ธปท. มีธรรมาภิบาลที่สนับสนุนการดำเนินนโยบายให้สัมฤทธิ์ผล สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด-19 และความท้าทายในอนาคต โดยคำนึงถึงการบริหารความเสี่ยงองค์กรอย่างเหมาะสม
การยกระดับธรรมาภิบาลสู่การปฏิบัติจริง (Governance in Practice)
* การประกาศใช้ข้อบังคับว่าด้วยการป้องกันการมีส่วนได้เสียในการปฏิบัติหน้าที่ อันอาจก่อให้เกิดการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับผลประโยชน์ของประเทศและของธนาคารกลาง สำหรับผู้ว่าการ พนักงาน และลูกจ้าง ซึ่งเป็นธรรมาภิบาลขั้นพื้นฐานที่สำคัญของธนาคารกลาง โดยจัดทำบทเรียนในรูปแบบออนไลน์ (Online Mandatory Compliance Program) ให้เป็นภาคบังคับที่ผู้บริหารและพนักงานต้องทดสอบ เพื่อส่งเสริมให้ธรรมาภิบาลที่ดีเป็นวัฒนธรรมองค์กร รวมทั้งจัดทำระบบรายงานออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการรายงานการซื้อขายหลักทรัพย์ของพนักงานและผู้บริหาร ตลอดจนมีกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนการกระทำความผิดกรณีทุจริตคอร์รัปชัน และมาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส (Whistle Blowing)
* การเข้าร่วมการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถตรวจสอบและมีส่วนร่วมให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาการดำเนินงานของ ธปท. ผ่านการประเมิน ITA โดย ธปท. อยู่ระหว่างการปรับปรุงการทำงานเพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสในการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นซึ่งจะดำเนินการต่อเนื่องไปถึงปี 2565 อาทิ การปรับปรุง Website ให้ใช้งานง่ายตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และการปรับปรุงกระบวนการสื่อสารและการตอบคำถามแก่บุคคลภายนอก
* การนำหลักการธรรมาภิบาลมาใช้ในการออกมาตรการต่าง ๆ ตามพันธกิจ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ธปท. มีกระบวนการจัดทำมาตรการที่จำเป็นเร่งด่วนตามหลักธรรมาภิบาลของธนาคารกลางและผู้กำกับดูแล ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 อาทิ การกำหนด มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์
>>การกำกับดูแลกิจการที่ดี
>>รายละเอียดเพิ่มเติม