่า การใช้แนวปฏิบัติในการบริหารจัดการพืชตามหลักวิชาการเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับบริบทของเกษตรกรไทย เนื่องจากมีต้นทุนต่ำ สามารถเพิ่มผลิตภาพให้สูงขึ้น และเกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนได้เร็วกว่าการใช้แนวทางอื่น อีกทั้งยังจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทำให้เกษตรกรเข้าใจหลักการทำเกษตรแม่นยำและสะสมทุนเพื่อต่อยอดเป็นเกษตรแม่นยำโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงต่อไป
1. บทนำ
ภาคเกษตรมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยเป็นอย่างมาก แม้ภาคเกษตรจะคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 ของ GDP แต่มีการจ้างงานกว่า 10 ล้านคนหรือประมาณ 1 ใน 3 ของกำลังแรงงานไทย และส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย ทำให้พัฒนาการในภาคเกษตรมีผลอย่างมากต่อความกินดีอยู่ดีและความ เท่าเทียมกันในสังคมไทยส่วนใหญ่ทั้งประเทศ
หนึ่งในรากเหง้าสำคัญของปัญหารายได้ต่ำ คือ ภาคเกษตรไทยใช้ทรัพยากรไม่มีประสิทธิภาพ เมื่อเทียบกับภาคอื่น ๆ หรือที่เรียกว่ามีผลิตภาพต่ำ นำไปสู่ปัญหารายได้น้อย ต้นทุนสูง ผลผลิตต่อไร่และผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินต่ำ ทำให้ไม่มีแรงจูงใจดึงทรัพยากรที่มีคุณภาพสู่ภาคเกษตร ไม่สามารถแข่งขันกับภาคการผลิตอื่น ๆ และภาคเกษตรประเทศผู้ส่งออกรายใหม่ได้ แม้แต่ข้าวที่ไทยเคยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก ปัจจุบันผลิตภาพต่ำกว่าประเทศคู่แข่งมาก (รูปที่ 1)
ดังนั้น โจทย์ที่สำคัญของภาคเกษตรไทย คือ การเพิ่มผลิตภาพ หรือ ผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น ผลิตภาพที่ดีจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลดลง เพิ่มรายได้และกำไรสุทธิ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นจากการใช้ทรัพยากรเท่าเดิมแต่ได้ผลผลิตมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อเนื่องไปสู่ห่วงโซ่อุปทานภาคอื่น ๆ ที่ได้รับต้นทุนต่อหน่วยที่ลดลง รวมทั้งหากมองในภาพรวมทั้งประเทศ จะช่วยสร้างความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ของชาติได้
สาเหตุสำคัญของผลิตภาพภาคเกษตรที่ต่ำมาจาก (1) การบริหารจัดการกระบวนการผลิตและต้นทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพ (2) ปริมาณและคุณภาพปัจจัยการผลิตที่ยังไม่เพียงพอ เช่น น้ำที่ไม่พอและเค็มเกินใช้เพาะปลูก และ (3) การบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อรับมือผลกระทบจากภัยพิบัติที่ไม่ดีพอ แม้ว่าการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอาจเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนร่วมหลายฝ่าย เช่น ภาครัฐที่เป็นผู้มีส่วนร่วมจัดหาสาธารณูปโภคให้เพียงพอ แต่แกนกลางสำคัญที่สุดของการแก้ปัญหา คือ เกษตรกร ที่เป็นส่วนสำคัญที่สุดในการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงบริหารจัดการผลิตภาพของตัวเอง ซึ่งกระบวนการเพิ่มผลิตภาพส่วนใหญ่ของเกษตรกรจะผ่านการลองผิดลองถูกและสะสมองค์ความรู้ที่เกิดจากเกษตรกรรุ่นต่อรุ่นเพื่อสอนและส่งผ่านวิธีการเพาะปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ภายใต้สภาวะการแข่งขันที่ต้องการความเร็วและผลลัพธ์ที่สูง กระบวนการสะสมองค์ความรู้แบบเดิมอาจช้าเกินไปและทำให้สูญเสียโอกาสการเรียนรู้จากผู้มีทักษะเฉพาะด้านและเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งนี้ ปัญหาหลักของผลิตภาพต่ำที่เกษตรกรสามารถจัดการได้ทันทีอยู่ที่ขั้นตอนกระบวนการผลิต ณ แปลงเพาะปลูก ซึ่งเป็นต้นทางของกระบวนการผลิตทั้งหมด ดังนั้น วิธีปรับแก้จึงต้องแก้ที่ต้นทาง คือ วิธีการเพาะปลูก
ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สนับสนุนการจัดการแปลงเพาะปลูกอยู่หลายระดับ เริ่มตั้งแต่การปรับแนวปฏิบัติในการดูแลพืชให้เป็นไปตามหลักวิชาการสำหรับเกษตรกรที่สามารถทำได้ทันทีและต้นทุนไม่สูง เช่น วิธีการเตรียมดิน เตรียมเมล็ดพันธุ์ การตรวจวัดธาตุอาหารในดินเพื่อใส่ปุ๋ยให้เหมาะสมกับความต้องการของพืช ซึ่งมีหลักฐานสนับสนุนทางวิชาการจำนวนมาก จนถึงเกษตรแม่นยำสูง (Precision Agriculture) ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงเพิ่มความแม่นยำและลดการใช้แรงงานมนุษย์ในขั้นตอนต่าง ๆ ในกระบวนการเพาะปลูก เช่น การใช้พยากรณ์อากาศที่แม่นยำสูงในระดับแปลงเพาะปลูกเพื่อวางแผนการผลิต การใช้รถจักรที่เชื่อมโยงสัญญาณดาวเทียมเพื่อระบุพิกัดและระดับพื้นผิวเพื่อเตรียมดินและปรับระดับพื้นที่ การใช้รถใส่ปุ๋ยที่สามารถตรวจธาตุอาหารในดิน ผสมสูตรและใส่ปุ๋ยอัตโนมัติในแต่ละบริเวณของแปลงเพาะปลูก หรือการใช้โดรนเพื่อตรวจจับศัตรูพืชและโรคระบาดพร้อมทั้งใส่สารเคมีที่ถูกต้อง ซึ่งเกษตรกรต้องมีค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์เทคโนโลยีและการอบรมเพิ่มขึ้น
คำถามเชิงนโยบายที่สำคัญคือ ภายใต้บริบทของเกษตรกรไทยในปัจจุบันที่ส่วนใหญ่เป็นรายย่อย เงินทุนจำกัด และสูงอายุ เทคโนโลยีระดับใดที่ภาครัฐควรสนับสนุนเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรในวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว ผู้เขียนเห็นว่า การใช้แนวปฏิบัติในการดูแลพืชตามหลักวิชาการเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับบริบทของเกษตรกรไทย เนื่องจากมีต้นทุนต่ำ สามารถใช้ประโยชน์แรงงานภาคเกษตรที่ยังมีอยู่จำนวนมาก ไม่ต้องใช้เครื่องจักรทันสมัยที่มีราคาแพง และเกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนได้เร็วกว่าการใช้แนวทางอื่นนอกจากนั้นยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทำให้เกษตรกรเข้าใจหลักการทำเกษตรแม่นยำและสะสมทุนเพื่อต่อยอดเป็นเกษตรแม่นยำโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงต่อไป
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยสนับสนุนและสร้างความตระหนักถึงการเพาะปลูกตามหลักวิชาการที่สามารถช่วยให้เกษตรกรนำไปประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มผลิตภาพได้ โดยใช้ผลการปรับปรุงกระบวนการผลิตณ แปลงเพาะปลูก จากข้อมูลของโครงการพัฒนาเชิงพื้นที่แบบองค์รวม (Holistic Area Based: HAB) ที่กลุ่มบริษัทเบทาโกรได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยในหลายพื้นที่ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี เป็นหลักฐานสนับสนุนแนวคิดในงานศึกษานี้ พร้อมทั้งเสนอแนะนัยเชิงนโยบาย และแนวทางการสนับสนุนของภาครัฐในการปรับปรุงกระบวนการเพาะปลูกของเกษตรกรให้เกิดจริงเป็นวงกว้าง
2. การเพาะปลูกตามหลักวิชาการช่วยเหลือผลิตภาพได้อย่างไร
เกษตรกรเกษตรกรเรียนรู้การเพาะปลูกจากองค์ความรู้รุ่นสู่รุ่นที่สะสมมาจากการลองผิดลองถูก และสรุปบทเรียนที่ได้รับจากการเพาะปลูกจริง ทำให้เห็นผลจริง แต่การเรียนรู้ดังกล่าวต้องชดเชยด้วยต้นทุนของเวลา ค่าเสียโอกาสที่หายไป เช่น หลายทศวรรษที่ผ่านมา การเพาะปลูกพืช (Agricultural Management Practices) จะเน้นการไถพรวนดิน และการใช้ปุ๋ยจำนวนมากเพื่อให้ได้ผลผลิตที่สูง ส่งผลให้คุณภาพของดินและแร่ธาตุเสื่อมโทรมลง ผลิตภาพการผลิตต่ำลงเรื่อยๆ และนำไปสู่การปนเปื้อนแหล่งน้ำธรรมชาติใต้ดินและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นผลให้เกิดปัญหาโลกร้อน การหาแนวทางปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูกให้ถูกต้องเพื่อเพิ่มผลผลิตและไม่นำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ เหล่านี้จึงมีความจำเป็นอย่างมาก
ปัจจุบันนักวิชาการทางการเกษตรได้พยายามรวบรวมและสรุปกระบวนการเพาะปลูกที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับถึงผลของการเพิ่มผลิตภาพและไม่ส่งผลลบต่อสิ่งแวดล้อม มีความพยายามผลักดันให้เกษตรกรนำวิธีการเพาะปลูกที่ถูกต้องตามหลักวิชาการไปใช้ปฏิบัติจริง เช่น การรวบรวมขั้นตอนการเพาะปลูกที่ถูกต้อง (Best Crop Management/ Best Management Practices) ตลอดจนออกมาตรฐานเพื่อประกาศเป็นประกาศนียบัตร (Good Agricultural Practices : GAP) รองรับผลผลิต โดยกระบวนการเหล่านี้มีลำดับความเข้มข้นตั้งแต่การจัดการแปลงที่มุ่งเน้นให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น จนถึงการเพิ่มวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งรักษาสิ่งแวดล้อมและไม่ส่งผลกระทบต่อสภาวะเรือนกระจก
