เพื่อให้การออกกฎหมายและกฎเกณฑ์ ของ ธปท. เป็นไปโดยละเอียดรอบคอบ มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่สร้างภาระแก่ภาคธุรกิจและประชาชนเกินความจำเป็น ขณะที่ยังสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของการออกกฎหมายและกฎเกณฑ์ ธปท. จึงขอรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562
ธนาคารแห่งประเทศไทย.....
(ร่าง) แนวทางการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank)
ธปท. ได้จัดทำเอกสารรับฟังความคิดเห็น (Consultation Paper) เรื่อง แนวทางการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) เพื่อให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการใช้เทคโนโลยี การให้บริการดิจิทัล และการใช้ข้อมูลที่หลากหลายมาวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า เข้ามาให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัล ด้วยต้นทุนด้านพนักงาน อาคารและสถานที่ที่ลดลง เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ตรงจุดและครบวงจรขึ้น รวมถึงช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินในราคาที่เหมาะสม โดยเฉพาะกับผู้ใช้บริการรายย่อย และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ยังไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเพียงพอหรือตรงความต้องการ ธปท. จึงขอเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อแนวทางการดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์ของ ธปท. (คลิก) หรือทางอีเมล virtualbank@bot.or.th ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566
(ร่าง) หลักเกณฑ์ที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ต้องถือปฏิบัติ และแบบรายงานข้อมูล
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ต้องถือปฏิบัติ ให้มีความชัดเจนขึ้นและลดภาระในการดำเนินงานของบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่เกินความจำเป็น รวมถึงปรับปรุงหลักเกณฑ์การถือครองอสังหาริมทรัพย์รอการขาย เพื่อให้บริษัทบริหารสินทรัพย์มีการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและเหมาะสมกับบริบทการกำกับดูแลในปัจจุบัน ตลอดจนปรับปรุงเกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามของกรรมการและผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัทบริหารสินทรัพย์ เพื่อยกระดับการกำกับดูแลบริษัทบริหารสินทรัพย์และเพื่อป้องกันการเกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์
ในการนี้ ธปท. ขอรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) หลักเกณฑ์ที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ต้องถือปฏิบัติ และแบบรายงานข้อมูล โดยโปรดแจ้งความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) หลักเกณฑ์และแบบรายงานดังกล่าวตามแบบฟอร์มรับฟังความคิดเห็น และส่งกลับมาที่ งานพัฒนานโยบายเพื่อผลสัมฤทธิ์ และงานธุรกิจผู้ให้บริการทางการเงิน 2 ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ทาง E-mail: DP-RPD2@bot.or.th และ RB2-RPD2@bot.or.th ภายในวันที่ 31 มกราคม 2566
เอกสารที่เกี่ยวข้อง>> Consultation Paper หลักเกณฑ์ที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ต้องถือปฏิบัติ >> แบบรายงาน NPA รายครึ่งปีและรายปี>> แบบรายงาน Outsourcing>> แบบฟอร์มแสดงความคิดเห็น
ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการถือเป็นความเสี่ยงหลักของสถาบันการเงินเนื่องจากการทำธุรกรรมและการให้บริการทางการเงินทุกประเภทของสถาบันการเงินได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงดังกล่าวผ่านตัวขับเคลื่อนความเสี่ยง (risk driver) ทั้งจากปัจจัยภายในของสถาบันการเงิน เช่น กระบวนการปฏิบัติงานภายใน บุคลากร ระบบงาน หรือจากปัจจัยภายนอก เชน สภาพเศรษฐกิจ การแข่งขันในตลาด กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวของ นอกจากนี้ จากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นับเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในด้านเทคโนโลยี (digital disruption) โดยสถาบันการเงินได้ปรับการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น และปรับรูปแบบการทำงานเป็นแบบ work from home ซึ่งได้กลายเป็นความปกติรูปแบบใหม่ (new normal) ของการทำงานในปัจจุบัน ดังนั้น จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว แม้จะทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการให้บริการแก่ลูกค้าและการปฏิบัติงานให้สามารถดำเนินงานต่อไปได้ แต่ก็ทำให้เกิดความเสี่ยงด้านปฏิบัติการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึงความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศต่อสถาบันการเงินด้วยเช่นกัน
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงปรับปรุงหลักเกณฑ์การบริหารความเสี่ยงด้านปฏิบัติการเพื่อให้สอดรับกับบริบทในปัจจุบัน และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์สากล ซึ่ง ธปท. กำหนดองค์ประกอบของกรอบนโยบายการบริหารความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ (operational risk management framework: ORMF) โดยอ้างอิงจากแนวทางของ Basel Committee on Banking Supervision (BCBS) ซึ่งให้ความสำคัญในเรื่อง การบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลง (change management) การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการเตรียมความพร้อมดำเนินการธุรกรรมสำคัญในสถานการณ์ไม่ปกติ (operational resilience) รวมถึงให้รายละเอียดในแต่ละองค์ประกอบของ ORMF ให้ชัดเจนขึ้น
