ความร่วมมือทวิภาคีกับประเทศต่างๆ

ความร่วมมือทวิภาคีกับประเทศต่างๆ

กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ

ธปท. และธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (The People’s Bank of China: PBC) มีการส่งเสริมความร่วมมือทางการเงินระหว่างกันอย่างต่อเนื่องและครอบคลุมในหลากหลายด้าน อาทิ การจัดทำความตกลงทวิภาคีเพื่อแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลหยวนและบาท (Bilateral Swap Agreement: BSA) เพื่อสนับสนุนสภาพคล่องเงินหยวนและเงินบาท รวมทั้งประสานความร่วมมือกับทางการจีน ยกระดับให้ตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศของจีน (China Foreign Exchange Trade System: CFETS) ขยายขอบเขตการซื้อขายและกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนโดยตรงระหว่างสกุลหยวน-บาทได้ทั่วประเทศจีน จากเดิมที่ทำได้เฉพาะในระดับภูมิภาค ณ มณฑลยูนนาน ข้อตกลงนี้เป็นก้าวสำคัญในการเพิ่มผู้เล่นและสภาพคล่องในสกุลหยวน-บาท ซึ่งจะนำไปสู่การลดต้นทุนการแลกเปลี่ยนเงิน และช่วยสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพื่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศได้ ที่สำคัญคือ ข้อตกลงจะช่วยยกระดับความร่วมมือด้านการส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงิน เพื่อสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงิน และการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงินมาประยุกต์ใช้เพื่อลดต้นทุนและพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินในภูมิภาค

  • เรื่อง การลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการกำกับดูแลสถาบันการเงินกับคณะกรรมการกำกับดูแลภาคธนาคาร (China Banking Regulatory Commission)

  • จีนขยายขอบเขตการซื้อขายและกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนโดยตรงระหว่างเงินหยวนและ เงินบาทได้ทั่วประเทศจีน

  • การลงนามในความตกลงร่วมมือด้านเทคโนโลยีทางการเงินระหว่าง ธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

  • การลงนามในสัญญาเพื่อต่ออายุความตกลงทวิภาคีเพื่อแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลหยวนและบาท

ธปท. มีความร่วมมือกับญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน ซึ่งรวมถึงความร่วมมือกับกระทรวงการคลังญี่ปุ่น ธนาคารกลางญี่ปุ่น และ Financial Services Agency แห่งประเทศญี่ปุ่น

ธปท. ได้มีความตกลงทวิภาคีว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเงินตราฉบับใหม่กับธนาคารกลางญี่ปุ่น ในฐานะตัวแทนของกระทรวงการคลังญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 2544 เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินซึ่งกันและกัน ในกรณีที่ประเทศประสบปัญหาขาดสภาพคล่องระยะสั้นหรือปัญหาดุลการชำระเงิน โดยภายใต้ความตกลงนี้ ธนาคารกลางทั้งสองประเทศสามารถแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลท้องถิ่นของตน (ได้แก่ สกุลบาทหรือเยน) เป็นเงินดอลลาร์ สรอ. และไทยสามารถเลือกแลกเปลี่ยนเงินบาทเป็นสกุลเงินเยนได้นอกเหนือจากดอลลาร์ สรอ. ด้วย โดยมีวงเงินสูงสุดคือ 3,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือเทียบเท่า

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2561 ธปท. กระทรวงการคลังญี่ปุ่นและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือว่าด้วยเรื่องการจัดตั้งกรอบความร่วมมือในการส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าและการลงทุน ด้วยการสนับสนุนให้มีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทและเงินเยนโดยตรง และการซื้อขายเงินตราระหว่างธนาคารพาณิชย์ทั้งสองสกุล (interbank trading)

นอกจากนี้ เมื่อ 31 มีนาคม 2563 ธปท. ได้ลงนามความตกลงทวิภาคีว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลท้องถิ่นกับธนาคารกลางญี่ปุ่น เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้เสถียรภาพระบบการเงินของทั้งสองประเทศ และส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่น โดยธนาคารกลางทั้งสองประเทศสามารถทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินสกุลท้องถิ่นระหว่างกัน เพื่อเข้าเสริมสภาพคล่องเงินสกุลบาทและเยนให้กับธนาคารพาณิชย์ของตนในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ โดยมีวงเงินสูงสุด 240,000 ล้านบาท หรือ 800,000 ล้านเยน