อย่างไรก็ดี การจะทำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูกจากเดิมที่เคยทำมาให้เป็นการเพาะปลูกตามหลักวิชาการไม่ใช่เรื่องง่าย และหากต้องการไปถึงมาตรฐานระดับ GAP นอกจากต้องใช้ความอดทนแล้วยังต้องใช้ระยะเวลาในการเปลี่ยนกระบวนการ เช่น การเปลี่ยนไปปลูกพืชแบบอินทรีย์ ทำให้หลายครั้งเกษตรกรหลายคนต้องเลิกไปและกลับมาเพาะปลูกแบบเดิม ดังนั้น แนวทางในการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเปลี่ยนแปลงวิธีการเพาะปลูกจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำควบคู่กับการให้ความรู้เข้าใจวิธีปฏิบัติซึ่งรูปแบบหนึ่งของการสร้างแรงจูงใจ คือ การแสดงผลเชิงประจักษ์ทางวิชาการเพื่อให้เกษตรกรเห็นและตระหนักถึงการเพาะปลูกตามหลักวิชาการที่จะทำให้ได้รับผลิตภาพที่ดีขึ้น
ในต่างประเทศมีงานศึกษามากมายที่แสดงให้เห็นว่าการเพาะปลูกตามหลักวิชาการสามารถเพิ่มผลิตภาพอย่างมีคุณภาพโดยไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งขั้นตอนการเพาะปลูกที่เริ่มตั้งแต่ (1) ช่วงก่อนการเพาะปลูก เช่น การเตรียมดินและเมล็ดพันธุ์ วิธีเพาะปลูก (2) ระหว่างเพาะปลูก เช่น การใส่ปุ๋ย การกำจัดแมลงและวัชพืช การใช้น้ำ และ (3) หลังการเพาะปลูก เช่น ระยะเวลาเก็บเกี่ยว เป็นต้น
Hirzel and Matus (2013) ได้ทำทดลองจริงในพื้นที่ (field experiment) ปลูกข้าวสาลีในประเทศชิลี เพื่อดูผลของการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสมกับผลผลิตต่อไร่ที่ได้ โดยจัดเตรียมและคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่ดี จัดทำระบบน้ำและกำจัดวัชพืช ผลที่ได้พบว่าการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสมและมีธาตุ Nitrogen ที่มากจะช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวสาลีได้ถึงร้อยละ 20-22% Verhulst et al. (2011) พบว่าวิธีจัดการแบบไม่ไถพรวนและใช้เศษฟางทั้งหมดคลุมดินไว้จะให้ผลผลิตต่อไร่ของการเพาะปลูกข้าวสาลีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงกว่าการกำจัดเศษฟางโดยการเผาที่เกษตรกรทำกันมาต่อเนื่อง ซึ่งมีผลทำลายแร่ธาตุในดิน Mui et al.(1996) ทำการทดลองปลูกอ้อยในเวียดนามเป็นระยะเวลา 5 ปีเพื่อทดสอบผลของการจัดการเพาะปลูกให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ พบว่าการตัดชำกิ่ง (ขั้นตอนการเตรียมเพาะปลูก) จะช่วยเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้นกว่าการตัดยอดที่ปฏิบัติกันมา โดยผลที่ได้รับจะมากในปีแรกและค่อยๆลดลง ซึ่งช่วยลดต้นทุนการใช้เมล็ดพันธุ์ได้ถึงร้อยละ 9-10 เมื่อเทียบกับที่ปฏิบัติมา และการลดความหนาแน่นในการปลูกช่วยเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้นโดยระดับความหวานไม่เปลี่ยนแปลง การคลุมดินด้วยซากใบจะช่วยเพิ่มปุ๋ยในดินและธาตุคาร์บอนในดินมากขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มผลผลิตเมื่อเทียบกับวิธีปฏิบัติเดิมที่กำจัดซากใบทิ้ง อย่างไรก็ดี งานศึกษาส่วนใหญ่จะเน้นผลกระทบของแต่ละขั้นตอน เช่น ผลเฉพาะการใช้ปุ๋ยสั่งตัด หรือ การเตรียมดินต่อผลผลิตต่อไร่ แต่จะไม่ค่อยมีผลศึกษาที่รวมทุกขั้นตอนไว้ที่เดียว ซึ่งการศึกษาแบบหลังต้องใช้ข้อมูลมากและการติดตามยาวนาน แต่จะช่วยให้เข้าใจผลของแต่ละขั้นตอนที่มีต่อกันและลำดับความสำคัญโดยเปรียบเทียบได้
สำหรับกรณีประเทศไทย งานศึกษาที่รวมทุกขั้นตอน (ตั้งแต่ช่วงก่อนปลูก ระหว่างปลูก หลังปลูก) ยังมีไม่มากเช่นกันและรูปแบบจะคล้ายกับในต่างประเทศ คือ แยกเฉพาะผลกระทบแต่ละขั้นตอน งานศึกษาของทัศนีย์และคณะ (2550) พบว่าการใช้ปุ๋ยสั่งตัด1 ในการเพาะปลูกข้าวช่วยให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นและต้นทุนลดลง เพราะข้าวได้สารอาหารที่ต้องการและไม่เสียปุ๋ยส่วนเกินที่ไม่จำเป็น ทำให้พืชทนทานกับโรคและแมลงได้มากขึ้น ซึ่งช่วยลดต้นทุนการใช้สารเคมีกำจัดโรคและแมลงได้อีก นอกจากนั้น กรมส่งเสริมการเกษตร2 ได้จัดทำโครงการศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) 1 อำเภอ 1 แห่ง จำนวน 882 แห่งทั่ว ประเทศ เมื่อปี 2557 พบว่า การใช้ปุ๋ยสั่งตัดช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวได้ร้อยละ 10 และลดค่าปุ๋ยเคมีได้ถึงร้อยละ 38 หากชาวนาได้นำไปปรับใช้จะช่วยเพิ่มกำไร และลดต้นทุนปัจจัยการผลิตหลักลง โดยต้นทุนปุ๋ยที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 26 ของต้นทุนทั้งหมด Kallika Taraka et al. (2010) ศึกษาการปลูกข้าวในพื้นที่ภาคกลางของไทยพบว่า