มาตรการที่ตรงจุดจากมุมมอง กนง.

04 กรกฎาคม 2567

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง เมื่อ 12 มิ.ย. 67 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งในรายงานการประชุมครั้งนี้มีประเด็นน่าสนใจ คือ นอกจากเหตุผลเรื่องนโยบายการเงินแล้ว กนง. ได้เน้นถึงปัญหาของกลุ่มเปราะบางด้วย ได้แก่ ปัญหาหนี้ครัวเรือน และ ปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs พร้อมทั้งพูดถึงมาตรการที่ตรงจุดในการแก้ไข จึงขอชวนคุณผู้อ่านมาร่วมด้วยช่วยคิดเรื่องนี้กันครับ

หากพูดถึงเครื่องมือของแบงก์ชาติแล้ว หลายคนคงคิดถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นอันดับแรก เพราะมีผลกระทบต่อทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ และเป็นข่าวพาดหัวทุกครั้งที่มีการประชุมตัดสินนโยบาย ซึ่ง กนง. พูดเสมอว่าใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดูแลเป้าหมายในภาพรวม 3 เรื่อง ได้แก่ รักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน

 

จากมติ 6 ต่อ 1 เสียง กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่โน้มเข้าสู่ศักยภาพ เงินเฟ้อที่โน้มเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และการลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว และเห็นว่ามาตรการเฉพาะจุดจะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนและการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs ได้อย่างมีประสิทธิผลมากกว่านโยบายการเงินที่มีผลกระทบในวงกว้าง ทั้งนี้ พร้อมปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายหากพัฒนาการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ 1 เสียงเห็นว่าควรลดดอกเบี้ย เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง และช่วยบรรเทาภาระลูกหนี้ได้บ้างโดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กและครัวเรือนรายได้น้อย

 

กนง. ทุกท่านเห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจในภาพรวมมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่การฟื้นตัวแตกต่างกันในแต่ละภาคเศรษฐกิจ เมื่อวาดกราฟจะคล้ายรูปตัว K โดยแบ่งเป็นกลุ่ม K ขาบนที่ฟื้นตัวได้ดี เช่น ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง หรือกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง-สูงที่การบริโภคขยายตัว และกลุ่ม K ขาล่างที่ฟื้นตัวช้า เช่น ภาคการส่งออกและภาคการผลิตฟื้นตัวช้าจากปัจจัยเชิงวัฏจักรและปัญหาเชิงโครงสร้าง กลุ่มผู้มีรายได้น้อยถูกฉุดรั้งด้วยภาระหนี้และรายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ทั้งนี้ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่สามารถเลือกเฉพาะกลุ่มได้ โดยจะส่งผลต่อทุกคนทั้งกลุ่ม K ขาบนและขาล่างจึงเป็นวิธีที่ไม่มีประสิทธิภาพนัก อีกทั้งมีต้นทุนด้านเสถียรภาพการเงินในระยะยาว และเพียงบรรเทาภาระหนี้ได้บ้างแต่ไม่ได้แก้ต้นตอปัญหาที่กลุ่ม K ขาล่างเผชิญอยู่  หากเป็นเช่นนี้แล้ว กนง. มองทางแก้อื่นอย่างไร นอกเหนือจากอัตราดอกเบี้ยที่เป็นเครื่องมือของ กนง.

 

สำหรับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90.8% ต่อ GDP ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 67 กนง. เห็นว่าต้องแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนโดยสนับสนุนให้ ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาอย่างตรงจุด ทั้งการป้องกันปัญหาหนี้ในอนาคตโดยให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อตามความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ และการแก้ปัญหาหนี้ที่สั่งสมมาโดยใช้วิธีปรับปรุงโครงสร้างหนี้ อาทิ

 

มาตรการก่อน 1 หลัง 1 ซึ่งบังคับให้สถาบันการเงินต้องปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้อย่างน้อย 1 ครั้งก่อนที่ลูกหนี้จะจ่ายไม่ไหวจนกลายเป็นหนี้เสีย เช่น อาจลดยอดการผ่อนชำระต่อเดือนลงให้สอดคล้องกับรายได้โดยยืดระยะเวลาสัญญาของสินเชื่อออกไป เป็นต้น และต่อมาหากลูกหนี้กลายเป็นหนี้เสียแล้ว สถาบันการเงินต้องปรับโครงสร้างหนี้ให้อีกอย่างน้อย 1 ครั้งก่อนเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย และห้ามสถาบันการเงินโอนขายหนี้ในช่วง 60 วันหลังเสนอแผนปรับโครงสร้างหนี้

 

มาตรการปิดจบหนี้เรื้อรังสำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลที่เป็นวงเงินหมุนเวียน เช่น บัตรกดเงินสด ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จ่ายดอกเบี้ยรวมไปแล้วมากกว่าเงินต้นรวม สถาบันการเงินจะเสนอวิธีปิดหนี้ให้กับผู้มีหนี้เรื้อรังดังกล่าว โดยเปลี่ยนเป็นสินเชื่อผ่อนชำระเป็นงวด ลดดอกเบี้ยเหลือไม่เกิน 15% เพื่อให้ปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี

 

สำหรับปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อของธุรกิจ SMEs กนง. มองว่าต้นเหตุคือความเสี่ยงของ SMEs ที่อยู่ในระดับสูงและประเมินยาก สถาบันการเงินไม่มั่นใจว่า SMEs จะชำระหนี้คืนได้จึงไม่ปล่อยสินเชื่อ หรือคิดอัตราดอกเบี้ยสูงให้คุ้มกับความเสี่ยง การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงของผู้กู้ลง กนง. จึงเห็นว่าควรใช้มาตรการที่ตรงจุด เช่นมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของผู้กู้ต่อสถาบันการเงิน และทำให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจ SMEs ได้เพิ่มขึ้น และเห็นว่า ธปท. ควรประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาปรับกลไกค้ำประกันสินเชื่อให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เมื่อ 4 มิ.ย. 67 ธปท. ได้จัดสัมมนาระดมความเห็นเรื่องกลไกค้ำประกันเครดิตร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น บสย. ซึ่งได้รับความเห็นที่เป็นประโยชน์มากจาก SMEs และนักวิชาการ

 

การใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียงเครื่องมือเดียวคงไม่สามารถแก้ปัญหาทุกเรื่องในระบบเศรษฐกิจได้ แต่การใช้เครื่องมือเชิงนโยบายอื่น ๆ ที่ตรงจุดเข้ามาผสมผสาน ทั้งที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ธปท. เองและที่อยู่ในหน่วยงานอื่น จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถแก้ปัญหาเฉพาะจุดได้อย่างมีประสิทธิภาพครับ

** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **

ผู้เขียน :
นิธิสาร พงศ์ปิยะไพบูลย์

ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
คอลัมน์ “ร่วมด้วยช่วยคิด” นสพ. ประชาชาติธุรกิจ  
ฉบับวันที่ 4-7 กรกฎาคม 2567