การประเมินภาวะและแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและน่าเชื่อถือ ช่วยให้ ธปท. ดำเนินนโยบายการเงินได้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และสามารถเตรียมการรองรับความเสี่ยงต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที อันจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพและยั่งยืน นอกจากนี้ การสื่อสารแนวโน้มเศรษฐกิจจะช่วยให้ครัวเรือนและธุรกิจปรับตัวได้อย่างเหมาะสมและทันการณ์ ตลอดจนเข้าใจเหตุผลในการตัดสินนโยบายการเงินได้อย่างชัดเจน
ธปท. พิจารณาอะไรบ้างในการประเมินภาวะเศรษฐกิจ?
ธปท. พิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้าน โดยใช้ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญทั้งในภาพรวมและรายสาขาเศรษฐกิจ ใช้ประโยชน์จากข้อมูลดิจิทัล และรับฟังข้อคิดเห็นโดยตรงจากผู้ประกอบการทั่วประเทศ ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดย่อม และจากสถาบันการเงิน เพื่อให้มั่นใจว่าการประเมินภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจเป็นไปอย่างถูกต้องแม่นยำ ครอบคลุมทุกมิติ และทันการณ์
ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญ จะเป็นตัวชี้วัดว่าเศรษฐกิจในขณะนี้เป็นอย่างไร ทั้งตัวเลขที่สะท้อนความเป็นไปของเศรษฐกิจในภาพใหญ่ เช่น
ดัชนีการบริโภคภาคเอกชน จะบอกเราว่าในเดือนที่ผ่านมาการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนเป็นอย่างไร ดีขึ้นหรือแย่กว่าช่วงปกติ และตัวเลขที่สะท้อนความเป็นไปของเศรษฐกิจรายสาขาที่อาจแตกต่างกัน เช่น
ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม จะบอกเราว่าในเดือนที่ผ่านมาสินค้าในแต่ละอุตสาหกรรมถูกผลิตออกมามากเท่าใด นอกจากนี้ ธปท. ยังติดตามข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ทิศทางการค้าโลกและภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าจึงมีความสำคัญต่อทิศทางเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ ธปท. เผยแพร่ข้อมูลเศรษฐกิจการเงินรายเดือนในทุกวันทำการสุดท้ายของเดือน
ข้อมูลดิจิทัล ข้อมูล big data และเครื่องชี้เร็วด้านเศรษฐกิจ ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญหลายตัวจัดทำเป็นรายเดือน จึงมีความล่าช้าและอาจสะท้อนภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไม่ครบถ้วน ธปท. จึงใช้ประโยชน์จากข้อมูลดิจิทัล ข้อมูล big data และเครื่องชี้เร็วด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้สามารถจับชีพจรเศรษฐกิจได้ทันการณ์และครอบคลุมมากขึ้น เช่น ข้อมูล Google mobility และ Google trend ที่สะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งสะท้อนการเคลื่อนย้ายแรงงาน ข้อมูลการใช้ไฟฟ้า และข้อมูลการโอนเงินเพื่อใช้จ่ายซื้อสินค้า เป็นต้น
ข้อมูลเชิงลึกจากผู้ประกอบการ
โครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจและธุรกิจระหว่าง ธปท. กับภาคธุรกิจ (Business Liaison Program) เป็นช่องทางที่ ธปท. เข้าไปรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้ประกอบการทั่วประเทศโดยตรง ผ่านการสัมภาษณ์เชิงลึกเพื่อรับทราบภาวะเศรษฐกิจ ภาวะการเงิน รวมถึงอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจต่าง ๆ อาทิ ต้นทุนการกู้ยืม อัตราแลกเปลี่ยน และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของภาครัฐ ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละขนาดธุรกิจ ประเภทธุรกิจ และพื้นที่ซึ่งธุรกิจตั้งอยู่ ข้อมูลที่ได้รับโดยตรงจากผู้ประกอบการข้างต้นจะช่วยให้ ธปท. ประเมินภาพเศรษฐกิจได้ถูกต้องชัดเจนมากขึ้น และช่วยให้การดำเนินนโยบายของ ธปท. คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างแท้จริง
ธปท. พยากรณ์เศรษฐกิจและความเสี่ยงในอนาคตอย่างไร ?