การส่งเสริมการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) ช่วยให้ชาวนามีผลิตภาพการผลิตสูงขึ้นได้ นอกจากนั้น Ullah et al. (2019)3 ได้ทดสอบผลกระทบของการจัดการเพาะปลูกและการบริหารน้ำต่อผลผลิตข้าวต่อไร่และการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้เวลาศึกษาข้าวนาปรัง 2 ฤดูกาล พบว่า ข้าวพันธุ์ กข 57 ให้ผลผลิตต่อไร่มากกว่าพันธุ์ปทุมธานี 1 ถึงร้อยละ 50 และมีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าร้อยละ 90 โดยการจัดการน้ำที่เหมาะสมอยู่ที่ระดับ 15 ซม. ต่ำกว่าหน้าดิน นอกจากนั้น งานศึกษาของกรมการข้าวโดยกิ่งแก้ว คุณเขต และคณะ (2558) พบว่าการเพาะปลูกข้าวให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ตั้งแต่การใช้พันธุ์ข้าว วิธีการปลูกการควบคุมดูแลวัชพืช และการใส่ปุ๋ยสั่งตัดตามค่าวิเคราะห์ดินช่วยเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยร้อยละ 20 (และสูงสุดถึงร้อยละ 60) ซึ่งงานศึกษาเหล่านี้จะช่วยให้เกษตรกรไทยได้ตระหนักถึงแนวทางการเพาะปลูกที่จะช่วยให้ได้รับผลผลิตต่อไร่ที่ดีและนำไปปฏิบัติให้เกิดผลจริง3. กระบวนการสนับสนุนการปรับปรุงการผลิตตามหลักวิชาการของกลุ่มบริษัทเบทาโกร
การนำทฤษฎีเพาะปลูกตามหลักวิชาการมาให้เกษตรกรใช้ปฏิบัติจริงไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ยังยึดติดวิธีปฏิบัติเดิม นักพัฒนาเกษตรจึงต้องสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรยอมรับปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสรรหาวิธีการเพื่อเอื้อให้เกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนได้ง่าย บมจ.เบทาโกรได้จัดกระบวนเรียนรู้ให้เกษตรกรปรับปรุงการเพาะปลูกพืชหลักของตนให้ถูกต้องตามหลักวิชาการได้โดยง่าย โดยสังเคราะห์คู่มือการเพาะปลูกตามหลักวิชาของหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ให้อยู่ในรูปแบบ Checklist ที่เข้าใจและทำได้ง่าย เพื่อให้นักจัดกระบวนการในพื้นที่ใช้สื่อสารและจัดกระบวนเรียนรู้ร่วมกับเกษตรกร โดยแบ่งขั้นตอนต่าง ๆ ออกเป็น 13 ขั้นตอน ประกอบด้วย (1) การวางแผนจัดการพื้นที่ (2) การเตรียมดิน (3) ฤดูปลูกเหมาะสม (4) การใช้พันธุ์ที่ถูกต้อง (5) การปลูกเว้นระยะปลูกเหมาะสม (6) ใส่ปุ๋ยสั่งตัด (7) ใส่ปุ๋ยระยะเวลาที่เหมาะสม (8) กำจัดวัชพืชก่อนปลูก (9) กำจัดวัชพืชระหว่างปลูก (10) ตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ (11) กำจัดแมลงศัตรูพืช (12) เก็บเกี่ยวพืชในอายุที่เหมาะสม (13) การบริหารน้ำ เพื่อใช้กับพืชหลักสำคัญ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง
บมจ.เบทาโกรได้นำวิธีการเพาะปลูกตามหลักวิชาการไปใช้จริงในโครงการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่แบบองค์รวม (Holistic Area-Based: HAB) ของตน และได้รวบรวมข้อมูลเกษตรกรจำนวน 219 ราย จากภาคสนามจำนวน 10 พื้นที่ ในช่วงปี 2559-2562 ของพืชหลัก 3 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง (รูปที่ 2)

จากการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น พบว่าผลผลิตต่อไร่เปรียบเทียบกันระหว่างก่อนเข้าโครงการและหลังเข้าโครงการ พบว่าผลผลิตเพิ่มขึ้นในทุกพื้นที่โดยเฉลี่ยถึงร้อยละ 30-50 (รูปที่ 3) ซึ่งเบื้องต้นหากพิจารณาจากกิจกรรม 3 อันดับแรกที่เกษตรกรทำเพิ่ม ได้แก่ การใส่ปุ๋ยสั่งตัด การใส่ปุ๋ยระยะเวลา
ที่เหมาะสม และการตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ (รูปที่ 4 ในภาคผนวก) และเมื่อนำมาวิเคราะห์โดยใช้เครื่องมือทางสถิติ พบว่า (1) ผลผลิตต่อไร่ภายหลังจากปรับเปลี่ยนวิธีเพาะปลูกให้ถูกต้องตามหลักวิชาการสูงกว่าวิธีการเดิมอย่างมีนัยสำคัญ กอปรกับในแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกันจากปัจจัยเฉพาะของพื้นที่ (รายละเอียด 1 ในภาคผนวก) และ (2) หากใช้การวิเคราะห์ที่คำนึงถึงปัจจัยการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตและสภาพอากาศต่อผลผลิตต่อไร่ (รายละเอียด 2 ในภาคผนวก) พบว่า การวางแผนเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวแบบ Smart Farmer จะช่วยให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นได้ประมาณร้อยละ 28 การใช้ปุ๋ยที่เหมาะสม (Fertilizer) จะช่วยให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นได้ร้อยละ 17 และการให้น้ำที่ถูกต้องจะช่วยให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นได้ร้อยละ 20 สำหรับการเตรียมการล่วงหน้า (Preparation) จากการวิเคราะห์เฉพาะกรณีข้าว จะช่วยให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นได้ร้อยละ 9 อย่างไรก็ดี การควบคุมโรคและวัชพืช (Weed & Pest) ไม่ได้ทำให้ผลผลิตมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ

4. ทำอย่างไรให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูกเพื่อเพิ่มผลิตภาพ
กระบวนการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกให้ถูกหลักวิชาการจะช่วยเพิ่มผลิตภาพภาคเกษตรได้มาก การศึกษาที่ผ่านมาทั้งในประเทศและต่างประเทศสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีเพาะปลูกถูกต้องตามหลักวิชาการ การวิเคราะห์ข้อมูลภาคสนามจาก บมจ.เบทาโกร (รูปที่ 3) ช่วยเพิ่มหลักฐานที่สำคัญของผลดังกล่าว ประเด็นคำถามต่อเนื่องที่สำคัญ คือ เหตุใดเกษตรกรบางส่วนถึงยังไม่ปรับเปลี่ยน และจะมีกลไกอย่างไรหรือภาครัฐมีบทบาทอย่างไรเพื่อให้เกษตรกรตัดสินใจที่จะปรับเปลี่ยน
จากการสัมภาษณ์ประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ของ บมจ.เบทาโกร พบว่าปัจจัยหลักที่ทำให้เกษตรกรตัดสินใจไม่ปรับเปลี่ยนกระบวนการเพาะปลูกตามหลักวิชาการ คือ (1) ไม่เชื่อมั่นว่าจะเพิ่มผลผลิตได้จริงและกลัวความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น (2) กลัวความยากลำบากที่ต้องปรับเปลี่ยน และ (3) กลัวมีต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นจากการปรับเปลี่ยน นอกจากนั้น สำหรับกลุ่มเกษตรกรที่ได้ทดลองปรับเปลี่ยนแล้ว บางกลุ่มเลือกที่จะทำต่อ แต่บางกลุ่มเลือกที่จะไม่ไปต่อในปีต่อไปเพราะ (4) ไม่มีคนในพื้นที่ (Facilitator) ช่วยเหลือ และไม่มีระบบนิเวศที่ดี (Ecosystem) สนับสนุนให้การปรับเปลี่ยนดำเนินการได้สะดวก
การสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรยอมรับการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อที่จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของในการเพาะปลูก การดำเนินนโยบายของภาครัฐเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจึงจำเป็นต้องเข้าใจถึงปัจจัยการตัดสินใจและสร้างกลไกในพื้นที่เพื่อช่วยขับเคลื่อนและอำนวยความสะดวกให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีการ โดยเริ่มจาก (1) ออกแบบโครงการนำร่องให้เกษตรกรสมัครเข้าร่วมตามความต้องการเพื่อสร้างความมั่นใจ (2) จัดสร้างแรงจูงใจที่ไม่ใช่ตัวเงิน และที่เป็นตัวเงินเพื่อช่วยเกษตรกรให้มีความคล่องตัวและสภาพคล่องเข้าร่วมทดลอง (3) จัดแบ่งแปลงทดสอบขนาดเล็กเพื่อทดลองทำจริงและเห็นผลลัพธ์ด้วยตัวเอง (4) สร้างกลไกบุคลากรขับเคลื่อนในพื้นที่ เช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือ ข้าราชการในพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือให้เกษตรกรเข้าใจแนวคิดและวิธีปฏิบัติได้ถูกต้อง และ (5) สร้างระบบนิเวศ สภาพแวดล้อมและบรรยากาศให้เกษตรกรสามารถทำวิธีเพาะปลูกตามหลักวิชาการได้โดยง่าย เมื่อโครงการนำร่องดำเนินอย่างประสบความสำเร็จ กลุ่มเกษตรกรอื่นๆ เห็นผลลัพธ์ที่เพิ่มผลิตภาพได้จริงก็จะเกิดการเลียนแบบและขยายผลในวงกว้างได้
5. สรุป
ภาคเกษตรแม้มีขนาด GDP เพียงร้อยละ 10 ของทั้งประเทศ แต่การจ้างงานที่มากกว่าร้อยละ 30 ของแรงทั้งหมด และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ทำให้รัฐต้องให้ความสำคัญเพื่อสร้างความกินดีอยู่ดีและความเท่าเทียมกันในสังคม สาเหตุสำคัญของรายได้ต่ำในภาคเกษตรเกิดจากผลิตภาพการผลิตที่ต่ำ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข
ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและระบบการจัดการสามารถช่วยเพิ่มผลิตภาพการผลิตในภาคเกษตรได้อย่างมาก แต่ภายใต้บริบทของภาคเกษตรไทย แนวทางการเพิ่มผลิตภาพที่เหมาะสมและสามารถเริ่มดำเนินการได้ทันที คือ การปรับเปลี่ยนกระบวนการเพาะปลูกให้ถูกต้องตามหลักวิชาการที่มีต้นทุนของการปรับเปลี่ยนไม่สูงมากเมื่อเทียบกับการใช้เทคโนโลยีอื่นที่มีราคาสูง งานศึกษาที่ผ่านมาทั้งในประเทศและต่างประเทศสนับสนุนผลต่อการเพิ่มผลิตภาพภาคเกษตรได้อย่างมาก และการศึกษาครั้งนี้ช่วยเพิ่มหลักฐานทางวิชาการแสดงให้เห็นว่า การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเพาะปลูก ช่วยส่งผลให้ผลิตภาพเพิ่มขึ้นมาก และการวางแผนเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวยังช่วยลดความผันผวนของผลผลิตได้อีกด้วยส่งผลให้ต้นทุนต่อหน่วยและความเสี่ยงด้านการผลิตของเกษตรกรลดลง
