หลักสูตรและชุดสื่อการสอน - ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

หลักสูตรและชุดสื่อการสอนความรู้ทางการเงินสำหรับคุณครู นักเรียน และนักศึกษา

ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น



การวางแผนทางการเงิน


วัตถุประสงค์
ตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนทางการเงิน และวิธีการออมเงินที่เหมาะสมกับตนเอง
► วิธีการวางแผนทางการเงิน

ดาวน์โหลดเอกสาร
► เอกสารเนื้อหาการบรรยาย
► เอกสารประกอบสำหรับผู้สอน
► สื่อการสอน

การเงินยุคดิจิทัล
(Digital Financial Literacy)

วัตถุประสงค์
รู้จักบริการทางการเงินในยุคดิจิทัล และสามารถเลือกใช้บริการได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย
► ช่องทางการใช้จ่ายและชำระเงิน
► ช่องทางการฝาก-ถอนเงิน
ดาวน์โหลดเอกสาร
► เอกสารเนื้อหาการบรรยาย
► เอกสารประกอบสำหรับผู้สอน
► สื่อการสอน

รู้ทันภัยทางการเงิน

วัตถุประสงค์
รู้เท่าทันและพร้อมรับมือกับภัยทางการเงินรูปแบบต่าง ๆ
► รู้จักภัยการเงิน

ดาวน์โหลดเอกสาร
► เอกสารเนื้อหาการบรรยาย
► เอกสารประกอบสำหรับผู้สอน
► สื่อการสอน

เส้นทางอาชีพกับการเงิน

วัตถุประสงค์
ตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนทางการเงิน และวิธีการออมเงินที่เหมาะสมกับตนเอง

