Northern GRP Forecast
ใช้เวลาอ่าน 999 นาที
เกษตร ท่องเที่ยว อุตสาหกรรม
ดันเศรษฐกิจภาคเหนือ ปี 66 โต 2-3 %
แต่ภัยแล้งจะทำให้ในปี 67 ชะลอมาอยู่ที่ 0.7-1.7%
ปี 66 ขยายตัวต่อเนื่อง จากผลผลิตเกษตรที่ขยายตัวดีในช่วงครึ่งปีแรกจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย การท่องเที่ยวที่ขยายตัว โดยนักท่องเที่ยวชาวไทยฟื้นตัวเร็วและสูงกว่าช่วงก่อนโควิด ขณะที่ต่างชาติเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นตามการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น แต่การผลิตเพื่อส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกหดตัวตามอุปสงค์ต่างประเทศ สำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงานและรายได้ที่ปรับดีขึ้น ส่งผลให้ ภาคการค้า ก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ขยายตัว
ปี 67 ขยายตัวชะลอลง จากภาวะเอลนีโญที่ส่งผลให้ ผลผลิตเกษตรหดตัว โดยเฉพาะข้าวนาปรัง รวมทั้งพืชที่ใช้เวลาเติบโตนาน เช่น อ้อย และมันสำปะหลัง ที่เสี่ยงได้รับผลจากภัยแล้ง การท่องเที่ยวยังขยายตัว แต่ชะลอลงบ้าง จากฐานที่สูงตามจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่ฟื้นตัวดีในปีก่อน ผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัว การผลิตเพื่อส่งออกขยายตัวสูงขึ้น ตามเศรษฐกิจโลก รวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงานที่ยังขยายตัว ส่งผลดีต่อ ภาคการค้า ก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์
รายได้สุทธิครัวเรือนภาคเหนือ ปี 66 ปรับดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การจ้างงานและรายได้ ขณะที่การลดลงของอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ส่งผลให้รายจ่ายชะลอลง อย่างไรก็ดี ปี 67 คาดว่ารายได้จะปรับลดลง จากกลุ่มครัวเรือนเกษตรที่ได้รับผลจากภาวะเอลนีโญ และกลุ่มครัวเรือนในภาคการท่องเที่ยวที่จะชะลอลง อย่างไรก็ดี รายได้สุทธิของกลุ่มการค้าและอุตสาหกรรม มีทิศทางขยายตัว
ปี 66 ขยายตัว จากผลผลิตที่ได้รับผลดีจากปริมาณน้ำฝนที่ดีต่อเนื่องตั้งแต่ปีก่อน และราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในเกณฑ์สูง ทำให้รายได้เกษตรกรขยายตัวดี อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลัง ภาวะเอลนีโญจะทำให้ปริมาณฝนลดลง และทำให้ผลผลิตข้าวนาปีที่เป็นพืชสำคัญลดลง
ปี 67 หดตัว จากภาวะเอลนีโญที่ยังมีต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนและผลผลิตพืชฤดูแล้งลดลง เช่น ข้าวนาปรัง รวมทั้งพืชที่ใช้เวลาเติบโตนาน เช่น อ้อย และมันสำปะหลัง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรปรับลดลง โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรในภาคเหนือตอนล่างที่ปลูกข้าวและพืชไร่
ปี 66 ขยายตัว จากการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ ตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวในภาพรวม โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม และกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าฟุ่มเฟือยที่คาดว่าจะทยอยปรับดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ตามความต้องการของคู่ค้าที่เริ่มกลับมา
ปี 67 ขยายตัวต่อเนื่อง จากสินค้าในกลุ่มอาหารแปรรูปที่มีความต้องการในตลาดโลกต่อเนื่อง รวมทั้ง กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวตามความต้องการของประเทศคู่ค้า ประกอบกับโรงงานขนาดใหญ่แห่งใหม่ที่จะผลิตได้เต็มศักยภาพ ขณะที่ด้านการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศยังดีต่อเนื่อง
ปี 66 ขยายตัวดี สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งภาคท่องเที่ยว บริการ และการผลิต ที่ขยายตัวดี ส่งผลให้การจ้างงานและรายได้นอกภาคเกษตรปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับรายได้ภาคเกษตรที่ขยายตัวดี จะส่งผลดีต่อกำลังซื้อ ทำให้การบริโภค และภาคการค้าขยายตัว
ปี 67 ขยายตัว ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยปรับดีขึ้น รวมถึงการจ้างงานและรายได้นอกภาคเกษตรที่มีทิศทางดีต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม รายได้ภาคเกษตรที่ลดลง จะทำให้การบริโภคและภาคการค้าชะลอลงบ้าง
ปี 66-67 ภาคก่อสร้างขยายตัว ส่วนหนึ่งจากการลงทุนภาครัฐ เช่น การพัฒนาถนนวงแหวนรอบเมืองในหลายจังหวัด รวมทั้งโครงการขนาดใหญ่ เช่น รถไฟรางคู่เด่นชัย-เชียงของ ซึ่งจะช่วยดึงดูดการลงทุนภาคเอกชน ด้านภาคอสังหาริมทรัพย์ขยายตัว ตามความต้องการที่อยู่อาศัยที่มีต่อเนื่อง และภาพรวมเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น รวมทั้งแนวโน้มการเติบโตของเมือง โดยเฉพาะหัวเมืองหลัก สอดคล้องกับการย้ายถิ่นเข้าภาคเหนืออย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน
ปี 66 ขยายตัวดี จากการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่มีสัดส่วนสูงกว่า 80% ซึ่งคาดว่าจะกลับมาสูงกว่าก่อนโควิด ประกอบกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะเร่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเอเชีย ยุโรป และอเมริกา สอดคล้องกับจำนวนเที่ยวบินที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ
ปี 67 ขยายตัวชะลอลงบ้าง โดยนักท่องเที่ยวชาวไทยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากฐานที่สูงในปีก่อน แต่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิดได้