ภาวะเศรษฐกิจการเงินภูมิภาค

สำนักงานภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ได้จัดทำรายงานภาวะเศรษฐกิจการเงินรายเดือน ไตรมาส และปี

เพื่อเผยแพร่ให้ผู้อ่านทราบสถานการณ์เศรษฐกิจการเงินรอบตัวอย่างรอบด้านและสามารถนำข้อมูลไปใช้ประกอบการวิเคราะห์ คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต 

​แถลงข่าวและรายงานเศรษฐกิจการเงินภูมิภาค

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือ เดือนมีนาคม 2566

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคเหนือเดือนมีนาคม 2566 ชะลอลงจากเดือนก่อน
  • ปัญหาหมอกควันที่มีต่อเนื่อง กระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งการท่องเที่ยวและการบริโภค
  • อย่างไรก็ดี รายได้เกษตรกรที่ยังขยายตัวได้ และตลาดแรงงานปรับดีขึ้นต่อเนื่องยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจอยู่ในทิศทางฟื้นตัว

 

รายได้เกษตรกร ขยายตัวต่อเนื่อง

จากผลผลิตข้าวนาปรังขยายตัวสูง จากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ส่วนผลผลิตอ้อยโรงงานชะลอลงเพราะเร่งเก็บเกี่ยวไปช่วงก่อนหน้า ขณะที่ด้านราคาชะลอลงเล็กน้อย ตามราคาอ้อยโรงงาน ส่วนหนึ่งจากฐานสูงในปีก่อน ประกอบกับปริมาณอ้อยไฟไหม้เพิ่มขึ้น ทำให้ราคารับซื้อลดลง

 

ภาคอุตสาหกรรม ทรงตัว

หมวดอาหารแปรรูปขยายตัว ตามความต้องการที่มีต่อเนื่อง และการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในยานยนต์เพิ่มขึ้น หมวดเครื่องดื่มหดตัวน้อยลง จากการผลิตเพิ่มเพื่อรองรับช่วงเทศกาลอย่างไรก็ตาม การผลิตส่งออกสินค้าฟุ่มเฟือยอาทิ เฟอร์นิเจอร์ ผลิตภัณฑ์ไม้ เซรามิก และเครื่องประดับ รวมทั้งชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หดตัวต่อเนื่อง ตามอุปสงค์คู่ค้าที่ยังอ่อนแอ

 

การท่องเที่ยว ชะลอลง

นักท่องเที่ยวไทยลดลง จากสถานการณ์หมอกควันในพื้นที่มีต่อเนื่อง สะท้อนจากการค้นหาที่พัก และอัตราการเข้าพักปรับลดลง และบางส่วนยกเลิกการเดินทาง ด้านนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากฐานที่ต่า โดยเฉพาะชาวจีนและเกาหลีใต้

 

การอุปโภคบริโภค กลับมาหดตัว

จากปัญหาหมอกควัน ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง สะท้อนจากการใช้จ่ายหมวดบริการชะลอลงสอดคล้องกับการท่องเที่ยว ประกอบกับหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคชะลอลง โดยเฉพาะกลุ่มแอลกอฮอลล์และเครื่องดื่มลดลง อย่างไรก็ดี หมวดยานยนต์ขยายตัว จากการส่งมอบรถได้ดีขึ้น

 

การลงทุนภาคเอกชน หดตัวต่อเนื่อง

ทั้งจากการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ และการก่อสร้าง โดยเครื่องจักรและอุปกรณ์หดตัวตามการนำเข้าสินค้าทุนในกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ ประกอบกับการลงทุนก่อสร้างหดตัวตามการจาหน่ายวัสดุก่อสร้างเป็นสาคัญ

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร กลับมาขยายตัว

จากการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปและสินค้าอุปโภคบริโภคไปเมียนมา รวมทั้งผลไม้ ทุเรียน ลำไย และมังคุดสด ไปจีนตอนใต้ ด้านการนำเข้าหดตัวมากขึ้น ตามการนำเข้าผลไม้จากจีนที่กลับมาหดตัว หลังนำเข้ามากในช่วงก่อนหน้า และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเมียนมายังหดตัว

 

อัตราเงินเฟ้อ ลดลง ตามหมวดอาหารสดและพลังงาน

 

ตลาดแรงงาน ปรับดีขึ้น สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ปรับเพิ่มขึ้น

