เทคโนโลยี Blockchain กับการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน

บริการหนังสือคำประกันอิเล็กทรอนิกส์ (e-LG on Blockchain): รูปธรรมของการยกระดับภาคการเงินไทยด้วยเทคโนโลยี

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ เทคโนโลยี Blockchain เป็นหนึ่งในเทคโนโลยี FinTech ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และได้รับการจับตามองว่าจะมาเปลี่ยนแปลงและยกระดับบริการทางการเงินต่างๆ มากที่สุด  โดยผู้คนจำนวนมากต่างคาดหวังว่า Blockchain จะสามารถปฏิวัติระบบการเงินด้วยรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) เงินคริปโท (Cryptocurrency) หรือเงินคริปโทแบบมีสินทรัพย์อ้างอิง (Stablecoin) เป็นต้น

 

หลักการสำคัญของ Blockchain คือ การเป็นเทคโนโลยีเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่สามารถประมวลผลและบันทึกข้อมูลแบบไม่จำเป็นต้องมีตัวกลางควบคุม ประกอบกับมีกลไกการบันทึกข้อมูลที่สามารถป้องกันการปลอมแปลงได้ ซึ่งผลลัพธ์คือข้อมูลในระบบ Blockchain จะมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ส่งผลให้สามารถลดขั้นตอนและต้นทุนในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลได้อย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น การโอนเงินระหว่างประเทศจากเดิมที่เคยใช้เวลา 3 – 5 วันกว่าเงินจะถึงมือผู้รับ หากเป็นระบบ Blockchain จะลดลงมาเหลือ 3 – 5 นาทีเท่านั้น และยังเสียค่าธรรมเนียมถูกลงอีกด้วย ดังนั้นเทคโนโลยี Blockchain จึงเป็นที่คาดหวังว่าจะเป็นสิ่งที่จะสามารถสร้างนวัตกรรมการเงินใหม่ๆ และสร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจของโลก  

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยี Blockchain มาสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ในภาคการเงินผ่านกลไก Regulatory Sandbox ที่ผ่านมา มีนวัตกรรมและโครงการเป็นจำนวนมากที่ถูกนำมาทดลองใช้แบบจำกัด แต่โครงการสำคัญที่สะท้อนให้เห็นศักยภาพของ Blockchain คือ บริการหนังสือคำประกันอิเล็กทรอนิกส์ (โครงการ e-LG on Blockchain) 

 

บริการหนังสือคำประกันอิเล็กทรอนิกส์ เกิดจากการริเริ่มของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ 6 แห่งร่วมมือกันจั้ดตั้งบริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (BCI) ขึ้นมาเป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม จากนั้นได้ขยายความร่วมมือกับธนาคารอื่นๆ หน่วยงานภาครัฐ รัฐิสาหกิจ และองค์กรธุรกิจต่างๆ เพื่อยกระดับบริการหนังสือค้ำประกันให้มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่เดิมการขอหนังสือค้ำประกันแบบกระดาษที่ธนาคารใช้เวลา 3 – 7 วัน และมีความเสี่ยงจากการถูกปลอมแปลงเอกสาร แต่การออกหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ใช้เวลาเพียง 1 - 4 ชั่วโมงเท่านั้น และผู้รับผลประโยชน์ยังสามารถบริหารจัดการหนังสือค้ำประกันจากธนาคารต่างๆ ได้ในที่เดียวและป้องกันการปลอมแปลงข้อมูลในหนังสือค้ำประกันได้ด้วย 

 

ปัจจุบัน BCI มีธนาคารสมาชิก 19 รายและองค์กรภาครัฐและภาคธุรกิจรวมกันกว่า 169 ราย และมีมูลค่าของหนังสือค้ำประกันในระบบรวมกันกว่าแสนล้านบาท ซึ่งโครงการ e-LG on Blockchain นี้จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่จะสามารถสร้างนวัตกรรมการเงินต่อยอดได้อีกมากในอนาคต

 

หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนด้วยกันแล้ว โครงการ e-LG on Blockchain เป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในแง่ความร่วมมือกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และบริษัทเทคโนโลยี ในการสร้างเครือข่าย Blockchain แบบจำกัดผู้ใช้งาน (Blockchain Consortium) เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศด้วยฝีมือคนไทยให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