การประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล ด้านการเผยแพร่ข้อมูล (ROSC)
ประเทศไทยได้เข้ารับการประเมินผลการปฏิบัติตามมาตรฐานด้านการจัดทำและเผยแพร่ข้อมูล (Report on the Observance of Standards and Codes – ROSC Data Module) จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในระหว่างวันที่ 3 – 17 ตุลาคม 2548 โดยมีข้อมูลที่เข้ารับการประเมิน 4 กลุ่มได้แก่ ข้อมูลบัญชีประชาชาติ (จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) สถิติการคลัง (จัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง) สถิติการเงินและสถิติดุลการชำระเงิน (จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย) โดยในการประเมินคณะผู้ประเมินได้พิจารณาตามกรอบการปฏิบัติตามมาตรฐานคุณภาพข้อมูลของ IMF ดังนี้
1. การเผยแพร่ข้อมูลตามมาตรฐานการเผยแพร่ข้อมูลระดับสูง (Special Data Dissemination Standard : SDDS) ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกโครงการ SDDS ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2539 และเริ่มเผยแพร่วิธีการจัดทำข้อมูล (Metadata) บนกระดานการเผยแพร่ข้อมูล (Dissemination Standards Bulletin Board – DSBB) เมื่อวันที่ 19 กันยายนของปีเดียวกัน ประเทศไทยได้ผ่านเกณฑ์ข้อกำหนดตามมาตรฐาน SDDS ในปี 2541 โดยได้ทำตามข้อกำหนดด้านขอบเขตของข้อมูล (Coverage) ความถี่ในการเผยแพร่ข้อมูล (Periodicity) ความรวดเร็วของข้อมูล (Timeliness) รวมทั้งการจัดทำตารางการเผยแพร่ข้อมูลล่วงหน้า (Advance release calendars)
2. การประเมินคุณภาพการจัดทำข้อมูล เป็นการประเมินเกี่ยวกับปัจจัยด้านคุณภาพของการจัดทำและเผยแพร่ข้อมูล โดยใช้กรอบการประเมินคุณภาพข้อมูล (Data Quality Assessment Framework : DQAF) เป็นมาตรฐาน ประกอบด้วยปัจจัยในการประเมิน 6 หมวด คือ
หมวด 0 พื้นฐานที่ช่วยให้การจัดทำข้อมูลมีคุณภาพ ได้แก่ มีกฎหมายและทรัพยากร (บุคลากร งบประมาณ และเครื่องมือ) ที่สนับสนุนการจัดทำและเผยแพร่ข้อมูล ผู้จัดทำสถิติมีความตระหนักในเรื่องคุณภาพข้อมูลและความต้องการของผู้ใช้ข้อมูล
หมวด 1 ความน่าเชื่อถือขององค์กรที่จัดทำและเผยแพร่ข้อมูล ด้แก่ ความเป็นมืออาชีพ ความโปร่งใสในการจัดเก็บ และความมีจรรยาบรรณของผู้จัดทำและเผยแพร่ข้อมูล (ethical standard)
หมวด 2 วิธีการจัดทำและเผยแพร่ข้อมูล ได้แก่ แนวความคิด วิธีการในการจัดทำและเผยแพร่ข้อมูล ขอบเขตของข้อมูล การจัดหมวดหมู่ และการเก็บข้อมูลเป็นไปตามมาตรฐานสากล
หมวด 3 ความถูกต้องและน่าเชื่อถือของข้อมูล ได้แก่ ความครบถ้วนของข้อมูล และความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล เทคนิควิธีการจัดทำข้อมูล การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล และการศึกษาผลกระทบต่อการปรับปรุงแก้ไขข้อมูล
หมวด 4 การให้บริการข้อมูล ได้แก่ ความถี่และความรวดเร็วในการเผยแพร่ข้อมูลตามมาตรฐานสากล ความต่อเนื่องและสามารถสอบทานกันได้ของข้อมูล และการกำหนดนโยบายในการปรับปรุงแก้ไขข้อมูล
หมวด 5 ความสามารถในการเข้าถึงข้อมูล ได้แก่ การเปิดเผยข้อมูลผ่านสื่อต่างๆ ที่เพียงพอ และตรงต่อความต้องการผู้ใช้ รูปแบบการนำเสนอที่เข้าใจง่าย และมีการให้ความช่วยเหลือผู้ใช้ข้อมูล
ผลการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐาน ด้านการจัดทำและเผยแพร่ข้อมูล ของข้อมูล 4 กลุ่มอยู่ในระดับดีถึงดีมาก (ตามที่แสดงไว้ในตารางสรุปผลการประเมินของประเทศไทย) สะท้อนถึงระบบการจัดทำข้อมูลเศรษฐกิจมหภาคของประเทศไทยเป็นระบบที่ได้รับการพัฒนามาอย่างดี และผลการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลอยู่ในเกณฑ์สูง
รัฐบาลให้ความสำคัญกับคุณภาพของข้อมูลเป็นอย่างมาก เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้ ใช้ประกอบการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ รวมทั้งหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดทำข้อมูลต่างตระหนักว่าคุณภาพของข้อมูลเป็นปัจจัยที่จะสร้างศรัทธาและความน่าเชื่อถือในสถิติที่เผยแพร่ เจ้าหน้าที่จัดทำข้อมูลมีระดับความเชี่ยวชาญในวิชาชีพ (Professionalism) ที่เป็นที่ยอมรับ สำหรับด้านการเผยแพร่ข้อมูล พบว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูล และวิธีการจัดทำข้อมูล (Metadata) ได้โดยง่าย รวมทั้ง มีบริการช่วยเหลือจากหน่วยงานผู้จัดทำข้อมูล
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำข้อมูลเศรษฐกิจมหภาคมีพัฒนาการด้านการจัดทำข้อมูลตามมาตรฐานสากลในระดับที่ต่างกัน การประเมินนี้จะทำให้หน่วยงานต่างๆ ทราบถึงจุดด้อยและจุดแข็งในการจัดทำข้อมูลในทุกๆ ด้าน และทำให้สามารถพัฒนาการจัดทำข้อมูลได้อย่างต่อเนื่อง