หลักฐานทางวิชาการสามารถเป็นปัจจัยหนึ่งช่วยสร้างความมั่นใจและแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูกเพื่อให้ผลิตภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในการผลักดันให้เกษตรกรไปใช้ปฏิบัติจริงผู้ดำเนินนโยบายหรือภาครัฐควรทำความเข้าใจปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของเกษตรกรที่จะปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและล้มเลิกกลางคัน แนวทางเริ่มต้นอาจสร้างโครงการนำร่องเพื่อให้เกษตรกรแบ่งพื้นที่ขนาดไม่มากได้ทดลองในสนามจริง โดยสร้างกลไกความช่วยเหลือทั้งบุคลากรและระบบนิเวศที่เอื้อให้เกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนได้ง่าย และเมื่อผลลัพธ์การเพิ่มผลิตภาพเป็นที่ประจักษ์ ก็จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรกลุ่มอื่นๆ ปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูกและขยายผลในวงกว้างได้มากขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางการเพิ่มผลิตภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกรที่ยั่งยืนกว่าแนวทางสนับสนุนเกษตรกรด้วยการอุดหนุนให้เปล่า
* การเพาะปลูกตามหลักวิชาการ หมายถึง กระบวนการเพาะปลูกพืชที่มีงานศึกษารองรับถึงผลของการเพิ่มผลิตภาพ ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และไม่ส่งผลลบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เกณฑ์การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี ( Best Management Practice / Good Management Practice) ของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ
1 ปุ๋ยสั่งตัด คือ อัตราปุ๋ยที่เหมาะสมกับการปลูกพืชโดยขึ้นอยู่กับลักษณะดินที่ใช้ปลูกด้วย
2 ข้อมูลจากบทความเรื่อง “พัฒนาการปุ๋ยสั่งตัด จากวันนั้นจนวันนี้และความคาดหวัง”จากที่มา http://www.ssnm.info/know/600315_know
3 การทดลองในพื้นที่แปลงจริง (Field Experiment) มีองค์ประกอบดังนี้ (1) ข้าว 2 พันธุ์ ได้แก่ ปทุมธานี 1 และ กข 57 (2) วิธีการเตรียมเมล็ดพันธุ์ 2 รูปแบบ ได้แก่ Dry Direct Seeding และ Transplanting และ (3) วิธีการบริหารจัดการน้ำ 3 รูปแบบ ได้แก่ (3.1) ให้น้ำไหลเวียนต่อเนื่อง (3.2) ให้ระดับน้ำ 15 ซม. ต่ำกว่าหน้าดิน และ (3.3) ให้ระดับน้ำ 30 ซม. ต่ำกว่าหน้าดิน วัตถุประสงค์เพื่อหารูปแบบการเพาะปลูกที่ให้ผลผลิตต่อไร่ และประสิทธิภาพการใช้น้ำที่ดีสุด
Reference
Hirzel J., Matus I.. (2013). Effect of soil depth and increasing fertilization rate on yield and its components of two durum wheat varieties. Chilean Journal of Agricultural Research 73:55-59
Just, R. E., and R. D. Pope. (1978). "Stochastic Specification of Production Functions and Economic Implications." Journal of Econometrics 7, 67–86.
Kallika Taraka, Mad Nasir Shamsudin, Ismail Abd. Latif, Shaufique bin Ahmad Sidique. (2010). Estimation of Technical Efficiency for Rice Farms in Central Thailand Using Stochastic Frontier Approach. Asian Journal of Agriculture and Development, Vol. 9, No. 2. Universiti Putra Malaysia.
Mui N T, Preston T R, Binh D v, Ly L V and Ohlsson I (1996): Effect of management practices on yield and quality of sugar cane and on soil fertility. Livestock Research for Rural Development. Volume 8, Article #21. Retrieved October 23, 2021, from http://www.lrrd.org/lrrd8/3/mui83.htm
Verhulst, N., Sayre, K.D., Vargas, M., Crossa, J., Deckers, J., Raes, D., Govaerts, B., (2011). Wheat yield and tillage–straw management system × year interaction explained by climatic co-variables for an irrigated bed planting system in northwestern Mexico. Field Crop Res. 124, 347–356. http://dx.doi.org/10.1016/j.fcr.2011.07.002.
