กระบวนการตัดสินนโยบายการเงิน
กนง. จะกำหนดนโยบายการเงินที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจการเงินของประเทศ เพื่อให้เกิดเสถียรภาพด้านราคา และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ กนง. มีส่วนในการกำหนดแนวนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมกับนโยบายการเงิน
ประมาณทุก 6 สัปดาห์ (ปีละ 8 ครั้ง) กนง. จะประชุมร่วมกันเพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจและการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะมีผลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อและการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพื่อพิจารณากำหนดแนวนโยบายการเงินที่เหมาะสม ในการประชุม คณะเลขานุการจะรายงานข้อมูลล่าสุดทั้งด้านการเงิน การคลัง การต่างประเทศ และการผลิต ตลอดจนปัจจัยต่างๆที่จะกระทบราคาสินค้า อาทิ ราคาน้ำมันโลก อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา หรือราคาสินค้าเกษตรโลกที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เพื่อให้ กนง. หารือถึงความเป็นไปได้ในการประมาณการแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ
เนื่องจากการตัดสินนโยบายการเงินจะต้องมองไปข้างหน้า และเนื่องจากใช้ระยะเวลา (time lags) ในการส่งผ่านของนโยบายการเงิน การทำนโยบายจะต้องเป็นไปในลักษณะมองไปข้างหน้า (forward looking) โดยมีเครื่องมือสนับสนุนการดำเนินนโยบาย คือ (1) แบบจำลองเศรษฐกิจ (BOTMM) ในการพยากรณ์เศรษฐกิจ และ (2) สมมติฐานเกี่ยวกับปัจจัยภายนอกที่ไม่ถูกกำหนดในระบบเศรษฐกิจ เช่นการคาดการณ์ราคาน้ำมัน อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าเพื่อช่วยในการพยากรณ์ เพื่อที่ กนง. จะสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาพิจารณาตัดสินนโยบายการเงิน (ขึ้น/คง/ลด อัตราดอกเบี้ยนโยบาย)
ต่อมา เวลา 14.00 น. ของวันประชุม เลขานุการ กนง. จะเป็นผู้แถลงข่าวผลการประชุม รวมทั้งตอบคำถามสื่อมวลชนเรื่องการตัดสินนโยบาย ในขณะเดียวกัน ธปท. จะทำธุรกรรม open market operations (OMOs) เพื่อรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ใกล้กับอัตราที่ กนง. กำหนด
นอกจากนี้ ทุกๆ ไตรมาส ธปท. จะจัดทำรายงานนโยบายการเงิน เพื่อ (1) เสนอกรอบประมาณการภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ และ (2) ถ่ายทอดแนวความคิดของ กนง. ต่อสาธารณชนและอธิบายเหตุผลของการตัดสินนโยบายต่างๆ ในรายละเอียด
