ทำความเข้าใจงบการเงินของแบงก์ชาติ ปี 2563
>>ดาวน์โหลดเอกสาร

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในปี 2563 ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เศรษฐกิจไทยหดตัวต่ำสุดในรอบ 22 ปี คณะกรรมการนโยบายการเงินจึงปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ เหลือร้อยละ 0.5 ต่อปี เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงินของประเทศ อย่างไรก็ดี ด้วยประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี ประกอบกับนักลงทุนมีความมั่นใจต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง ทำให้เงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging markets)รวมทั้งไทยมากขึ้น และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ดูแลเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ผันผวนจนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจด้านต่างประเทศ ส่งผลให้เงินสำรองระหว่างประเทศทยอยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 286.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ณ สิ้นปี 2563
ธปท. บริหารเงินสำรองระหว่างประเทศ โดยมุ่งรักษามูลค่าในรูปเงินตราต่างประเทศเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจไทยมีเงินสำรองฯ เพียงพอและพร้อมใช้ จึงลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคง กระจายความเสี่ยงทั้งในรูปของสินทรัพย์และสกุลเงินเพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและการเงินโลก โดยได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม ในปี 2563 บัญชี ธปท. และบัญชีทุนสำรองเงินตรามีผลกำไรจากการดำเนินงาน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการตีราคาสินทรัพย์ต่างประเทศเป็นเงินบาท

โดยรายละเอียดผลการดำเนินงานประจำปี 2563 ของบัญชี ธปท. และบัญชีทุนสำรองเงินตรา เป็นดังนี้
1. การดำเนินงานตามพันธกิจ
1.1 ด้านการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ – บัญชี ธปท.

ธปท. มีรายรับดอกเบี้ยสุทธิ 25.6 พันล้านบาท เป็นบวกต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 (positive carry) เนื่องจากดอกเบี้ยรับจากการบริหารสินทรัพย์ต่างประเทศที่สูงกว่าดอกเบี้ยจ่ายจากการดำเนินนโยบายการเงิน โดยในปีนี้ มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อให้ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลาย ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบของเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด 19
1.2 ด้านการพิมพ์และนำธนบัตรออกใช้ – บัญชีทุนสำรองเงินตรา
ทุนสำรองเงินตรามีรายรับดอกเบี้ยสุทธิ 26.7 พันล้านบาท จากการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศที่ใช้หนุนหลังธนบัตร ทั้งนี้ ผลตอบแทนสูงกว่าต้นทุนการพิมพ์ธนบัตร
2. การปรับสัดส่วนการลงทุน และอื่น ๆ
ธปท. ได้ซื้อขายสินทรัพย์เพื่อปรับการลงทุนให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์เศรษฐกิจโลก รวมถึงเพื่อกระจายความเสี่ยงและเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีขึ้น ผลขาดทุนที่เกิดขึ้นในบัญชี ธปท. ส่วนใหญ่เกิดจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ทำให้สินทรัพย์ต่างประเทศที่ซื้อมาในอดีตมีต้นทุนในรูปของเงินบาทสูงกว่าราคาขายสินทรัพย์ดังกล่าว อย่างไรก็ดี ผลตอบแทนในสกุลเงินต่างประเทศของทั้งบัญชี ธปท. และบัญชีทุนสำรองเงินตราเป็นบวกและสูงกว่าอัตราผลตอบแทนอ้างอิง
3. การตีราคาสินทรัพย์ต่างประเทศ (valuation)
เกิดจากการแปลงค่าเงินสำรองระหว่างประเทศให้อยู่ในสกุลเงินบาท เนื่องจากเงินบาทอ่อนค่าลงในปี 2563 เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักทุกสกุล ยกเว้นเงินดอลลาร์ สรอ. กอปรกับราคาสินทรัพย์ต่างประเทศ (ทั้งตราสารหนี้ ตราสารทุน และทองคำ) ปรับราคาสูงขึ้น จึงส่งผลให้การตีราคาสินทรัพย์ต่างประเทศเป็นสกุลบาทมีผลเป็นกำไร