Ullah, Hayat & Giri, Suman & Attia, Ahmed & Datta, Avishek. (2020). Effects of establishment method and water management on yield and water productivity of tropical lowland rice. Experimental Agriculture. 10.1017/S0014479719000395.
กิ่งแก้ว คุณเขตและคณะวิจัย. (2558). รายงานผลการวิจัยการเพิ่มผลผลิตข้าวตามเขตศักยภาพ การให้ผลผลิตของพื้นที่ปลูกข้าวของไทย. กองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว.
ทัศนีย์ อัตตะนันทน์, ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์, บุรี บุญสมภพพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. กรุงเทพฯ. (2550). 230 รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ของโครงการ "การจัดการธาตุอาหารเฉพาะพื้นที่เพื่อการผลิตพืชอย่างยั่งยืน (ข้าวและอ้อย) " ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
บทความนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีจากคำแนะนำความเห็นที่เป็นประโยชน์จาก ดร.จิตเกษม พรประพันธ์ คุณจีรพรรณ โอฬารธนาเศรษฐ์ และ ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ จันทร์วิไลศรี และทีม FAQ Editor ที่ช่วยทำให้งานศึกษามีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ผู้เขียนขอขอบพระคุณอย่างสูงมา ณ ที่นี้
Contact Authors:

บัญญัติ คำบุญเหลือ
กรรมการผู้จัดการ บริษัท สฤก จำกัด
และอดีตผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน)
Bunyutk@gmail.com
 สุเมธ พฤกษ์ฤดี เศรษฐกรอาวุโส ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ SumateP@bot.or.th

พิทูร ชมสุข ผู้วิเคราะห์อาวุโส สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ PhithooS@bot.or.th 
สมบูรณ์ หวังวณิชพันธุ์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ SomboonW@bot.or.th ภาคผนวก
รายละเอียด 1: วิธีการศึกษาผลกระทบของการปรับเปลี่ยนกระบวนการเพาะปลูกให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและสภาพอากาศ โดยรูปแบบ ANOVA
หากพิจารณาข้อเท็จจริงจากข้อมูลของ บมจ.เบทาโกร เบื้องต้น โดยใช้การวิเคราะห์รูปแบบการวิเคราะห์ความแปรปรวน (Analysis of Variance: ANOVA) พบว่า (1) ผลผลิตต่อไร่ของเกษตรกรภายหลังจากการเข้าร่วมโครงการ บมจ.เบทาโกร สูงกว่าผลผลิตต่อไร่ก่อนเข้าร่วมโครงการอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ตารางที่ 1) และ (2) หากพิจารณาผลผลิตต่อไร่โดยคำนึงถึงการเข้าร่วมโครงการก่อนและหลัง และพื้นที่ปฏิบัติจริงทั้ง 9 แห่งแล้ว พบว่า ผลของการเข้าร่วมโครงการและพื้นที่ปฏิบัติจริงในแต่ละแห่งจะให้ค่าผลผลิตต่อไร่ที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งสะท้อนความสำคัญของการเข้าร่วมโครงการและปัจจัยของแต่ละพื้นที่ที่มีผลต่อผลผลิตต่อไร่ (ตารางที่ 2) หมายเหตุ : ตัวแปรนำ lnyield คือ ผลผลิตต่อไร่ (in terms of ln) และ ตัวแปรตาม b_a คือ ตัวแปรสุ่ม (0 = ช่วงเวลาที่ยังไม่เข้าร่วมโครงการ และ 1 = ช่วงเวลาที่เข้าร่วมโครงการ)
หมายเหตุ : ตัวแปรตาม location คือ ตัวแปรสุ่มสะท้อนความแตกต่างของพื้นที่โครงการ
รายละเอียด 2 : วิธีการศึกษาผลกระทบของการปรับเปลี่ยนกระบวนการเพาะปลูกให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ (เฉพาะพืชข้าว) งานวิจัยนี้จะประยุกต์ใช้เศรษฐมิติเพื่อวิเคราะห์ผลของการเพาะปลูกตามหลักวิชาการที่มีต่อผลผลิตการเกษตร โดยรูปแบบกระบวนการกิจกรรมการเพาะปลูกที่ถูกต้องตามหลักวิชาการของ บมจ.เบทาโกร 13 ขั้นตอนข้างต้น ประกอบด้วย (x1) การวางแผนจัดการพื้นที่ (x2) การเตรียมดิน (x3) ฤดูปลูกเหมาะสม (x4) การใช้พันธุ์ที่ถูกต้อง (x5) การปลูกเว้นระยะปลูกเหมาะสม (x6) ใส่ปุ๋ยสั่งตัด (x7) ใส่ปุ๋ยระยะเวลาที่เหมาะสม (x8) กำจัดวัชพืชก่อนปลูก (x9) กำจัดวัชพืชระหว่างปลูก (x10) ตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ (x11) กำจัดแมลงศัตรูพืช (x12) เก็บเกี่ยวพืชในอายุที่เหมาะสม (x13) การบริหารน้ำ