ในการนี้ ธปท. ขอรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) หลักเกณฑ์การบริหารความเสี่ยงด้านปฏิบัติการของสถาบันการเงินและกลุ่มธุรกิจทางการเงิน โดยโปรดแจ้งความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) หลักเกณฑ์ดังกล่าวตามแบบฟอร์มรับฟังความคิดเห็น และส่งกลับมาที่งานนโยบายด้านปฏิบัติการ ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ทาง E-mail: FIOP-RPD2@bot.or.th ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2565 จนถึงวันที่ 23 มกราคม 2566
(ร่าง) หลักเกณฑ์การคำนวณสินทรัพย์เสี่ยงด้านเครดิตของคู่สัญญาสำหรับธุรกรรมอนุพันธ์
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดทำ (ร่าง) หลักเกณฑ์การคำนวณสินทรัพย์เสี่ยงด้านเครดิตของคู่สัญญาสำหรับธุรกรรมอนุพันธ์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวกำหนดให้ ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) และกลุ่มธุรกิจทางการเงินต้องดำรงเงินกองทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงจากการปรับคุณภาพเครดิตของคู่สัญญา (credit valuation adjustment risk: CVA risk) เพิ่มเติม รวมถึงการกำหนดน้ำหนักความเสี่ยงสำหรับคู่สัญญาที่เป็นสำนักหักบัญชีกลาง (central counterparty: CCP) เพื่อให้สะท้อนความเสี่ยงจากการทำธุรกรรมอนุพันธ์ได้ครบถ้วนและมีเงินกองทุนเพียงพอรองรับความเสี่ยงด้านเครดิตของคู่สัญญาสำหรับธุรกรรมอนุพันธ์ ตลอดจนสอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยจะให้ระยะเวลา ธพ. เตรียมความพร้อมก่อนหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีผลใช้บังคับเป็นเวลา 1 ปี และให้ระยะเวลากลุ่มธุรกิจทางการเงินในการเตรียมความพร้อมภายหลังหลักเกณฑ์ดังกล่าวบังคับใช้กับ ธพ. แล้วอีก 1 ปี
เพื่อให้หลักเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นมีการพิจารณาผลกระทบและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน ธปท. จึงขอเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) หลักเกณฑ์การคำนวณสินทรัพย์เสี่ยงด้านเครดิตของคู่สัญญาสำหรับธุรกรรมอนุพันธ์ ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2565 จนถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2565 ทั้งนี้ โปรดแจ้งความเห็นตามแบบฟอร์มที่แนบมาพร้อมนี้กลับมาทาง E-mail: PR2-RPD1@bot.or.th
(ร่าง) หลักเกณฑ์การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดทำ (ร่าง) หลักเกณฑ์การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ โดยมีเจตนารมณ์ให้การคิดดอกเบี้ยผิดนัดไม่สร้างภาระมากเกินไปสำหรับลูกหนี้ที่ประสบปัญหาทางการเงิน ให้พึงอยู่ในวิสัยที่ลูกหนี้จะสามารถกลับมาจ่ายชำระหนี้ได้ ไม่เร่งการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพ และไม่เสียวินัยทางการเงิน รวมถึงให้การตัดชำระหนี้สามารถลดภาระหนี้เงินต้น เพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสจ่ายชำระปิดหนี้ได้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อลูกหนี้ทุกกลุ่มโดยมีพื้นฐานบนหลักการเดียวกัน และการบังคับใช้หลักเกณฑ์เป็นมาตรฐานสอดคล้องกับเจตนารมณ์ ธปท. การปรับปรุงหลักเกณฑ์ครั้งนี้มีสาระสำคัญคือ (1) ขยายขอบเขตหลักเกณฑ์การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ให้ครอบคลุมลูกหนี้ทุกกลุ่ม (2) ขยายขอบเขตผู้ให้บริการทางการเงินให้รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่มิใช่สถาบันการเงิน และ (3) ปรับปรุงหลักเกณฑใหชัดเจนไม่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจกรณีสัญญาที่มีกฎหมายบังคับใช้เป็นกฎหมายต่างประเทศ
ธปท. จึงขอเชิญชวนร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) หลักเกณฑ์การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ โดยโปรดให้ความเห็นในแบบฟอร์มแสดงความคิดเห็นและส่งกลับมาที่ งานวิเคราะห์การคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. ทางอีเมล MC-offsite-FCD@bot.or.th ภายในวันที่ 12 ธันวาคม 2565
(ร่าง) ประกาศเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศที่ออกให้สำหรับแต่ละสาขา
ตามที่กระทรวงการคลังได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 27 (พ.ศ. 2565) ภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พุทธศักราช 2485 เพื่อผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจเงินตราต่างประเทศให้มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงรูปแบบการให้ใบอนุญาตจาก 1 ใบต่อสถานที่ประกอบธุรกิจแต่ละแห่ง เป็นการให้ใบอนุญาต 1 ใบต่อผู้ประกอบธุรกิจแต่ละราย
ธปท. จึงจะจัดทำประกาศเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อกำหนดแบบในการแจ้งข้อมูลใบอนุญาตเดิม ขั้นตอนการแจ้งและการดำเนินการคืนใบอนุญาตเดิมของผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการให้ใบอนุญาตที่เปลี่ยนแปลงไป
