เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคม 2562 ชะลอลงจากเดือนก่อนจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ โดยการบริโภคภาคเอกชนยังเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจ ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนและการใช้จ่ายภาครัฐหดตัว ด้านการส่งออกสินค้าหดตัวต่อเนื่องส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวสอดคล้องกัน สำหรับภาคการท่องเที่ยวกลับมาหดตัวจากนักท่องเที่ยวจีนและยุโรปเป็นสำคัญ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงตามอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ชะลอลง และราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับลดลง สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลทรงตัวจากเดือนก่อน ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเล็กน้อยตามดุลการค้าที่เกินดุลลดลง และดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลตามฤดูกาลส่งกลับกำไรและเงินปันผลของธุรกิจต่างชาติ ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายค่อนข้างสมดุล
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อนในเกือบทุกหมวดการใช้จ่าย ยกเว้นในหมวดสินค้าคงทนที่ทรงตัว ตามปัจจัยสนับสนุนกาลังซื้อโดยรวมที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมขยายตัวจากทั้งผลผลิตและราคา ขณะที่รายได้ลูกจ้างนอกภาคเกษตรกรรมทรงตัว
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งเครื่องชี้การลงทุนในหมวดก่อสร้างที่หดตัว โดยพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างทั่วประเทศหดตัวต่อเนื่องยกเว้นพื้นที่เพื่อการอุตสาหกรรม ประกอบกับยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างหดตัวหลังจากที่เร่งไปในช่วงก่อนหน้า และเครื่องชี้การลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์หดตัวตามยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศและยอดจดทะเบียนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ส่วนหนึ่งจากผลของฐานสูงในระยะเดียวกันปีก่อนเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี เมื่อขจัดผลของฤดูกาลแล้ว เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามรายจ่ายประจำที่หดตัวจากผลของฐานสูงในปีก่อนที่มีการเร่งเบิกจ่ายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานภายหลังการปรับเปลี่ยนวิธีการเบิกจ่ายงบประมาณ ประกอบกับมีการตกเบิกงบกลางรายการค่าใช้จ่ายสาหรับผู้ป่วยใน ในเดือนเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี ด้านรายจ่ายลงทุนยังขยายตัวได้ตามการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนของ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และกรมชลประทาน ที่เริ่มก่อสร้างได้ภายหลังการทบทวนโครงการลงทุนให้สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวร้อยละ 7.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำหดตัวที่ร้อยละ 6.1 เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ผลของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน วัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังชะลอลงต่อเนื่อง และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่กลับมาหดตัว ส่งผลให้การส่งออกในหลายหมวดสินค้ายังคงหดตัว ได้แก่ สินค้าที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบ ยานยนต์และชิ้นส่วนโดยเฉพาะรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถยนต์เชิงพาณิชย์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตรโดยเฉพาะข้าวและยางพารา และสินค้าเกษตรแปรรูปโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยางและน้ำตาล อย่างไรก็ดี การส่งออกในบางหมวดสินค้ายังขยายตัวได้ อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าตามการส่งออกเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และเครื่องรับโทรทัศน์ สินค้าเกษตรตามการส่งออกผลไม้ และยานยนต์และชิ้นส่วนตามการส่งออกรถจักรยานยนต์และยางล้อเป็นสำคัญ
มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการนำเข้าทองคำที่หดตัวสูง โดยหากหักทองคำขยายตัวที่ร้อยละ 1.1 จากการนำเข้าสินค้าในหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางตามการนำเข้าน้ำมันดิบที่ปริมาณขยายตัวจากผลของฐานต่ำในปีก่อนเนื่องจากมีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นเป็นสำคัญ ขณะที่การนำเข้าหมวดสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบินและแท่นขุดเจาะหดตัวตามการนำเข้าโทรศัพท์มือถือและส่วนประกอบ และเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ สอดคล้องกับ การลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวในเดือนนี้
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศกลับมาหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.0 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่หดตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลงและการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากประเทศเพื่อนบ้าน และจำนวนนักท่องเที่ยวยุโรปโดยเฉพาะเยอรมันและรัสเซียที่หดตัวจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวจากตลาดหลักอื่นๆ ยังขยายตัว อาทิ นักท่องเที่ยวมาเลเซีย จากผลของฐานต่ำในระยะเดียวกันปีก่อน ตามการชะลอการท่องเที่ยวก่อนการเลือกตั้งในประเทศในปีที่แล้ว และนักท่องเที่ยวอินเดีย ที่ได้รับผลดีจากมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม visa on arrival ทั้งนี้ เมื่อขจัดผลของฤดูกาลแล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงจากเดือนก่อนจากนักท่องเที่ยวอินเดียเป็นสำคัญจากปัจจัยชั่วคราวที่มีการชะลอการเดินทางท่องเที่ยวเนื่องจากมีเลือกตั้งภายในประเทศ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.15 ชะลอจากร้อยละ 1.23 ในเดือนก่อน ตามอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ชะลอลง และราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับลดลง ขณะที่ราคาหมวดอาหารสดปรับเพิ่มขึ้นจากราคาผักเป็นสำคัญ สาหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลทรงตัวจากเดือนก่อน ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเล็กน้อยตามดุลการค้าที่เกินดุลลดลง และดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลตามฤดูกาลส่งกลับกาไรและเงินปันผลของธุรกิจต่างชาติ ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายค่อนข้างสมดุล
ธนาคารแห่งประเทศไทย
28 มิถุนายน 2562
ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค 1-2
โทรศัพท์: 0 2283 5639, 0 2283 5647
E-mail: EPD-MacroEconomicsTeam1-2@bot.or.th
>>Download PDF