แบบจำลอง
แบบจำลองที่ใช้เพื่อประมาณการผลิตภาพที่เป็นผลจากการปรับกระบวนการผลิต โดยใช้การประมาณวิธี Fixed Effect Regression Model ด้วยข้อมูล Panel Data เพื่อศึกษาถึงผลจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูกให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยมีแบบจำลอง ดังนี้
ตัวแปรอธิบาย : ทั่วไป
real_space = พื้นที่เพาะปลูกตามจริง คือ ก่อนและหลัง Checklist (in ln term)
dam_water = ปริมาณน้ำในเขื่อน โดยจะใช้เขื่อนที่อยู่ใกล้เขตพื้นที่ที่พัฒนา (in ln term)
ตัวแปรอธิบาย : การเพาะปลูกถูกต้องตามหลักวิชาการ
year_entry = ตัวแปรสุ่ม (0 = ช่วงเวลาที่ยังไม่เข้าร่วมโครงการ 1 = ปีแรกที่เข้าร่วมโครงการและ
2 = ปีที่สองของการเข้าร่วมโครงการ)
ax2x4x5 = ตัวแปรที่สะท้อนถึงหมวดการเตรียมการ (Preparation) ซึ่งประกอบด้วย “การเตรียมดิน (x2)” “การใช้พันธุ์ที่ถูกต้อง (x4)” “การปลูกเว้นระยะปลูกเหมาะสม (x5)” โดยจะมีค่าเท่ากับ 1 ถ้าเกษตรกรได้ทำทุกอย่าง มิฉะนั้นจะเท่ากับ 0
ax3x12 = ตัวแปรที่สะท้อนถึงหมวด smart farmer ซึ่งประกอบด้วย “การเลือกฤดูเพาะปลูกที่เหมาะสม (x3)” “การเลือกระยะเก็บเกี่ยวพืชในอายุที่เหมาะสม (x12)” โดยจะมีค่าเท่ากับ 1 ถ้าเกษตรกรได้ทำทุกอย่าง มิฉะนั้นจะเท่ากับ 0
ax6x7 = ตัวแปรที่สะท้อนถึงหมวดการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสม (fertilizer) ซึ่งประกอบด้วย “การใส่ปุ๋ยสั่งตัด (x6) ”การใส่ปุ๋ยระยะเวลาที่เหมาะสม (x7)” โดยจะมีค่าเท่ากับ 1 ถ้าเกษตรกรได้ทำทุกอย่าง มิฉะนั้นจะเท่ากับ 0
ax8x9x10x11 = ตัวแปรที่สะท้อนถึงหมวดการควบคุมโรคและวัชพืช (weed & pest) ซึ่งประกอบด้วย “การกำจัดวัชพืชก่อนปลูก (x8)” “การกำจัดวัชพืชระหว่างปลูก (x9)” “การตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ (x10)” “การกำจัดแมลงศัตรูพืช (x11)” โดยจะมีค่าเท่ากับ 1 ถ้าเกษตรกรได้ทำทุกอย่าง มิฉะนั้นจะเท่ากับ 0
a13 = ตัวแปรที่สะท้อนการให้ที่ถูกต้อง (x13) โดยจะมีค่าเท่ากับ 1 ถ้าเกษตรกรให้น้ำที่ถูกต้อง มิฉะนั้นจะเท่ากับ 0
ตัวแปรอธิบาย : สภาพอากาศความละเอียดระดับจังหวัด
rain = ปริมาณน้ำฝนรวมทั้งปี (in ln term) rain_sd = Standard Deviation (SD) ปริมาณน้ำฝน 12 เดือน (in ln term) temp = อุณหภูมิเฉลี่ย 12 เดือน (in ln term) temp_sd = Standard Deviation (SD) อุณหภูมิเฉลี่ย 12 เดือน (in ln term) dryspell = จำนวนวันฝนทิ้งช่วงที่นานที่สุดในหน้าฝน r35mm = จำนวนวันที่มีปริมาณน้ำฝนตกมากกว่า 35 มม. ในหน้าฝน การศึกษาครั้งนี้ได้ใช้ตัวอย่าง 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด มีพืช 3 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง มีจำนวนเกษตรกรทั้งหมด 219 คน 2) เกษตรกรที่ปลูกข้าว จำนวน 183 คน 3) เกษตรกรปลูกข้าวที่เป็นรายเล็ก โดยใช้เกณฑ์ขนาดแปลงของเกษตรกรที่มีขนาดต่ำกว่าหรือเท่ากับ 10 ไร่ จำนวน 141 คน จากข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง เกษตรกรผู้ปลูกข้าวส่วนใหญ่มีพื้นที่ต่ำกว่าหรือเท่ากับ 10 ไร่ (รูปที่ 5) คิดเป็นร้อยละ 78 ของเกษตรกรปลูกข้าวทั้งหมด เกษตรกรกลุ่มตัวอย่างมีที่ดินเฉลี่ย 8.9 ไร่ ชาวไร่ที่มีขนาดแปลงน้อยสุดที่เข้าร่วมโครงการคือ 1 ไร่ ในขณะที่ขนาดที่ใหญ่ที่สุด คือ 101 ไร่ 
จากการทดสอบแบบจำลองประมาณการด้วยวิธี Fixed Effect Regression Model (ตารางที่ 3 สมการที่ 1 2 และ 3) พบว่าเกษตรกรที่มีการวางแผนเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวแบบ Smart Farmer "(ax3x12)" เกษตรกรที่ใช้ปุ๋ยที่เหมาะสม (fertilizer) "(ax6x7)" และเกษตรกรที่ให้น้ำอย่างถูกต้อง "(a13)" ส่งผลช่วยให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และกรณีกลุ่มตัวอย่างเฉพาะข้าว พบว่า การเตรียมการ (Preparation) ช่วยให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน
download PDF file 
|