ธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับธนาคารกลางและสถาบันการเงินในภูมิภาคอาเซียน จัดงานแถลงข่าวและจัดแสดงนวัตกรรมทางการชำระเงินที่มีการเชื่อมโยงในอาเซียน (ASEAN Payment Connectivity) ณ การประชุมผู้ว่าการธนาคารกลางของอาเซียน (ASEAN Central Bank Governors) ที่จังหวัดเชียงราย ในการประชุมครั้งนี้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างธนาคารกลางของอาเซียน พร้อมทั้งการแสดงนวัตกรรมทางด้านการชำระเงินที่จะช่วยเชื่อมโยงความร่วมมือในภูมิภาคในมิติต่าง ๆ ดังนี้

ดร.วิรไท สันติประภพ กล่าวว่า “การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของอาเซียนจะเข้มแข็งขึ้นจากการนำเทคโนโลยีทางการเงินสมัยใหม่มาใช้ในบริการชำระเงิน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการค้า การลงทุน และบริการต่าง ๆ ในภูมิภาค”
“ในวันนี้เราได้เห็นความร่วมมือของสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการ Non-banksและผู้ให้บริการบัตรเครดิต/เดบิต ในการพัฒนาบริการชำระเงินระหว่างประเทศด้วยเทคโนโลยีใหม่ เช่น QR Code, Distributed Ledger Technology (Blockchain), Application Programming Interface (API) และ card network การพัฒนานวัตกรรมทางการเงินเหล่านี้ จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการกลุ่มต่าง ๆ ที่หลากหลาย และจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการเงิน ทำให้การทำธุรกิจและการค้าระหว่างประเทศสะดวกขึ้น ลดต้นทุนของผู้ใช้บริการ รวมทั้งเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชากรในอาเซียนให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น”
ดร.วิรไท กล่าวเพิ่มเติมว่า “ธนาคารกลางในภูมิภาคได้ทำงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน ซึ่งธนาคารกลางสามารถมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้ขับเคลื่อนให้เกิดการเชื่อมโยงบริการชำระเงิน โดยหนึ่งในเรื่องสำคัญ คือ การผลักดันให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินและมาตรฐานกลางที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ (Interoperability) ซึ่งได้ถูกนำมาใช้ในบริการชำระเงินที่นำมาแสดงในวันนี้ สิ่งเหล่านี้จะช่วยเชื่อมโยงบริการชำระเงินระหว่างประเทศ รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมทางการเงินในอนาคต”
“การแสดงนวัตกรรมทางการเงินในวันนี้ เป็นตัวอย่างอันดียิ่งของความร่วมมือของธนาคารกลางและสถาบันการเงินในภูมิภาคในการเชื่อมโยงบริการชำระเงินและบริการทางการเงินระหว่างกัน มองไปข้างหน้าการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินนี้จะเป็นสิ่งที่เราเห็นพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยทำให้ความร่วมมือทางการเงินและเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนเข้มแข็งและมั่นคงยิ่งขึ้น”
รายละเอียดการแสดงนวัตกรรมทางการเงินและบริการชำระเงินระหว่างประเทศของผู้ให้บริการต่าง ๆ มีดังนี้
กัมพูชาและไทย
1) การชำระเงินระหว่างประเทศด้วย Interoperable QR Payment