ดาวน์โหลดเอกสาร
► เอกสารประกอบสำหรับผู้สอน
► สื่อการสอน


การวางแผนทางการเงิน กลับขึ้นด้านบน
การวางแผนการเงินเป็นเครื่องมือที่ช่วยเตรียมความพร้อมและนำชีวิตไปสู่ความมั่นคงทางการเงิน ซึ่งควรเริ่มจากการปลูกฝังนิสัยการออมและการใช้เงินอย่างสมเหตุสมผลตั้งแต่วัยเด็กเพื่อบ่มเพาะวินัยทางการเงินไว้ก่อน
ความสำคัญของการวางแผนทางการเงิน
การวางแผนทางการเงิน เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้บริหารจัดการเงินได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ทำให้มีรายได้เพียงพอกับรายจ่าย มีเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉิน มีเงินออมไว้เก็บเกี่ยวดอกผลหรือลงทุน ทำให้มีอนาคตที่มั่นคง มีเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ และไม่ว่าคุณจะมีอายุเท่าไร หรือทำอาชีพอะไรก็จำเป็นต้องวางแผนทางการเงินกันทั้งนั้น เพราะเงินมีความสำคัญและจำเป็นต่อการดำรงชีวิต และช่วยสร้างฝันให้เป็นจริงได้
วิธีการวางแผนทางการเงิน
ขั้นตอนการวางแผนทางการเงิน การวางแผนทางการเงินมี 5 ขั้นตอน ได้แก่ 
1. สำรวจตนเอง : สำรวจว่าในแต่ละเดือนมีรายรับเท่าไร และมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง และคาดการณ์ว่าจะมีค่าใช้จ่ายใดที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ และต้องใช้เงินก้อนใหญ่เมื่อใด 
2. จัดสรรเงิน : ให้แบ่งรายรับส่วนหนึ่งไปออมก่อนใช้ อย่างน้อย 1 ใน 4 ของรายได้ หรืออาจเริ่มต้นที่ 10% ของรายได้ แล้วค่อยนำเงินที่เหลือไปใช้จ่าย การแบ่งออมก่อนใช้จะทำให้มีเงินเก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน หรือสามารถนำเงินออมดังกล่าวไปลงทุนเพื่อให้เกิดผลตอบแทนงอกเงยได้ 
3. จัดทำแผนการออม : เมื่อมีเป้าหมายในการออมแล้ว ให้นำจำนวนเงินที่ต้องการออมหารด้วยระยะเวลาในการออม จะได้รู้ว่าควรเก็บเงินเดือนละเท่าไหร่ แล้วจึงหาวิธีการออมให้ได้เงินตามที่ต้องการ เช่น ลดรายจ่าย และ/หรือ เพิ่มรายได้ ว่าแต่ละวิธีได้เงินเท่าไร เพียงพอกับเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ แล้วทำเป็นแผนการออม 
4. ใช้จ่ายตามที่จัดสรรและออมตามแผน : แม้จะกำหนดเป้าหมายการออมและจัดทำแผนการออมดีเพียงใด แต่ถ้าไม่ทำตามอย่างเคร่งครัด หรือเผลอใจไปกับสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในแผน การบรรลุเป้าหมายคงเป็นไปได้ยาก 
5. ปรับเปลี่ยนแผนตามสถานการณ์ : หมั่นตรวจสอบเป็นระยะว่าการออมเป็นไปตามแผนหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามแผนก็ต้องหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร หลังจากนั้นหาทางแก้ไขหรือปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อย่าลืมว่าหลักสำคัญในการทำตามแผน คือ ทำโดยไม่ตึงหรือไม่หย่อนจนเกินไป
วิธีการตั้งเป้าหมายทางการเงิน การตั้งเป้าที่ดีควรใช้หลัก “SMART”
S = Specific ระบุให้ชัดเจนว่าจะทำอะไร เพื่ออะไร
M = Measurable วัดผลได้ โดยกำหนดเป็นตัวเลข
A = Achievable ทำสำเร็จได้ และรู้ว่าต้องทำอย่างไรจึงจะถึงเป้าหมาย
R = Realistic มีความเป็นไปได้จริง ไม่เพ้อฝัน
T = Time Bound มีกำหนดระยะเวลาที่แน่ชัด
