กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินไทย เพื่อกำหนดเป้าหมาย วิสัยทัศน์ กลยุทธ์ และแผนการดำเนินการเพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาระบบสถาบันการเงินไทย และในการกำหนดนโยบายสถาบันการเงินในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า
แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินไทย เพื่อกำหนดเป้าหมาย วิสัยทัศน์ กลยุทธ์ และแผนการดำเนินการเพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาระบบสถาบันการเงินไทย และในการกำหนดนโยบายสถาบันการเงินในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า
แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 1 (พ.ศ. 2547 – 2551)
เน้นการปรับปรุงโครงสร้างและจัดรูปแบบระบบสถาบันการเงินไทยภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจการเงินปี 2540 ด้วยการพัฒนาการบริหารความเสี่ยงและธรรมาภิบาลของสถาบันการเงิน ควบคู่กับมีการกระจายบริการทางการเงินสู่ประชาชนที่มีศักยภาพทั้งประเทศอย่างทั่วถึง รวมทั้งเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองและเป็นธรรม
แนวนโยบายที่สำคัญ
1. การส่งเสริมการให้บริการทางการเงินอย่างทั่วถึง
2. การส่งเสริมประสิทธิภาพระบบสถาบันการเงิน
3. การดูแลผู้บริโภค
แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 2 (พ.ศ. 2553-2557)
เน้นการสร้างประสิทธิภาพระบบสถาบันการเงิน ด้วยการลดต้นทุนจากกฎเกณฑ์ทางการและการเพิ่มการแข่งขันจากการเปิดให้มีผู้เล่นต่างประเทศรายใหม่ โดยยังคงให้ความสำคัญด้านการเข้าถึงบริการทางการเงิน และการสนับสนุนให้สถาบันการเงินมีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดีอย่างต่อเนื่อง
แนวนโยบายที่สำคัญ
1. การลดต้นทุนของระบบ
2. การส่งเสริมการแข่งขันและการเข้าถึงบริการทางการเงิน
3. การส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน
แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 3 (พ.ศ. 2559-2563)
เพื่อให้ระบบสถาบันการเงินไทย แข่งขันได้ สามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายขึ้นด้วยราคาที่เป็นธรรม และสนับสนุนการเชื่อมโยง การค้าการลงทุนในภูมิภาค ภายใต้การกำกับดูแลเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงิน หรือตามแนวคิด “แข่งได้ เข้าถึง เชื่อมโยง ยั่งยืน”
แนวนโยบายที่สำคัญ
1. ส่งเสริมการใช้บริการทางการเงินและการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ และเพิ่มประสิทธิภาพ
ของระบบ
2. สนับสนุนการเชื่อมต่อการค้าการลงทุนในภูมิภาค
3. ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน
4. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
การจัดตั้ง Qualified ASEAN Banks (QABs)
นับตั้งแต่ วันที่ 21 มีนาคม 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนได้ลงนามเห็นชอบกรอบการรวมตัวภาคการธนาคารอาเซียน (ASEAN Banking Integration Framework: ABIF) โดยกำหนดให้ประเทศสมาชิกสามารถเจรจาทวิภาคีเพื่อจัดตั้ง Qualified ASEAN Banks (QABs) ระหว่างกันได้ บนหลักการต่างตอบแทน ตามความพร้อมของแต่ละประเทศ ธปท. ได้มีการเจรจาทวิภาคีเพื่อจัดตั้ง QABs ระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อตอบสนองต่อโอกาสทางธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ต้องการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ในอาเซียน QABs จะเป็นช่องทางในการขยายกิจการเข้าไปในภูมิภาคที่สำคัญเพื่อให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการไทยในอาเซียนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย (พ.ศ. 2565-ปัจจุบัน)
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ธปท. ได้จัดทำแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน (Financial Landscape) เพื่อสนับสนุนให้ภาคการเงินใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม มีการแข่งขันอย่างเท่าเทียม ตลอดจนสนับสนุนให้ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนสามารถเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและรับมือกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างทันการณ์ ขณะเดียวกัน ธปท. จะเน้นการกำกับดูแลให้ยืดหยุ่นมากขึ้นและเท่าทันความเสี่ยงรูปแบบใหม่