ธปท. จึงขอเชิญร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์ในการแจ้งข้อมูลใบอนุญาตและการคืนใบอนุญาตเดิมตามที่กล่าวข้างต้นเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการออกหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยโปรดให้ความเห็นในแบบสอบถามและส่งกลับมาที่ฝ่ายนโยบายและกำกับการแลกเปลี่ยนเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ทาง Email: FOG_ECST@bot.or.th ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565
(ร่าง) ประกาศเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน เรื่อง การกำหนดจำนวนหุ้นของผู้ถือหุ้นรายใหญ่สำหรับ ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ
ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เสนอกระทรวงการคลังเพื่อปรับปรุงกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พุทธศักราช 2485 (กฎกระทรวงฯ) เพื่อผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจเงินตราต่างประเทศให้มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มการกำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวเพื่อยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลธุรกิจธุรกิจเงินตราต่างประเทศให้มีความน่าเชื่อถือ รวมถึงเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินกฎกระทรวงฯ ดังกล่าวได้มอบอำนาจให้ ธปท. ประกาศกำหนดจำนวนหุ้นของผู้ถือหุ้นรายใหญ่สำหรับธุรกิจดังกล่าวซึ่งจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎกระทรวงกำหนด ธปท. จึงจะจัดทำประกาศเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อกำหนดจำนวนหุ้นตามที่กล่าวข้างต้น
ธปท. จึงขอเชิญร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดจำนวนหุ้นตามที่กล่าวข้างต้นเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการออกหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยโปรดให้ความเห็นในแบบสอบถามและส่งกลับมาที่ฝ่ายนโยบายและกำกับการแลกเปลี่ยนเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ทาง Email: FOG_ECST@bot.or.th ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2565
(ร่าง) แนวนโยบายการบริหารจัดการภัยทุจริตจากการทำธุรกรรมทางการเงิน
ด้วยภัยทุจริตจากการทำธุรกรรมทางการเงินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและมีรูปแบบใหม่ ๆ สร้างความเสียหายต่อประชาชนในวงกว้าง และส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของระบบการชำระเงินโดยรวม ดังนั้น ผู้ให้บริการทางการเงินทั้งที่เป็นสถาบันการเงินและที่มิใช่สถาบันการเงินควรตระหนักและให้ความสำคัญในการยกระดับการบริหารจัดการภัยทุจริตให้มีประสิทธิภาพ ครอบคลุม เท่าทันรูปแบบภัยที่เกิดขึ้น รวมถึงจัดการเหตุการณ์และดูแลคุ้มครองผู้ใช้บริการได้อย่างเหมาะสม
ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้กำหนดแนวนโยบายการบริหารจัดการภัยทุจริตจากการทำธุรกรรมทางการเงิน เพื่อให้เป็นมาตรฐานสำหรับการให้บริการทางการเงิน ทั้งด้านธรรมาภิบาลและด้านบริหารจัดการภัยทุจริตเพื่อให้มีมาตรการป้องกันและตรวจจับภัยทุจริต และตอบสนองและรับมือต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือต่อระบบทางการเงินและระบบการชำระเงิน
ธปท. จึงขอเชิญชวนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างแนวนโยบายดังกล่าว ผ่านแบบแสดงความคิดเห็นได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2565
(ร่าง) หลักเกณฑ์การบริหารจัดการด้านการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market conduct)
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดทำ (ร่าง) หลักเกณฑ์การบริหารจัดการด้านการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market conduct) เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งมีสาระสำคัญคือ ขยายขอบเขตการบังคับใช้ให้ครอบคลุมผู้ให้บริการทางการเงินเพิ่มเติม ได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล (peer to peer lending platform) และผู้ประกอบธุรกิจบริการการชำระเงินภายใต้การกำกับ รวมถึงปรับปรุงหลักเกณฑ์ในประเด็นต่าง ๆ ให้มีความชัดเจน เหมาะสม เป็นมาตรฐาน โดยยังคงมีความยืดหยุ่นในทางปฏิบัติ เช่น มาตรฐานขั้นต่ำสำหรับการดูแลข้อมูลของลูกค้าโดยเฉพาะในประเด็นการเปิดเผยข้อมูลลูกค้าให้แก่บุคคลอื่นเพื่อวัตถุประสงค์ทางการตลาด การขอความยินยอมจากลูกค้าในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแจ้งข้อมูลหรือจัดส่งเอกสารในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ การปรับปรุงนิยามคำว่า “ลูกค้า” ให้ครอบคลุมลูกค้าทุกประเภท
ธปท. จึงขอเชิญชวนร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) หลักเกณฑ์การบริหารจัดการด้านการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market conduct) โดยโปรดให้ความเห็นในแบบฟอร์มแสดงความคิดเห็นและส่งกลับมาที่ งานนโยบายการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. ทางอีเมล MC-Policy-FCD@bot.or.th ภายในวันที่ 18 ตุลาคม 2565