การเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในกระบวนการทำงาน
ด้วย Artificial Intelligence และ RPA
>>ดาวน์โหลดเอกสาร

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้นำเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และ Machine Learning (ML) มาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน ซึ่งครอบคลุมงานตามพันธกิจหลักและการบริหารจัดการองค์กร โดยมีตัวอย่างโครงการที่สำคัญ ดังนี้
1. การใช้ AI เข้ามาช่วยในงานกำกับสถาบันการเงิน โดยได้มีการพัฒนา AI สำหรับการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing) เข้ามาช่วยวิเคราะห์รายงานการประชุมของสถาบันการเงิน เพื่อช่วยผู้ตรวจศึกษาและติดตามพฤติกรรมและวัฒนธรรม(Behavioral and Culture) ของคณะกรรมการบริหารของสถาบันการเงิน ควบคู่ไปกับสัมภาษณ์และการทำแบบสำรวจ
2. การใช้ AI เข้ามาช่วยในกระบวนการพิมพ์ธนบัตร โดยได้พัฒนาโมเดล AI ขึ้นมาเพื่อช่วยคัดแยกประเภทตำหนิที่เกิดจากกระบวนการพิมพ์ธนบัตร ซึ่งสามารถพัฒนาต่อยอดเพื่อใช้ในการควบคุมคุณภาพแบบ real-time เพื่อช่วยลดต้นทุนของกระบวนการพิมพ์ธนบัตร
3. การใช้ AI เข้ามาช่วยในงานกำกับธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงิน (FX) โดยได้มีการนำเอา AI ที่สร้างขึ้นจากลักษณะการทำธุรกรรมและเงื่อนไขการกำกับในอดีต มาช่วยเลือกคัดกรองธุรกรรมเพื่อให้ผู้วิเคราะห์ตรวจดูอย่างละเอียด ทดแทนการทำงานแบบเดิมที่ผู้วิเคราะห์จะต้องสุ่มเลือกจากธุรกรรมจำนวนมาก ซึ่งทำให้สามารถลดเวลาที่ใช้ในงานตรวจสอบและติดตามได้
4. การใช้ AI เข้ามาช่วย automate การจัดการและการประมวลผลข้อมูลระดับ micro และระดับ transactions ที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งแต่เดิมต้องใช้ผู้ที่มีความชำนาญเป็นผู้วิเคราะห์และใช้เวลานาน อาทิ การประมวลผลรหัสเศรษฐกิจของข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ
ความคิดริเริ่มในการประยุกต์ใช้ AI กับงานของธนาคารกลางของ ธปท. ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดย ธปท. ได้รับรางวัลธนาคารกลางที่มีผลงานโดดเด่น ประจำปี 2563 ในด้านโครงการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence Initiative) จากวารสารธนาคารกลาง (Central Banking Journal) สหราชอาณาจักร ทั้งนี้ ธปท. มีแผนจะขยายการใช้ AI ไปยังงานด้านต่าง ๆ โดยจะทำควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากรภายในที่เข้าใจในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นการสร้างองค์ความรู้ด้านนี้ของ ธปท. ในระยะยาว
นอกจากนี้ ยังได้มีการนำเอา (Robotic Process Automation : RPA) มาช่วยในการปรับปรุงกระบวนการทำงานภายใน ธปท. โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้เวลานานและมีการทำซ้ำบ่อย ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงาน operations ต่าง ๆ ช่วยอำนวยความสะดวกให้บุคลากรของ ธปท. สามารถอุทิศเวลาไปกับการทำงานวิเคราะห์เชิงลึกและงานบริการประชาชนที่มีความเร่งด่วนในช่วงสถานการณ์โควิด 19
ธปท. มีการส่งเสริมการนำเอาข้อมูลที่ ธปท. มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีการเชื่อมฐานข้อมูลต่าง ๆ ภายในเข้าด้วยกันเพื่อให้ผู้วิเคราะห์จากสายงานต่าง ๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย โดยคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาลด้านข้อมูลเป็นสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ในฐานข้อมูล มีการสรรหาและเก็บรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นเร่งด่วน สำหรับการติดตาม วิเคราะห์ทำความเข้าใจผลกระทบจากการระบาดของโควิด 19 กับระบบเศรษฐกิจและการเงินของไทย อาทิ ข้อมูลการใช้ไฟฟ้าในภาคการผลิต การติดตามข้อมูลการเคลื่อนที่ของแรงงานที่มีความรวดเร็วมากขึ้น สภาวะสินเชื่อสำหรับลูกหนี้และผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด 19

นอกจากนี้ ยังมีการจัดการแข่งขัน BOT DATA VIZ ART ขึ้นภายในองค์กร เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมความเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (data driven organization) สนับสนุนให้ทุกฝ่ายงานเห็นความสำคัญของข้อมูลที่ตนเองมีอยู่ ทั้งข้อมูลในเชิงงานวิเคราะห์และงานนโยบาย และข้อมูลในเชิงกระบวนการทำงาน สร้างความตระหนักและพัฒนาทักษะในการสื่อสารงานวิเคราะห์ข้อมูลที่มีความละเอียดซับซ้อน ให้สามารถเข้าใจได้ง่าย มีความน่าสนใจ นอกจากนี้ยังได้มีการนำเอาผลงาน data visualization จากข้อมูลเศรษฐกิจและการเงินของ ธปท. ไปจัดแสดงที่ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย และเผยแพร่ผ่านสื่อ เช่น กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ และ ThaiPublica เพื่อให้สาธารณชนสามารถเข้าถึงได้