การพยากรณ์แนวโน้มของเศรษฐกิจมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจนโยบายการเงินที่เหมาะสมและทันการณ์ ธปท. จึงใช้เครื่องมือที่หลากหลายประกอบกัน ทั้งแบบจำลองทางเศรษฐกิจที่พัฒนาขึ้นเอง การสอบทานข้อสมมติต่าง ๆ กับผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงการใช้ข้อมูลเชิงลึกจากผู้ประกอบการมาประกอบการพิจารณา เพื่อให้ประมาณการมีความน่าเชื่อถือและยึดโยงกับโลกแห่งความเป็นจริง
นอกจากนี้ ในบริบทที่เศรษฐกิจเผชิญความไม่แน่นอนสูง ธปท. ยังมีการวิเคราะห์ฉากทัศน์ของอนาคตในหลายกรณี (scenario analysis) เพื่อให้สามารถมองไปข้างหน้าได้อย่างครอบคลุมและรอบคอบ อันจะทำให้สามารถเตรียมนโยบายรองรับกรณีต่าง ๆ และออกมาตรการได้อย่างทันการณ์
โดยปกติ นโยบายการเงินจะใช้เวลาถึงประมาณ 6-8 ไตรมาสกว่าจะส่งผลเต็มที่ต่อเศรษฐกิจ การพยากรณ์เศรษฐกิจจึงเริ่มต้นจากการประมวลภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพื่อสร้างข้อสมมติตัวเลขที่สำคัญต่าง ๆ ในช่วง 8 ไตรมาสข้างหน้า เช่น ราคาน้ำมันดิบดูไบ เพราะราคาน้ำมันดิบดูไบจะเป็นตัวกำหนดต้นทุนที่สำคัญของสินค้าในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลโดยตรงกับอัตราเงินเฟ้อ และการเติบโตของเศรษฐกิจไทย เป็นต้น จากนั้นนำตัวเลขข้อสมมติต่าง ๆ มาใส่ในแบบจำลองทางเศรษฐกิจเพื่อคำนวณหาตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญใน 8 ไตรมาสข้างหน้า
แบบจำลองทางเศรษฐกิจคืออะไร? คือชุดของสมมติฐานเกี่ยวกับโครงสร้างและความสัมพันธ์ของตัวแปรต่าง ๆ ด้านเศรษฐกิจ ถือเป็นการจำลองกลไกการทำงานของเศรษฐกิจ ทำให้สามารถประมาณการผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจในอนาคตได้ เช่น หากราคาน้ำมันดิบดูไบในตัวอย่างข้างต้นเพิ่มขึ้นจะทำให้ราคาเชื้อเพลิงในประเทศเพิ่มขึ้นด้วย และราคาเชื้อเพลิงนี้เป็นต้นทุนหลักของสินค้าต่าง ๆ ทำให้ระดับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น จึงนำไปสู่อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น เป็นต้น โครงสร้างและความสัมพันธ์เหล่านี้มีที่มาจากทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ และจากการศึกษาข้อมูลความสัมพันธ์ในอดีตของเศรษฐกิจไทย
แบบจำลองทางเศรษฐกิจจะช่วยให้เราคาดการณ์ตัวเลขที่สำคัญเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในอนาคต โดยเฉพาะอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP growth) และอัตราเงินเฟ้อทั่วไป อย่างไรก็ดี แบบจำลองทางเศรษฐกิจไม่สามารถใส่ข้อมูลทั้งหมดที่เรามีได้ โดยเฉพาะข้อมูลเชิงคุณภาพ เช่น ข้อมูลเชิงลึกจากผู้ประกอบการ ดังนั้น การพยากรณ์เศรษฐกิจจะต้องใช้ข้อมูลส่วนอื่น ๆ พร้อมทั้งความเห็นของผู้เชี่ยวชาญมาประกอบการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจด้วย
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับแบบจำลอง
ในโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ธปท. ประเมินความเสี่ยงอย่างไร? ในการเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจ ธปท. จะเผยแพร่ความเสี่ยงหรือความเป็นไปได้ของประมาณการด้วย เพราะการพยากรณ์ย่อมมีความคลาดเคลื่อน มีปัจจัยในอนาคตหลายประการที่อาจทำให้เศรษฐกิจไม่เป็นไปตามประมาณการ ทั้งจากปัญหาในภาคเศรษฐกิจจริง (เช่น หากราคาน้ำมันดิบดูไบปรับลดลง อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงที่จะต่ำกว่าประมาณการ) หรือปัญหาจากเสถียรภาพระบบการเงิน (เช่น การผิดนัดชำระหนี้ของครัวเรือนหรือภาคธุรกิจในวงกว้าง จนกระทบต่อสถาบันการเงินและส่งผลต่อเนื่องไปยังระบบเศรษฐกิจ) การประเมินความเสี่ยงจึงเป็นเรื่องสำคัญในการตัดสินนโยบายการเงิน และการเผยแพร่ความเสี่ยงต่อสาธารณชนจะช่วยให้การตัดสินนโยบายการเงินมีความน่าเชื่อถือและโปร่งใสยิ่งขึ้น
ธปท. จะสื่อสารความเสี่ยงต่อประมาณการผ่านแผนภูมิรูปพัด (fan chart) โดยแผนภูมิรูปพัดดังกล่าวจะเผยแพร่ในรายงานนโยบายการเงินในทุกไตรมาส รวมทั้ง ในบางกรณีจะทำฉากทัศน์ต่าง ๆ เพื่อสื่อสารถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทยต่อสาธารณชน
ภาพด้านบนคือแผนภูมิรูปพัดสำหรับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งแสดงประมาณการในระยะ 8 ไตรมาสข้างหน้า โดยพื้นที่แรเงาแสดงถึงบริเวณที่เป็นไปได้ของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ พื้นที่แรเงาสีเข้มหมายถึง มีโอกาสสูงที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงดังกล่าว ขณะที่พื้นที่แรเงาสีที่อ่อนกว่าจะสะท้อนถึงโอกาสความเป็นไปได้ที่ลดลงมาตามลำดับ จะเห็นได้ว่า ความกว้างของแผนภูมิรูปพัดแสดงถึงความไม่แน่นอนของประมาณการ หากรูปพัดกว้างมาก แปลว่า ประมาณการมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งการประมาณการในระยะที่ไกลขึ้นย่อมมีความคลาดเคลื่อนสูงกว่าและทำให้รูปพัดกว้างขึ้น
นอกจาก ธปท. จะประเมินความเสี่ยงของประมาณการเศรษฐกิจด้วยแผนภูมิรูปพัดแล้ว ในบางกรณีเรายังวิเคราะห์ฉากทัศน์เพื่อรองรับการประมาณการเศรษฐกิจในกรณีต่าง ๆ นอกเหนือจากกรณีฐานอีกด้วย เช่น กรณีที่การแพร่ระบาดของ COVID-19 รุนแรงขึ้นกว่ากรณีฐาน เป็นต้น โดยฉากทัศน์เหล่านี้มีประโยชน์ต่อการเตรียมนโยบายเพื่อวางแผนรับมือ หากมีเหตุการณ์ที่อยู่นอกเหนือข้อสมมติในกรณีฐานเกิดขึ้น