การพัฒนาต้นแบบการชำระเงินสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC)
เพื่อต่อยอดโครงการอินทนนท์จุดเริ่มต้นความสำคัญของโครงการอินทนนท์
ในโลกอนาคต
>>ดาวน์โหลดเอกสาร

สกุลเงินดิจิทัลถือเป็นนวัตกรรมหนึ่งที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อกิจกรรมทางการเงิน และจะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย เนื่องจากต้นทุนที่ลดลงเพราะไม่พึ่งพาตัวกลาง และเปิดกว้างให้สามารถพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ สกุลเงินดิจิทัลจึงสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพในการเข้ามาเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของโลกการเงินและอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินในอนาคต
เพื่อสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ธปท. จึงพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) และจัดตั้ง "โครงการอินทนนท์" ขึ้นในปี 2561 เพื่อเริ่มศึกษาและลงมือพัฒนา CBDC ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง การทดสอบนี้จะใช้ CBDC ในการทำธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน ผลการทดสอบพบว่า สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการทำธุรกรรมได้
ผลของโครงการอินทนนท์ทำให้เกิดการเตรียมพร้อมด้านต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงด้านนโยบาย และการปรับตัวของภาคธุรกิจการเงิน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะนำมาสู่การต่อยอดพัฒนาและการกำหนดทิศทางต่าง ๆ ในอนาคต
แนวทางการพัฒนาและความคืบหน้าโครงการที่ผ่านมา
ธปท. เล็งเห็นถึงศักยภาพของ CBDC ที่จะเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ จึงขยายขอบเขตการพัฒนาและทดสอบ CBDC ระดับภาคธุรกิจ (CBDC for corporate) ครั้งแรกในปี 2563 ร่วมกับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด ในการนำ CBDC มาเชื่อมต่อกับระบบการบริหารการจัดซื้อและการชำระเงินระหว่างคู่ค้า ซึ่งการทดสอบนี้สามารถกำหนดเงื่อนไขการชำระเงินต่าง ๆ ของ CBDC ตามที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องการ โดยคาดว่าจะสรุปผลการทดสอบในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564
นอกจากแผนการพัฒนา CBDC ในภาคธุรกิจแล้ว ธปท. ยังคงเดินหน้าต่อยอดการพัฒนาระบบการโอนเงินระหว่างประเทศ (CBDC for cross border funds transfer) ร่วมกับธนาคารกลางฮ่องกงในโครงการอินทนนท์ - ไลออนร็อก ที่ได้ขยายขอบเขตการรองรับสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางอื่น ๆ การศึกษาแนวทางการบริหารจัดการ และการทดสอบด้านเทคนิคที่มีความสมจริง โดยผลการทดสอบคาดว่าจะเสร็จสิ้นในเดือนพฤศจิกายน ปี 2564
การดำเนินงานในระยะต่อไป
ก้าวต่อไปของการพัฒนา CBDC ไทยคือ การศึกษาถึงผลกระทบในการนำ CBDC มาใช้งานในภาคประชาชน (retail CBDC) ทั้งการดำเนินนโยบายทางการเงิน เสถียรภาพระบบการเงิน
และบทบาทของสถาบันการเงินและ ธปท. รวมถึงการเตรียมความพร้อมระบบ เพื่อเป็นหนึ่งในช่องทางที่สามารถรองรับหากสกุลเงินดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งการออก CBDC จะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคประชาชน และพึงรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