ธุรกิจทางการเงินภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท.

1) ธุรกิจทางการเงินที่ ธปท. กำกับและตรวจสอบ

ธนาคารพาณิชย์

 

เป็นตัวกลางหลักในการระดมเงินฝากจากผู้ฝากเงินเพื่อปล่อยสินเชื่อแก่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ โดยธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. ตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 คือ ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ ธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารต่างประเทศ และสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ ซึ่ง ธปท. ได้พิจารณาอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ทำธุรกิจอื่นเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์สามารถแข่งขันและประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสอดคล้องกับการพัฒนาของระบบเศรษฐกิจการเงิน ตลอดจนสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์มีส่วนร่วมในการสนับสนุนการพัฒนาตลาดทุน โดยธุรกิจที่ได้รับการอนุญาตเพิ่มเติม เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์ ประกันภัย เป็นต้น 

บริษัทเงินทุน

 

เป็นตัวกลางในการระดมเงินทุนจากประชาชนในรูปของตั๋วสัญญาใช้เงินและใช้เงินนั้นในการประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการพาณิชย์ กิจการเงินทุนเพื่อการพัฒนา กิจการเงินทุนเพื่อการจำหน่ายและการบริโภคและกิจการเงินทุนเพื่อการเคหะ
การดำเนินการของบริษัทเงินทุนอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. ตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551

 

บริษัทเครดิตฟองซิเอร์

 

เป็นตัวกลางในการระดมเงินทุนจากประชาชนในรูปของตั๋วสัญญาใช้เงิน และใช้เงินนั้นเพื่อประกอบธุรกิจให้กู้ยืมโดยวิธีรับจำนองอสังหาริมทรัพย์ รับซื้ออสังหาริมทรัพย์ตามสัญญาขายฝาก เป็นต้น

การดำเนินการของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. ตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551

บริษัทเงินทุน

 

เป็นตัวกลางในการระดมเงินทุนจากประชาชนในรูปของตั๋วสัญญาใช้เงินและใช้เงินนั้นในการประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการพาณิชย์ กิจการเงินทุนเพื่อการพัฒนา กิจการเงินทุนเพื่อการจำหน่ายและการบริโภคและกิจการเงินทุนเพื่อการเคหะ
การดำเนินการของบริษัทเงินทุนอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. ตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551

 

financial calculation

สถาบันการเงินเฉพาะกิจ

เป็นสถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะในการดำเนินกิจการตามที่กฎหมายกำหนดและเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐในการให้บริการทางการเงินแก่ประชาชนภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. ทั้งนี้ สถาบันการเงินเฉพาะกิจแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 

 

1) สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ให้บริการรับเงินฝากและให้สินเชื่อ มี 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสินตามพระราชบัญญัติธนาคารออมสิน พ.ศ. 2489 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรตามพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. 2509 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ธนาคารอาคารสงเคราะห์ตามพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ. 2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยตามพระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2540 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

 

2) สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ประกอบธุรกิจตามขอบเขตที่กำหนด เช่น ให้บริการสินเชื่อหรือรับประกันสินเชื่อให้แก่ลูกค้าเฉพาะกลุ่ม แต่ไม่รับเงินฝากจากประชาชนทั่วไป มี 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยตามพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2536 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยตามพระราชบัญญัติธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมตามพระราชบัญญัติบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม พ.ศ. 2538 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

building

สำนักงานผู้แทน

 

สำนักงานในต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์ไทยหรือสำนักงานในประเทศไทยของสถาบันการเงินต่างประเทศ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนกิจการของสถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์ เช่น การรวบรวมข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับฐานะการเงินของลูกค้า หรือสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินโดยไม่สามารถรับเงินฝากหรือรับเงินจากประชาชนได้

การดำเนินการของสำนักงานผู้แทนอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. ตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 

financial calculation

ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร

เป็นธุรกิจให้บริการสินเชื่อภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 และพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 แบ่งออกได้ 4 ประเภท คือ

 

1) ธุรกิจบัตรเครดิต การให้สินเชื่อเครดิตเพื่อซื้อสินค้าและบริการ รวมถึงการเบิกเงินสดล่วงหน้า

 

2) สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ได้แก่

   - สินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีทรัพย์หรือทรัพย์สินเป็นหลักประกัน

   - สินเชื่อที่เกิดจากการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งในสินค้าที่ผู้ประกอบธุรกิจมิได้จำหน่ายเป็นทางการค้าปกติ ยกเว้นสินค้าประเภทรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกและเครื่องจักร

   - สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน

   ทั้งนี้ ไม่รวมสินเชื่อเพื่อการศึกษา สินเชื่อเพื่อการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ สินเชื่อเพื่อรักษาพยาบาลสินเชื่อเพื่อสวัสดิการพนักงาน เป็นต้น

 

3) สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ สินเชื่อรายย่อยที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนําไปใช้ในการประกอบอาชีพที่มีวงเงินไม่เกินหนึ่งแสนบาทต่อลูกหนี้แต่ละราย ทั้งนี้ ไม่รวมถึงสินเชื่อที่เกิดจากการให้เช่าซื้อ การให้เช่าแบบลีสซิ่ง และการขายแล้วเช่ากลับคืน (sale and lease back) ในสินค้าที่ผู้ประกอบธุรกิจจำหน่ายเป็นทางการค้าปกติ และในสินค้าประเภทรถและเครื่องจักร สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน และสินเชื่อเพื่อการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ

 

4) สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล การให้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่ผู้ประกอบธุรกิจนำเทคโนโลยีและข้อมูลทางเลือก (Alternative data) มาใช้ในการให้บริการสินเชื่อในการวิเคราะห์ความสามารถหรือความเต็มใจในการชำระหนี้ การเบิกจ่ายและรับชำระคืนสินเชื่อ และการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ

use a notebook and take note

บริษัทบริหารสินทรัพย์

 

เป็นสถาบันการเงินที่ทำหน้าที่บริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงิน โดยรับซื้อรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ รวมถึงหลักประกันของสินทรัพย์นั้น เพื่อนำมาบริหารหรือจำหน่ายต่อไป

การดำเนินการของบริษัทบริหารสินทรัพย์อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

2) ธุรกิจทางการเงินที่ ธปท. ตรวจสอบ ตามที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลัง

financial calculation

บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB)

ทำหน้าที่รวบรวมและประมวลผลข้อมูลเครดิตในภาพรวมสำหรับลูกค้าเจ้าของข้อมูลแต่ละรายตามที่ได้รับข้อมูลจากสถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงินที่เป็นสมาชิก รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวในรูปของรายงานข้อมูลเครดิตเมื่อสถาบันการเงินหรือผู้ให้บริการทางการเงินหรือลูกค้าเจ้าของข้อมูลต้องการ โดยต้องได้รับความยินยอมจากลูกค้าเจ้าของข้อมูล

financial calculation