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
3 พฤษภาคม 2566

 

Contact for more information

ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

0 5393 1168

TanaporD@bot.or.th

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนมีนาคม 2566

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หดตัวจากเดือนก่อน ตามการอุปโภคบริโภคที่หดตัว จากมาตรการภาครัฐที่น้อยกว่าปีก่อน
  • รายได้เกษตรกรหดตัวตามผลผลิตมันสำปะหลังและอ้อยที่ลดลง การลงทุนภาคเอกชนหดตัวต่อเนื่อง สำหรับการผลิตอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลงแต่การผลิตเพื่อการส่งออกยังคงได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอตัว
  • อย่างไรก็ดี การค้าผ่านด่านศุลกากรและจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านปรับดีขึ้นหลังการเปิดประเทศ

การอุปโภคบริโภค กลับมาหดตัว

จากมาตรการภาครัฐที่น้อยกว่าปีก่อน อาทิ โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 และต้นทุนค่าครองชีพที่ทรงตัวในระดับสูงที่ยังกดดันการบริโภค ทำให้การใช้จ่ายในสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้ากึ่งคงทนหดตัว รวมทั้งสินค้าคงทนหดตัว หลังเร่งส่งมอบไปในเดือนก่อน ขณะที่การใช้จ่ายหมวดบริการขยายตัวจากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ระยะที่ 5

 

การลงทุนภาคเอกชน หดตัวต่อเนื่อง

ทั้งการลงทุนด้านก่อสร้าง ตามพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างและปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ และการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่หดตัวจากการนำเข้าสินค้าทุน ตามทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่หดตัวสูงต่อเนื่อง และการลงทุนเครื่องจักรภายในประเทศ ซึ่งเป็นผลจากการเร่งลงทุนในปีก่อน

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร ขยายตัวต่อเนื่อง

การส่งออก กลับมาขยายตัว ตามการส่งออกไปจีนที่ขยายตัวในทุกหมวดสินค้า ปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์ที่ส่งไปสปป.ลาว รวมถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหารและเครื่องดื่มที่ส่งไปเวียดนาม การนำเข้าขยายตัวต่อเนื่อง ตามการนำเข้าสินค้าจากจีนเกือบทุกหมวดสินค้า เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือที่ขยายตัวจากผลของการเปิดประเทศ

 

รายได้เกษตรกร หดตัว

จากผลผลิตที่หดตัวตามผลผลิตของมันสำปะหลังที่ได้รับผลกระทบของอุทกภัยในปลายปีก่อน และผลผลิตอ้อยที่ลดลง จากการที่เกษตรกรใส่ปุ๋ยน้อยในช่วงการเจริญเติบโตของพืชน้อยลง เนื่องจากราคาปุ๋ยเคมีเพิ่มสูงขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

 

ภาคอุตสาหกรรม หดตัวน้อยลง

จากการผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพาราที่เพิ่มขึ้นตามพื้นที่กรีดยางที่เพิ่มขึ้น และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับดีขึ้นจากการเพิ่มสต็อก แม้การผลิตยังคงอยู่ในระดับต่ำจากเศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอลง อย่างไรก็ตาม การผลิตน้ำตาลและแป้งมันสำปะหลังลดลงจากผลผลิตที่ลดลง

 

การท่องเที่ยว ขยายตัวเล็กน้อย

จากการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นในจังหวัดหลัก เช่น งานคอนเสิร์ต งานแข่งขันกีฬา ประกอบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติจาก สปป. ลาวที่เข้ามาท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอย เนื่องในโอกาสวันสตรีสากลภายหลังการเปิดประเทศ

 

อัตราเงินเฟ้อ ลดลง ตามราคาพลังงานและอาหารสด

 

ตลาดแรงงาน ทรงตัว ตามจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ใกล้เคียงเดิม

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
28 เมษายน 2566

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โทรศัพท์ : 0 4391 3532
E-mail : Neo-econ-div@bot.or.th

 

Contact for more information

ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

0 4391 3532

Neo-econ-div@bot.or.th

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ เดือนมีนาคม 2566

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคใต้ เดือนมีนาคม 2566 ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อน
  • จากการบริโภคที่เร่งในช่วงก่อนตามการส่งมอบรถยนต์และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐที่หมดลง 
  • นอกจากนี้ กำลังซื้อของประเทศคู่ค้าและเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความไม่แน่นอน ส่งผลให้การผลิตอุตสาหกรรม การลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ และมูลค่าส่งออกสินค้าหดตัว 
  • อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวยังเป็นแรงส่งสำคัญทางเศรษฐกิจ