ธนาคารไทยพาณิชย์ได้พัฒนาและทดสอบการให้บริการชำระเงินด้วย Interoperable QR Payment ข้ามประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐาน EMV โดยร่วมกับสาขาของธนาคารในประเทศกัมพูชา บริการนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับการชำระเงินรายย่อยระหว่างลูกค้าและร้านค้าของทั้งสองประเทศ ด้วยบริการดังกล่าว นักท่องเที่ยวไทยจะสามารถใช้ mobile banking application ของธนาคารไทย ในการสแกน QR Code เพื่อชำระเงินค่าสินค้าและบริการให้กับร้านค้าในกัมพูชาที่ร่วมให้บริการ ซึ่งจะมีการเปิดให้บริการจริงในระยะต่อไป
อินโดนีเซียและไทย / Intra-ASEAN
2) บริการธุรกรรม L/C ระหว่างอินโดนีเซียและไทย และภายในอาเซียนด้วย Enterprise Blockchain
ธนาคารกรุงเทพฯ ร่วมกับ GC Marketing Solutions Company Limited (GCM) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและเป็นบริษัทในกลุ่มของ PTT Global Chemical Company Limited (GC) ได้ทดสอบการทำธุรกรรมสินเชื่อเพื่อการค้า (Trade Finance) ระหว่างไทยกับอินโดนีเซียโดยใช้ Voltron Application บน R3 CORDA Platform ทั้งนี้ ในการทดสอบ PT. Bukitmega Masabadi ซึ่งเป็นคู่ค้าของ GCM ประเทศอินโดนีเชียจะส่งรายการ electronic L/C ผ่านธนาคารกรุงเทพ สาขาอินโดนีเซียมายังธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ โดยทำรายการ L/C บน Enterprise Blockchain ซึ่งสามารถทำได้ง่ายและรวดเร็ว ช่วยลดระยะเวลาในการดำเนินการ และงานเอกสารได้มากกว่าครึ่งหนึ่ง นอกจากนั้นกระบวนการการทำงานดังกล่าวยังมีความปลอดภัย โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้
สปป. ลาวและไทย
3) การชำระเงินระหว่างประเทศด้วย Interoperable QR Payment
ธนาคารธนชาตและ Banque Pour Le Commerce Exterieur Lao Public (BCEL) ได้ร่วมพัฒนาการบริการชำระเงินระหว่างประเทศด้วย QR Payment ระหว่างไทยและ สปป. ลาว บริการดังกล่าวจะช่วยให้ลูกค้าของ BCEL สามารถชำระเงินในประเทศไทยและมีผลทันทีด้วยการสแกน QR Code ที่ร้านค้าด้วย mobile application ของ BCEL และยังช่วยให้คนไทยซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารธนชาต หรือธนาคารอื่น ๆ ที่เดินทางไป สปป. ลาว สามารถชำระเงินที่ร้านค้าของ BCEL ผ่าน mobile banking application ของแต่ละธนาคาร ซึ่งเชื่อมโยงไปยังบัญชีของลูกค้าได้โดยตรง บริการดังกล่าวจะเริ่มเปิดให้บริการแก่ลูกค้าในอีกไม่ช้านี้ โดยธนาคารธนชาตตั้งเป้าหมายที่จะขยายความร่วมมือกับธนาคารอื่นในกลุ่มประเทศ CLMV เพื่อขยายเครือข่ายด้านการชำระเงินเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
4) Blockchain Interledger: การโอนเงินระหว่างประเทศแบบ Real-time สำหรับภาคธุรกิจ
ธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้เริ่มบุกเบิกการใช้นวัตกรรม blockchainสำหรับธุรกิจยุคใหม่ โดย Krungsri Blockchain Interledger เป็นบริการโอนเงินระหว่างประเทศแบบ Real-time สำหรับภาคธุรกิจในการโอนเงินจาก สปป. ลาวมายังประเทศไทย และส่งต่อจากประเทศไทยไปยังสิงคโปร์ในเวลาที่รวดเร็ว ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันในด้านการบริหารจัดการ ลดต้นทุน และช่วยลดความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน
เมียนมาและไทย