ตัวอย่าง การตั้งเป้าหมายทางการเงินที่ดี เช่น นายแบงก์ต้องการออมเงินเพื่อทำโครงงานจบการศึกษา เป็นจำนวนเงิน 2,000 บาท ภายในระยะเวลา 2 เดือน
เครื่องมือสำหรับการวางแผนทางการเงิน
เครื่องมือสำหรับการวางแผนทางการเงินมีด้วยกัน 2 เครื่องมือ ได้แก่
(1) บันทึกรายรับ-รายจ่าย : เป็นการจดว่า ทุกครั้งที่เรามีรายรับเข้ามา เราใช้จ่ายอะไรไปบ้างแล้ว เพื่อให้เรารู้จัก “รูปแบบการใช้จ่าย” ของตนเอง เช่น สัดส่วนรายจ่ายในเดือนเดือนนึงของเราเป็นค่าอาหารและเครื่องดื่มเป็นส่วนใหญ่ ลำดับรองลงมาเป็นค่าซื้อเสื้อผ้า เป็นต้น
(2) แผนใช้เงิน : เป็นการจดว่า ทุกครั้งที่เรามีรายรับเข้ามา เราจะให้ค่าใช้จ่ายอะไรเกิดขึ้นบ้างในอนาคต แล้ววางแผนรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น เช่น รายได้ไม่พอรายจ่ายรึเปล่า ต้องหาเพิ่มไหม หรือต้องลดรายจ่ายไหม เพื่อให้เราสามารถจัดสรรเงินหรือวางแผนรับมือกับรายจ่ายหรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างทันท่วงที
เคล็ดลับในการออมเงิน
1. ออมก่อนใช้ หากใช้เงินก่อนที่จะออม มักมีเงินเหลือออมน้อยกว่าที่ตั้งใจไว้ หรืออาจไม่เหลือออมเลย ดังนั้น หากคุณออมก่อนใช้หรือออมทันทีเมื่อรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่องจนเป็นนิสัย จะช่วยให้ออมเงินได้ง่ายขึ้น
2. ออมเงิน 1 ใน 4 ของรายได้ในแต่ละเดือน อย่างไรก็ตามอัตราส่วนนี้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม ขึ้นอยู่กับรายได้ปัจจุบันและแผนทางการเงินที่วางไว้ แต่ถ้ายังมีรายได้น้อยแต่มีรายจ่ายจำเป็นจำนวนมาก อาจเริ่มออมที่ 10% ของรายได้ก่อน
3. แบ่งการออมตามเป้าหมาย โดยสามารถแบ่งวัตุประสงค์การออมออกเป็น 5 เป้าหมาย ดังนี้
1) เงินออมเผื่อฉุกเฉิน : เป็นเงินออมลำดับแรกที่ทุกคนควรมีอย่างน้อย 3 - 6 เท่าของรายจ่ายจำเป็นในแต่ละเดือน ที่สำคัญควรเก็บในบัญชีที่เบิกถอนได้ง่าย หากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็สามารถถอนมาใช้ได้เลย โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น
2) เงินออมสำหรับรายจ่ายก้อนโต : หากรู้ล่วงหน้าว่าช่วงไหนจะต้องใช้เงินจำนวนมาก เช่น เก็บเงินซื้อโทรศัพท์มือถือ ควรวางแผนเก็บเงินแต่เนิ่น ๆ โดยทยอยออมเงินทุกเดือนจนเป็นก้อนใหญ่ จะได้ไม่มีภาระค่าใช้จ่ายหนักเกินไป
3) เงินออมเพื่อซื้อของที่อยากได้ : เป็นการออมเพื่อนำเงินไปใช้จ่ายในสิ่งที่ต้องการ โดยส่วนมากมักเป็นรายจ่ายไม่จำเป็น ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดหากไม่ทำให้เดือนร้อนหรือเป็นหนี้
4) เงินออมเพื่อการลงทุน : เป็นการออมเพื่อนำเงินไปลงทุนให้งอกเงยและสร้างความมั่นคงระยะยาว
5) เงินออมไว้ใช้ในยามเกษียณ : ในวัยเกษียณเป็นวัยที่คนส่วนใหญ่ไม่มีรายได้เพิ่มเติม การเก็บเงินก้อนนี้จะทำให้คุณมีเงินใช้ในยามเกษียณได้อย่างไม่ลำบาก
4. เทคนิคการออมเงินที่สนุกสนาน ทำได้ง่าย จะช่วยสร้างวินัยและแรงจูงใจให้ออมเงินอย่างสม่ำเสมอ เช่น หยอดกระปุกก่อนออกจากบ้านวันละ 10 บาท เก็บเศษของรายรับไว้เป็นเงินออม เก็บเงินทอนเป็นเงินออม เก็บแบงก์ 50 และซื้อของไม่จำเป็นเท่าไร ต้องเก็บเงินออมเท่านั้น เป็นต้น
ดาวน์โหลดเอกสาร   (โปรดใช้ Google Chrome ในการดาวน์โหลดเอกสาร หรือคลิกขวาที่ลิงก์และเลือก Save link as)
◼  สื่อการสอน
◾ Infographic


