การกำกับตรวจสอบสถาบันการเงิน

    การรักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินเป็นส่วนหนึ่งในพันธกิจหลักของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการมุ่งรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศ ระบบสถาบันการเงินที่มีเสถียรภาพจะช่วยส่งเสริมให้สถาบันการเงินสามารถทำหน้าที่ส่งผ่านเงินทุนในระบบการเงินและการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อให้ระบบการเงินและเศรษฐกิจโดยรวมสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและต่อเนื่อง

    ธปท. มุ่งกำกับตรวจสอบและติดตามสถาบันการเงินด้วยความโปร่งใสและรู้เท่าทัน ภายใต้สมดุลของการป้องกันและความพร้อมรับมือกับความเสี่ยงรูปแบบใหม่ที่ท้าทายต่อเสถียรภาพ การไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาและการสร้างนวัตกรรม รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจและสังคมในระยะยาว  

    ธปท. มีหลักการกำกับดูแลสถาบันการเงิน ดังนี้ (1) ดูแลให้มีความมั่นคงและมีระบบบริหารความเสี่ยงที่ดี (Prudential) (2) ส่งเสริมให้มีประสิทธิภาพ (Efficiency) (3) ดูแลให้มีธรรมาภิบาลที่ดี (Good Governance) (4) ดูแลให้มีความเป็นธรรมต่อลูกค้าและประชาชน (Fairness) และ (5) กำกับสถาบันการเงินเพื่อดูแลระบบเศรษฐกิจ (Macro-Prudential)

    เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าว ธปท. จึงได้มอบหมายให้สายกำกับสถาบันการเงิน เป็นผู้รับผิดชอบในการกำกับ ตรวจสอบ วิเคราะห์และติดตามฐานะการดำเนินงานและการบริหารความเสี่ยงทั้งเป็นรายสถาบันการเงินและระบบสถาบันการเงินโดยรวม โดยจะส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้าที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งร่วมพิจารณาคำขออนุญาตต่าง ๆ ตลอดจนดำเนินการกับสถาบันการเงินที่มีปัญหาในการดำเนินธุรกิจหรือปฏิบัติฝ่าฝืนกฎหมาย เพื่อให้สถาบันการเงินมีความมั่นคง และสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน 

    ธปท. ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการสร้างระบบการกำกับตรวจสอบสถาบันการเงินที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งจะช่วยให้สามารถระบุปัญหาที่สำคัญของสถาบันการเงินทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและที่กำลังจะเกิดขึ้น ทั้งปัญหาที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของสถาบันการเงินนั้นและต่อความเชื่อมั่นของระบบสถาบันการเงินโดยรวม เพื่อให้แน่ใจว่าปัญหาต่าง ๆ จะได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องเหมาะสม และทันเวลา

อ่านต่อ

การกำกับดูแลด้านการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market Conduct Supervision)

 

    ธปท. ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการทางการเงินมาโดยตลอด โดยได้จัดตั้งฝ่ายงานเพื่อดูแลและดำเนินการในการออกหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลและคุ้มครองผู้บริโภคเป็นการเฉพาะ ในปี 2559  ซึ่งมีส่วนสำคัญในการยกระดับการกำกับดูแลให้มีความเข้มข้นขึ้น 

    ในกระบวนการกำกับดูแล ธปท. มุ่งเน้นให้ผู้ให้บริการทางการเงินที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. เช่น สถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ บริษัทบริหารสินทรัพย์ มีการจัดการระบบงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการลูกค้าให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรม โดยมีผลลัพธ์ที่คาดหวังคือ ผู้ใช้บริการทางการเงินได้รับการบริการอย่างเป็นธรรม ไม่ถูกหลอก ไม่ถูกบังคับขาย ไม่ถูกรบกวน และไม่ถูกเอาเปรียบจากผู้ให้บริการ 

    นอกจากนี้ ธปท. ยังมีบทบาทในการคุ้มครองประชาชนผู้ใช้บริการทางการเงินให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม รวมถึงสามารถดูแลการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องได้อย่างเป็นระบบ โดยประชาชนสามารถขอคำปรึกษา หรือร้องเรียนเกี่ยวกับบริการทางการเงินได้ผ่านหลายช่องทาง

Market Conduct

การเสริมสร้างการกำกับดูแลภาคการเงินตามโครงการ     Financial Sector Assessment Program (FSAP)

Thai Flag

ธนาคารแห่งประเทศไทย เข้ารับการประเมินภาคการเงินตามโครงการ Financial Sector Assessment Program (FSAP) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund - IMF) และธนาคารโลก (World Bank) ที่เริ่มขึ้นเมื่อปี 2542 โดยเป็นการประเมินภาคการเงินระดับสากลที่ประเทศต่าง ๆ เข้ารับการประเมินอย่างต่อเนื่อง 

 

การประเมิน FSAP มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยให้แต่ละประเทศทราบถึงจุดแข็งจุดอ่อนในภาคการเงินของตน และส่งเสริมให้หน่วยงานกํากับดูแลมีการพัฒนาการกํากับดูแลภาคการเงินให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากล อีกทั้ง ผลักดันให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานของระบบการเงินให้มีความเข้มแข็งและก้าวหน้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือและความมั่นใจในระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศแก่นักลงทุน

 

ประเทศไทยเข้ารับการประเมิน FSAP แบบสมัครใจเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2550 ซึ่งผลการประเมินพบว่า ภาพรวมมีเสถียรภาพค่อนข้างดี แต่มีข้อสังเกตบางประเด็น เช่น ความป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) การคุ้มครองเงินฝากเต็มจํานวนซึ่งควรปรับลดลง การปรับลดบทบาทภาครัฐทั้งในธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ซึ่งประเด็นส่วนใหญ่ได้รับการแก้ไขแล้วในปัจจุบัน 

 

ในปี 2561 – 2562 ธปท. และหน่วยงานกํากับดูแลที่เกี่ยวข้อง เข้ารับการประเมิน FSAP โดยสมัครใจ เป็นครั้งที่ 2 โดยมีการให้คะแนนใน 4 เรื่อง ได้แก่ ภาคการธนาคาร ภาคตลาดทุน ธุรกิจประกันภัย และระบบการชําระเงินที่สําคัญในระบบบาทเนตและระบบการชําระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ของบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จํากัด (TSD) ในการประเมินครั้งนี้ ธปท. ยังเข้ารับการประเมินกรอบการกํากับดูแล โดยให้ความเห็นเชิงนโยบายและข้อเสนอแนะ โดยไม่มีการให้คะแนน ในหลายประเด็น เช่น การทดสอบภาวะวิกฤตภายใต้สถานการณ์จําลอง (stress test) และการออมเพื่อการเกษียณโดยภาคเอกชน 

 

ผลการประเมิน FSAP ของประเทศไทยในครั้งที่ 2 ชี้ว่า ระบบการเงินของไทยในภาพรวมมีเสถียรภาพ มีความมั่นคงสามารถรองรับความผันผวนได้ดี และการกํากับดูแล ภาคการเงินของไทยมีประสิทธิภาพสูง เป็นไปตามมาตรฐานสากลเทียบเคียงได้กับประเทศชั้นนํา

 

การเข้ารับการประเมินภาคการเงินตามโครงการ Financial Sector Assessment Program (FSAP) พ.ศ. 2561-2562

การเข้ารับการประเมินภาคการเงินตามโครงการ Financial Sector Assessment Program (FSAP) พ.ศ. 2550