แบบจำลองเศรษฐกิจสำหรับนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ |  |
การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์และประเมิน แนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคตให้ได้อย่างถูกต้องและมีความเป็นเหตุเป็นผล เพื่อให้การตัดสินใจนโยบายการเงินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมต่อการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน ดังนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงินจำเป็นต้องใช้แบบจำลองเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือในการประมาณการแนวโน้มและประเมินผลกระทบของปัจจัยแวดล้อมต่างๆ รวมทั้งนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ตลอดจนใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับสาธารณชนเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ มุมมองของคณะกรรมการฯ และเหตุผลของการตัดสินใจ แบบจำลองเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ต่อคณะกรรมการฯ ต้องมีคุณสมบัติที่สามารถช่วยให้คณะกรรมการฯ และเจ้าหน้าที่ ธปท. ทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจอันเกิดจากปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของภาคส่วนต่างๆ ได้อย่างมีเหตุผล รวมทั้งสามารถช่วยคณะกรรมการฯ ในการประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจได้อย่างค่อนข้างแม่นยำ อย่างไรก็ดี แบบจำลองใดแบบจำลองหนึ่งยังไม่สามารถทำหน้าที่ทั้งหมดได้อย่างสมบูรณ์ คณะกรรมการฯ จึงเห็นประโยชน์ของการใช้แบบจำลองเศรษฐกิจหลายประเภทเพื่อเป็นเครื่องมือเสริมซึ่งกันและกันในการวิเคราะห์และพยากรณ์เศรษฐกิจประกอบการตัดสินนโยบายการเงิน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาแบบจำลองในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยแบบจำลองที่มีการพัฒนาอยู่ในขณะนี้มีดังนี้ 1. แบบจำลองเศรษฐกิจมหภาค (Bank of Thailand's Macroeconometric Model – BOTMM) เป็นแบบจำลองหลักที่คณะกรรมการฯ ใช้ในการประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจ เริ่มเผยแพร่ครั้งแรกในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อฉบับเดือนกรกฎาคม 2543 และมีการปรับปรุงมาเป็นระยะ แบบจำลอง BOTMM เป็นระบบสมการที่สรุปกลไกสำคัญภายในระบบเศรษฐกิจจากความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่สำคัญต่างๆ โดยใช้วิธีหาความสัมพันธ์ทางเศรษฐมิติ (Error Correction Mechanism) ระหว่างตัวแปรเหล่านี้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวตามหลักทฤษฎีจากข้อมูลรายไตรมาสนับตั้งแต่ปี 2536 จนถึงปัจจุบัน ประกอบด้วยสมการเชิงพฤติกรรม (Behavioural Equations) 25 สมการและสมการเอกลักษณ์ (Identities) 44 สมการ ครอบคลุมภาคเศรษฐกิจสำคัญ 4 ภาค คือ ภาคเศรษฐกิจจริง ภาคการเงิน ภาคต่างประเทศ และภาครัฐบาล แบบจำลองนี้มีบทบาทสำคัญในการประมาณการเศรษฐกิจ รวมทั้งการประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและปัจจัยที่สำคัญต่างๆ เช่น รายจ่ายของภาครัฐ ราคาน้ำมัน และอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ตาม แบบจำลองนี้มีข้อจำกัดในการนำมาใช้ตอบคำถามที่มีลักษณะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจ อาทิ ผลกระทบของการเปลี่ยนระบบภาษีหรือการเปลี่ยนนโยบาย (Policy Regime) ต่างๆ เพราะไม่ได้สร้างจากการทำความเข้าใจในพฤติกรรมของแต่ละหน่วยเศรษฐกิจที่อาจเปลี่ยนแปลงไปจากผลของนโยบายภาครัฐ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการคาดการณ์ (Expectation Formation) 2. แบบจำลองเศรษฐกิจกึ่งโครงสร้างขนาดเล็ก (Small Semi-structural Model) มีพื้นฐานแนวคิดมาจากทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ในกลุ่ม New Keynesian ประกอบไปด้วยระบบสมการเชิงพฤติกรรม (Behavioural Equations) เพียง 5 สมการที่ใช้อธิบายการเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจผ่านพลวัตของตัวแปรสำคัญ คือ ช่องว่างการผลิต (Output Gap) อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย อัตราแลกเปลี่ยน และดุลบัญชีเดินสะพัด และสมการเชิงพฤติกรรมสำหรับอธิบายพลวัตในระบบเศรษฐกิจต่างประเทศอีก 4 สมการ โดยกำหนดค่า Parameters จากเทคนิค Bayesian Estimation ที่มีการผสมผสานเทคนิคทางสถิติกับความเข้าใจโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ แบบจำลองประเภทนี้มีบทบาทในการใช้ศึกษาผลกระทบของปัจจัยต่างๆ ต่อตัวแปรหลักในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งขนาดที่เล็กของแบบจำลองทำให้มีความคล่องตัวและช่วยให้สามารถเข้าใจเหตุผลสำคัญที่สามารถนำไปใช้สื่อความได้ง่าย 3. แบบจำลอง Dynamic Stochastic General Equilibrium (DSGE) มีพื้นฐานการสร้างจาก Growth and Business Cycle Theory ใน General Equilibrium Setup โดยให้ความสำคัญกับการเข้าใจถึงกระบวนการตัดสินใจบริโภคและลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งอรรถประโยชน์และกำไรสูงสุดภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ ของครัวเรือนและภาคธุรกิจ แบบจำลองนี้สามารถนำมาใช้อธิบายกลไกการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจได้ดีเนื่องจากความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างในแบบจำลองมีความสอดคล้องกันอย่างเป็นระบบ ที่สำคัญคือ Parameters เชิงโครงสร้างในแบบจำลองถูกกำหนดมาเพื่อให้สะท้อนลักษณะเด่น (Salient Features) ของเศรษฐกิจไทย โดยสามารถหลีกเลี่ยงปัญหา Estimation ในกรณีที่ขาดข้อมูลระยะยาวหรือมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ เนื่องจาก Parameters ดังกล่าวไม่ถูกกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของนโยบาย ทำให้แบบจำลองนี้สามารถอธิบายพลวัตของตัวแปรต่างๆ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนโยบายที่มีผลต่อการคาดการณ์ของครัวเรือนและธุรกิจได้ดีกว่าแบบจำลองประเภทอื่น 4. แบบจำลองเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น แบบจำลองเสริม (Satellite Models) ที่จัดอยู่ในประเภท Macroeconometric Model เช่นเดียวกับ BOTMM ได้แก่ (1) แบบจำลองงบการเงินภาคธุรกิจ และ (2) แบบจำลองงบการเงินภาคครัวเรือน รวมทั้งแบบจำลองประเภท Vector Autoregressive Models (VARs) ที่ใช้ข้อมูลในช่วงเวลาก่อนหน้า (Lagged Variables) ในการอธิบายพลวัตหรือกลไกการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลทางเศรษฐกิจในช่วงเวลาปัจจุบัน คณะกรรมการฯ อาศัยผลของแบบจำลองแต่ละประเภทที่มีจุดเด่นแตกต่างกันประกอบกับการใช้ดุลยพินิจ (Judgment) ทำให้สามารถประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและผลกระทบทางด้านนโยบาย (Policy Analysis) ได้อย่างครอบคลุมยิ่งขึ้น และช่วยทำให้สามารถดำเนินนโยบายการเงินได้อย่างเหมาะสม |