การเงินยุคดิจิทัล (Digital Financial Literacy) กลับขึ้นด้านบน
ในปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในระบบการเงินมากขึ้นมากเพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ทำให้การทำธุรกรรมทางการเงินและการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันสะดวก สบาย รวดเร็วและง่ายขึ้นมาก การเข้าใจเรื่องของการใช้จ่ายในยุคดิจิทัล จะทำให้เราสามารถเลือกใช้บริการทางการเงินได้อย่างเหมาะสม ปลอดภัย และเกิดประโยชน์สูงสุด
ช่องทางการใช้จ่ายและชำระเงิน
บัตรอิเล็กทรอนิกส์ : คือ บัตรพลาสติกที่ใช้แทนเงินสด แบ่งเป็น 3 ประเภท ตามช่วงเวลาการจ่ายเงินหรือถูกหักบัญชีเงินฝาก ดังนี้
1) บัตรที่จ่ายเงินทันทีที่ใช้ ได้แก่ บัตร ATM และบัตรเดบิต 
2) บัตรที่จ่ายเงินหลังใช้ ได้แก่ บัตรเครดิต 
3) บัตรที่ต้องเติมเงินก่อนใช้ ได้แก่ บัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่ทุกคนรู้จักกันดีในชื่อว่า e-Wallet เช่น บัตรโดยสารรถไฟฟ้า และ Money wallet ต่าง ๆ
◼  Online Banking : คือ การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันของธนาคารที่เราเปิดบัญชีเงินฝากเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงิน จ่ายบิล เช็กยอดเงินในบัญชี ซื้อของออนไลน์ เราก็สามารถทำรายการผ่านอินเตอร์เน็ตบนเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ ซึ่งเราจะเรียกการทำรายการผ่านอินเตอร์เน็ตว่า Internet Banking แต่หากถ้าเราทำรายการผ่านแอพพลิเคชั่นของธนาคารบนมือถือเราก็จะเรียกการทำรายการประเภทนี้ Mobile Banking
◼  พร้อมเพย์ (Prompt Pay) : คือ การโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากหรือบัญชี e-Money ด้วยเบอร์โทรศัพท์มือถือ เลขประจำตัวประชาชน หรือหมายเลข e-Wallet ของผู้รับโอน หากโอนเงินไม่เกิน 5,000 บาท ผู้โอนไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
◼  การชำระเงินด้วย QR Code : คือ การนำ QR Code มาใช้เป็นช่องทางการเข้าถึงข้อมูลการชำระเงินต่าง ๆ เช่น ชื่อและเลขที่บัญชีเงินฝาก หรือ e-Wallet ของร้านค้า บางครั้งอาจระบุราคาสินค้าได้ด้วย
ช่องทางการฝาก-ถอนเงิน
เงินฝากดิจิทัล (e-Saving) : คือ บริการเงินฝากที่ลูกค้าสามารถเปิดบัญชีได้ด้วยตนเองผ่านอินเตอร์เน็ต หรือแอปพลิเคชันของธนาคารโดยไม่ต้องไปที่สาขา และไม่มีสมุดคู่ฝาก ซึ่งส่วนใหญ่จะได้ดอกเบี้ยสูงกว่าบัญชีออมทรัพย์ทั่วไป แต่ต้องมีการยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชนผ่านจุดบริการของธนาคาร หรือผ่านระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนดิจิทัล (National Digital ID : NDID)
กดเงินไม่ใช้บัตร : คือ บริการกดเงินสดออกจากตู้ ATM โดยทำรายการผ่านแอปพลิเคชันธนาคารบนมือถือแทนการใช้บัตร ATM
ข้อแนะนำเมื่อโอนเงินผิด
1) ติดต่อธนาคารต้นทางเพื่อแจ้งปัญหา
2) นำหลักฐานการโอนเงินไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ
3) นำใบแจ้งความไปติดต่อธนาคารต้นทางเพื่อประสานกับธนาคารปลายทางติดตามเงินคืนให้
4) ธนาคารปลายทางจะคืนเงินให้ผู้โอนได้เมื่อได้รับความยินยอมจากผู้รับโอนเป็นลายลักษณ์อักษร
5) หากผู้รับโอนไม่ยินยอม ผู้โอนอาจต้องฟ้องร้องเพื่อขอเงินคืน
วิธีใช้จ่ายในยุคดิจิทัลให้ปลอดภัย
ในยุคดิจิทัลที่อะไร ๆ ก็ง่ายดายไปหมด แม้แต่การโจรกรรมข้อมูล หรือหลอกลวงทำให้เกิดภัยทางการเงินต่างๆ มากมาย หากอยากป้องกันภัยการเงินที่อาจจะเกิดขึ้น ให้ลองทำพฤติกรรมเหล่านี้ให้เป็นนิสัยอยู่เสมอ เพื่อความปลอดภัยทางการเงินในยุคดิจิทัล
ดาวน์โหลดเอกสาร   (โปรดใช้ Google Chrome ในการดาวน์โหลดเอกสาร หรือคลิกขวาที่ลิงก์และเลือก Save link as)
◼  สื่อการสอน
◾ Infographic