5) การโอนเงินระหว่างประเทศด้วยเทคโนโลยี Blockchain
ธนาคารกรุงไทยและ Shwe Bank เมียนมาได้ร่วมกับ Everex ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ พัฒนาบริการส่งเงินระหว่างประเทศที่มีความสะดวก ปลอดภัยและมีผลทันที โดยใช้ Blockchain platform “Krungthai Bank and Shwe Bank Remittance powered by Everex” ซึ่งจะให้ลูกค้าสามารถโอนเงินโดยไม่จำกัดสถานที่และเวลา ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่แข่งขันได้ผ่านบริการ mobile application ของธนาคารกรุงไทย โดยผู้รับเงินในประเทศเมียนมาสามารถเลือกรับเงินได้หลายช่องทาง เช่น การส่งเงินถึงบ้าน หรือรับเงินจากสาขาของธนาคาร Shwe Bank หรือการโอนเข้าบัญชี Shwe Bank โดยตรง โดยจะเริ่มให้บริการในเดือนมิถุนายนนี้
สิงคโปร์และไทย
6) การโอนเงินระหว่างประเทศผ่าน API
DBS และธนาคารกสิกรไทย ได้ร่วมพัฒนาบริการโอนเงินระหว่างประเทศโดยใช้เทคโนโลยี API (API-based funds transfer service) เพื่อรองรับการโอนเงินจากสิงคโปร์มาไทย บริการดังกล่าวมีความพิเศษที่อนุญาตให้ผู้โอนสามารถตรวจสอบสถานะบัญชีของผู้รับโอนก่อนการโอนเงิน และสามารถโอนเงินได้สูงสุด 1.5 ล้านบาทต่อรายการ
7) การชำระเงินระหว่างประเทศด้วย Interoperable QRPayment
AIS mPay เริ่มให้บริการ GLOBAL Pay ซึ่งเป็น mobile wallet application ที่ช่วยให้ลูกค้าคนไทยที่ใช้ e-wallet (ในอนาคตจะขยายไปยังบัญชีเงินฝากธนาคาร) ให้สามารถใช้บริการชำระเงินผ่าน QR Code เมื่อเดินทางไปต่างประเทศผ่าน VIA (เครือข่ายชำระเงินผ่านมือถือข้ามประเทศ ด้วย QR Code ผ่าน e-wallet บนมือถือ ภายใต้กลุ่ม Singtel Group) ซึ่งในการทำธุรกรรมผ่าน VIA ลูกค้าจะได้รับความสะดวก ปลอดภัย และมีอัตราแลกเปลี่ยนที่แข่งขันได้ผ่าน mobile wallets ของประเทศนั้น ๆ
8) การชำระเงินระหว่างประเทศด้วย Interoperable QRPayment
ธนาคารกรุงเทพได้ร่วมกับผู้ให้บริการ Thai Payment Network และ UnionPay ในการทดลองให้บริการชำระเงินด้วย QR โดยใช้มาตรฐาน EMV ช่วยให้ลูกค้าสามารถชำระเงินระหว่างประเทศผ่านเครือข่ายของ UnionPay โดยใช้ BBL BeWallet application ที่ผูกกับบัตรเดบิต Be1st โดยในช่วงเริ่มต้นจะสามารถใช้บริการในประเทศสิงคโปร์ได้โดยผ่านร้านค้าของ United Overseas Bank
มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย
9) การโอนเงินระหว่างประเทศผ่าน API
CIMB Group ได้ให้บริการ SpeedSend ซึ่งใช้เทคโนโลยี API ในการให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศ โดย SpeedSend เป็นบริการโอนเงินระหว่างประเทศมีค่าธรรมเนียมถูกและอัตราแลกเปลี่ยนที่แข่งขันได้ โดยเชื่อมโยงกับ 10 ประเทศอาเชียนผ่านเทคโนโลยี API และเครือข่ายของธนาคารซึ่งมีความร่วมมือกับสถาบันการเงินและผู้ให้บริการโอนเงินในหลากหลายประเทศ โดยปัจจุบันรายการส่วนใหญ่เป็นการโอนเงินจากธนาคาร CIMB ไทยไปยังฟิลิปปินส์
ธนาคารแห่งประเทศไทย
4 เมษายน 2562
ข้อมูลเพิ่มเติม: ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน
โทรศัพท์ 0 2283 6411
E-mail: PSD-PaymentSystemsStrategyAndAnalysisDivision@bot.or.th ;
PSD-PaymentSystemsStrategyAndAnalysisDivisionDeputyDirector@bot.or.th
>>Download PDF