รายได้เกษตรกร หดตัวมากขึ้น

จากด้านราคาที่หดตัวต่อเนื่องในทุกสินค้าสำคัญ  โดยราคายางพาราและกุ้งขาวหดตัวจากอุปสงค์ คู่ค้าที่ชะลอลง ขณะที่ด้านผลผลิตชะลอลงจากปาล์มน้ำมันเป็นสำคัญ ตามการเร่งเก็บเกี่ยวไปในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ผลผลิตยางพาราและกุ้งขาวปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน จากปริมาณน้ำฝนที่น้อยลง

 

ภาคอุตสาหกรรม กลับมาหดตัว

จากอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งที่หดตัวตามกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่ลดลงโดยเฉพาะญี่ปุ่น สำหรับการผลิตยางพาราแปรรูปลดลงจากน้ำยางข้น สอดคล้องกับความต้องการถุงมือยางที่หดตัว รวมถึงยางแท่งและยางแผ่นรมควันหดตัวตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าหลักที่ลดลง ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี การผลิตไม้ยางและผลิตภัณฑ์ขยายตัวต่อเนื่อง จากตลาดจีนที่กลับมาดีขึ้นหลังเปิดประเทศ

 

การท่องเที่ยว ขยายตัวต่อเนื่อง

จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ที่ยังมีต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวมาเลเซีย ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ยังมีจำนวนน้อย ด้านนักท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ผลดีจากมาตรการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5

 

การอุปโภคบริโภค ขยายตัวชะลอลง

จากหมวดยานยนต์ที่ชะลอตัว หลังเร่งส่งมอบไปช่วงก่อน เช่นเดียวกับสินค้ากึ่งคงทนที่ชะลอลง หลังหมดมาตรการช้อปดีมีคืน สำหรับการใช้จ่ายหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ชะลอลง ส่วนหนึ่งจากกำลังซื้อภาคเกษตรกรที่ลดลง อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น อานิสงส์จากโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5

 

การลงทุนภาคเอกชน หดตัวต่อเนื่อง

ตามการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องจักรการผลิตยางพาราที่ยังคงหดตัว เช่นเดียวกับยอดจดทะเบียนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่หดตัว ส่วนการลงทุนภาคก่อสร้างกลับมาขยายตัว ตามพื้นที่อนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยและอุตสาหกรรม อาทิ โรงไฟฟ้า ที่เพิ่มขึ้น

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร หดตัว

การนำเข้ากลับมาหดตัว ตามการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และวัสดุก่อสร้าง ขณะที่การส่งออกหดตัวต่อเนื่อง ตามการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับยางพารา และประมง โดยเฉพาะปลา รวมถึงการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบชะลอลงจากเดือนก่อน

 

อัตราเงินเฟ้อ ลดลง ตามหมวดพลังงานและอาหารสดที่ปรับลดลง ส่วนหนึ่งจากฐานสูงปีก่อน

 

ตลาดแรงงาน ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง สะท้อนจากตัวเลขการจ้างงาน ( ม.33 ) และรายได้แรงงานที่เพิ่มขึ้น ตามความต้องการแรงงานในพื้นที่ท่องเที่ยวที่ยังคงมีต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคการค้า ร้านอาหารและโรงแรม

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
28 เมษายน 2566

 

Contact for more information

ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

0 7443 4890

FinancialEconomic1-SRO@bot.or.th

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

xxxxxxxxxxxxxx

​แถลงข่าวและรายงานเศรษฐกิจการเงินภูมิภาคย้อนหลัง

ข้อมูลเศรษฐกิจการเงินย้อนหลัง

  • มกราคม
  • กุมภาพันธ์
  • มีนาคม
  • ไตรมาส 1
  • เมษายน
  • พฤษภาคม
  • มิถุนายน
  • ไตรมาส 2
  • กรกฎาคม 
  • สิงหาคม
  • กันยายน
  • ไตรมาส 3 
  • ตุลาคม
  • พฤศจิกายน
  • ธันวาคม 
  • ไตรมาส 4
  • ปี 2565