รู้ทันภัยทางการเงิน กลับขึ้นด้านบน
ภัยทางการเงินหรือกลโกงที่มิจฉาชีพใช้หลอกเอาเงินจากเหยื่อได้มีการปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยขึ้นตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี จนสร้างความเสียหายกับประชาชนในวงกว้างและมีมูลค่าความเสียหายเพิ่มขึ้น ดังนั้น ผู้ใช้บริการทางการเงินจะต้องมีความรอบคอบ มีสติรู้เท่าทันกลโกง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของแก๊งมิจฉาชีพ
รู้จักภัยการเงิน
ในที่นี้ขอยกตัวอย่างภัยทางการเงินยอดฮิตที่คุณหรือคนใกล้ชิดเคยเจอหรือได้ยินข่าวกันอยู่อยู่บ่อย ๆ ได้แก่
แชร์ลูกโซ่: เป็นวิธีการหลอกลวงระดมเงินจากประชาชนที่ทำกันเป็นเครือข่าย โดยโฆษณาจูงใจว่าจะได้รับผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนทั่วไป แชร์ลูกโซ่มักแอบแฝงมากับธุรกิจขายตรง หรือการชักชวนให้ลงทุนในธุรกิจที่มีกำไรมาก โดยจะหาสมาชิกใหม่ไปเรื่อย ๆ เพื่อหมุนเงินค่าสมัครสมาชิกหรือเงินก้อนแรกที่จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือเริ่มลงทุนมาจ่ายผลตอบแทนให้สมาชิกเดิมเพื่อหลอกให้ลงทุนต่อไป
แก๊งคอลเซ็นเตอร์ : มีการทำงานกันเป็นทีม โดยจะสุ่มเบอร์เพื่อโทรศัพท์ไปหาเหยื่อหรือใช้ข้อความอัตโนมัติ และแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตำรวจ หรือพนักงานธนาคาร เพื่อหลอกให้เหยื่อตกใจกลัว ตื่นเต้นดีใจ หรือเกิดความโลภ จนหลงเชื่อแล้วรีบไปทำรายการที่ตู้ ATM หรือโอนเงินผ่านแอพพลิเคชั่น ตามคำบอกโดยไม่ทันรู้ตัวว่ากำลังโอนเงินให้มิจฉาชีพ
โจรไซเบอร์ : คือโจรในโลกออนไลน์ที่มักใช้กลลวงต่าง ๆ หลอกถามข้อมูล หรือหลอกให้โอนเงิน ซึ่งมีวิธีต่าง ๆ กัน ดังนี้
1) ปลอมเป็นธนาคาร โดย ส่ง SMS หรืออีเมลหลอกเหยื่อ ให้กรอกข้อมูลในเว็บไซต์ธนาคารปลอมหรือแอปพลิเคชันปลอม แล้วนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ขโมยเงินออกจากบัญชี
2) สวมรอยเป็นคุณใน Social media เช่น Line หรือ Facebook เพื่อหลอกครอบครัวหรือเพื่อนว่ากำลังเดือดร้อน ขอให้โอนเงินมาช่วยด่วน
3) หลอกว่ารัก (Romance scam) มักจะติดต่อผ่านนเว็บไซต์หาคู่ หรือ Social media โดยใช้รูป Profile เป็นชาวต่างชาติหน้าตาดี พอพูดคุยสักระยะจนเหยื่อตายใจ จะหลอกเหยื่อว่าจะมอบทรัพย์สินหรือของขวัญให้ แต่เหยื่อต้องโอนเงินบางส่วนให้ก่อน
4) ปลอมเป็นร้านค้าออนไลน์ หลอกขายสินค้าราคาถูกและให้เหยื่อโอนค่าสินค้ามาก่อน แต่กลับไม่ส่งสินค้าให้และหนีหายไป
5) ปลอมเป็นลูกค้าออนไลน์ เข้าไปซื้อสินค้าและส่งสลิปปลอมให้จากนั้นก็จะได้สินค้ามาฟรี ๆ โดยไม่เสียเงิน หรือ หลอกถามข้อมูลเลขบัญชี ขอเบอร์โทรศัพท์ ขอข้อมูลส่วนบุคคลอื่น ๆ ในบัตรประชาชนของผู้ขาย เพื่อนำไปเปิดบัญชี e-wallet และยักย้ายถ่ายโอนเงินออกจากบัญชีธนาคารของเหยื่อได้
คาถาป้องกันภัยทางการเงิน
3 คาถาป้องกันภัยทางการเงิน ได้แก่
1) อย่าเชื่อ : ตั้งสติ อย่าเชื่อในสิ่งที่ทำให้คุณตกใจ ให้ตั้งคำถามกับคตัวเองอยู่เสมอว่านี่คือเรื่องจริงหรือไม่ หากไม่แน่ใจให้โทรตรวจสอบไปยังหน่วยงานที่ถูกแอบอ้างทันที
2) อย่ากด : อย่าเผลอกดลิ้งก์แปลก ๆ ที่ส่งเข้ามายัง SMS หรือในอีเมล เพราะอาจจะเป็นลิ้งก์ที่เชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ปลอมเพื่อหลอกเอาข้อมูลส่วนตัวไปใช้ขโมยเงินในบัญชี
3) อย่าโอน : หากมีการบอกให้โอนเงินไปก่อน อย่าโอนเด็ดขาด เพราะนั่นคือกลเม็ดสุดท้ายที่มิจฉาชีพจะให้หลอกเอาเงินในบัญชีของเรา
ดาวน์โหลดเอกสาร   (โปรดใช้ Google Chrome ในการดาวน์โหลดเอกสาร หรือคลิกขวาที่ลิงก์และเลือก Save link as)
◼  สื่อการสอน
◾ Infographic


เส้นทางอาชีพกับการเงิน กลับขึ้นด้านบน
ความสำคัญของการรู้จักตัวเอง
การสำรวจตัวเองตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยเริ่มจากความฝันที่ตนเองมี จะช่วยให้เรารู้จักตนเองมากยิ่งขึ้น และยิ่งไปกว่านั้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกความฝันที่เราอยากทำต้องใช้เงินเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการผลักดันความฝันนั้นให้สำเร็จ หากรู้จักตัวเองเร็ว ก็จะยิ่งทำให้เราสามารถวางแผนทางการเงินเพื่อรองรับความฝันนั้นได้เร็วด้วยเช่นกัน
ดาวน์โหลดเอกสาร   (โปรดใช้ Google Chrome ในการดาวน์โหลดเอกสาร หรือคลิกขวาที่ลิงก์และเลือก Save link as)
◼  สื่อการสอน