มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ของแบงก์ชาติ
ข้อมูลอัปเดตล่าสุด ณ วันที่ 28 ธ.ค. 2563
เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นแหล่งจ้างงานสำคัญของเศรษฐกิจไทย แบงก์ชาติได้ออกมาตรการ soft loan เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำได้
หากท่านเป็นเจ้าของธุรกิจ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อคงค้างไม่เกิน 500 ล้านบาท (สำหรับแต่ละสถาบันการเงิน) ท่านสามารถสมัครขอ soft loan ของแบงก์ชาติได้ โดยแบงก์ชาติได้กำชับให้สถาบันการเงินกระจายเงินสินเชื่อนี้อย่างทั่วถึง สาธารณชนสามารถติดตามความคืบหน้าของมาตรการ รวมถึงข้อมูลภาพรวมของลูกหนี้ที่ได้รับ soft loan ของแบงก์ชาติได้จากที่นี่
ทั้งนี้ ประกาศ ธปท. ได้กำหนดให้สถาบันการเงินห้ามเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมจากผู้ขอสินเชื่อในกรณีนี้
จากสถานการณ์ระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด 19 ส่งผลให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่อยู่ในช่วงฟื้นตัวจากการระบาดในรอบแรก อาจยังประสบปัญหาอยู่ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถผ่านช่วงที่ยากลำบากนี้ไปได้ แบงก์ชาติได้ปรับเกณฑ์ของ soft loan ให้ผ่อนคลายมากขึ้น ดังนี้
คุณสมบัติผู้รับสิทธิ์
- เป็นผู้ประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้
- มีวงเงินสินเชื่อเพื่อธุรกิจ (O/D, working cap, term loan, trade finance) รวมทั้งกลุ่มธุรกิจกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2562 โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติม ดังนี้
- กรณีเป็นบุคคลธรรมดา หากผู้ขอสินเชื่อเป็นสามี-ภรรยากัน จะนับเป็นกลุ่มธุรกิจเดียวกัน กล่าวคือ สามี-ภรรยา จะต้องมีวงเงินสินเชื่อรวมไม่เกิน 500 ล้านบาท
- กรณีเป็นนิติบุคคล หากเป็นบริษัทแม่-บริษัทลูกกัน จะนับเป็นกลุ่มธุรกิจเดียวกัน กล่าวคือ บริษัทแม่และบริษัทลูกจะต้องมีวงเงินสินเชื่อรวมไม่เกิน 500 ล้านบาท ทั้งนี้ นิยามของบริษัทแม่ หมายถึง บริษัทที่ถือหุ้นบริษัทอื่น (บริษัทลูก) เกินกว่าร้อยละ 50
- ไม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ยกเว้นกรณีที่จดทะเบียนในตลาด MAI
- ไม่ประกอบธุรกิจทางการเงิน
- ไม่เป็น NPL ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2562
ถ้าธุรกิจมีวงเงินกู้อยู่มากกว่า 1 สถาบันการเงิน ก็จะได้รับสิทธิ์นี้สำหรับแต่ละสถาบันการเงินที่มีวงเงินกู้รวมไม่เกิน 500 ล้านบาท
สิทธิ์ที่จะได้รับ
- สามารถขอสินเชื่อ soft loan ได้ไม่เกิน 2 ครั้ง โดยวงเงินทั้ง 2 ครั้งรวมกันต้องไม่เกิน 20% ของยอดสินเชื่อคงค้าง ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2562
- อัตราดอกเบี้ย ไม่เกิน 2% ต่อปี นาน 2 ปี โดยคิดตามวงเงินที่เบิกใช้จริง
- ฟรี ดอกเบี้ย 6 เดือนแรกสำหรับการกู้ทั้ง 2 ครั้ง โดยจ่ายคืนเฉพาะเงินต้น
- ฟรี ค่าธรรมเนียมทุกประเภท
- รัฐบาลค้ำประกันสินเชื่อให้ 70% ในกรณีที่มีวงเงิน ณ 31 ธ.ค. 2562 ไม่เกิน 50 ล้านบาท หรือ 60% ในกรณีที่มีวงเงินเดิมเกิน 50 ล้านบาท
ผู้ประกอบธุรกิจสามารถยื่นขอสินเชื่อ soft loan จากสถาบันการเงินได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยสถาบันการเงินต้องยื่นขอสินเชื่อ soft loan ให้แบงก์ชาติอนุมัติก่อนวันที่ 18 เมษายน 2564
ทั้งนี้ ในบางกรณี สถาบันการเงินอาจพิจารณาให้สินเชื่อเพิ่มเอง (วงเงินเกินกว่ายอดสินเชื่อคงค้างตามสิทธิ์) และมีการกำหนดเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป เช่น อัตราดอกเบี้ยสูงกว่า 2% ในส่วนของสินเชื่อเพิ่ม
สำหรับผู้ที่ยังไม่มีวงเงินกู้กับสถาบันการเงิน หรือต้องการวงเงินกู้เพิ่มเติม สามารถหารายละเอียดมาตรการความช่วยเหลืออื่น ๆ เช่น เงินกู้ soft loan ของธนาคารออมสิน หรือสินเชื่อจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่น ๆ ได้จาก ที่นี่
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- พระราชกำหนด การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ พ.ศ. ๒๕๖๓
- ประกาศ ธปท. ที่ สกส1. 2/2563 เรื่อง การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
- ประกาศ ธปท. ที่ สกส1. 6/2563 เรื่อง การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบธุรกิจวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ฉบับที่ 2)
- ประกาศ ธปท. ที่ สกส1. 7/2563 เรื่อง การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบธุรกิจวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ฉบับที่ 3)
- ธปท. ชี้แจงสภาฯ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับ พ.ร.ก. ซอฟต์โลน และ BSF
- ธปท. ชี้แจงสภาฯ ย้ำความชัดเจนของกลไกมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือ SMEs