ในด้านการกำกับดูแลสถาบันการเงิน ธปท. ได้ลงนามใน Exchange of Letters for Cooperation ว่าด้วยการกำกับดูแลสถาบันการเงินกับ Financial Services Agency แห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความร่วมมือในการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่ประกอบธุรกิจอยู่ในทั้งสองประเทศให้มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับมาตรฐานการกำกับดูแลสถาบันการเงินสากล (Basel Core Principles for Banking Supervision)

  • การลงนามความตกลงทวิภาคีว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังญี่ปุ่นฉบับปรับปรุง

  • การลงนามความตกลงทวิภาคีว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลท้องถิ่นระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารกลางญี่ปุ่น

  • การลงนามบันทึกความร่วมมือทวิภาคีระหว่างกระทรวงการคลังญี่ปุ่น และ ธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยความร่วมมือในการส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่น

  • การลงนามใน Exchange of Letters for Cooperation ว่าด้วยการกำกับดูแลสถาบันการเงินกับ Financial Services Agency แห่งประเทศญี่ปุ่น

ธปท. ได้ส่งเสริมความร่วมมือด้านการเงินกับธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore: MAS) มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการกำกับดูแลสถาบันการเงิน การชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน รวมถึงความปลอดภัยทางไซเบอร์ ทั้งนี้ ธปท. และ MAS ได้ร่วมกันจัดตั้ง Central Banks’ Regulators and Supervisory Entities (CERES) ในปี 2562 เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล เหตุการณ์ภัยคุกคาม รวมถึงข้อมูลเชิงนโยบาย และกรอบการกำกับดูแลภัยไซเบอร์ระหว่างธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

  • การเชื่อมโยงระบบการชำระเงินของไทยกับประเทศสิงค์โปร์

  • การลงนามในความตกลงร่วมมือด้าน FinTech และบันทึกความเข้าใจทวิภาคีว่าด้วยการกำกับดูแลสถาบันการเงินระหว่างธนาคารกลางสิงคโปร์และธนาคารแห่งประเทศไทย

ธปท. มีความร่วมมือด้านการเงินกับธนาคารกลางฮ่องกง (Hong Kong Monetary Authority: HKMA) ในหลายด้าน ทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ระหว่างกัน การแลกเปลี่ยนข้อมูลในการส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงิน และการเชื่อมโยงระบบบาทเนตของ ธปท. กับระบบ US Dollar Clearing House Automated Transfer System (USD CHATS) ของ HKMA

นอกจากนี้ ธปท. ยังมีความร่วมมือกับหน่วยงาน Hong Kong Applied Science and Technology Research Institute (ASTRI) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีและการพัฒนาบุคลากร ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และเทคโนโลยีทางการเงินอีกด้วย

  • การลงนามในความตกลงร่วมมือด้าน FinTech ระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารกลางฮ่องกง

กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ

​ความร่วมมือทวิภาคีกับกลุ่มประเทศ CLMV

กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ

1) ความร่วมมือด้านการกำกับสถาบันการเงิน

ธปท. และธนาคารกลางกัมพูชา (National Bank of Cambodia: NBC)
ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลการกำกับดูแลสถาบันการเงิน เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2555 และลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการกำกับดูแลสถาบันการเงินในวันที่ 17 ธันวาคม 2560 โดยความร่วมมือด้านการกำกับดูแลสถาบันการเงิน ครอบคลุมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการกำกับดูแลสถาบันการเงิน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของธนาคารกลางในการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินระหว่างประเทศ ตามแนวทางกำกับดูแลของ Basel Core Principles for Banking Supervision (BCP)

2) ความร่วมมือด้านการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน

ธปท. และธนาคารกลางกัมพูชาได้ลงนามความร่วมมือในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อส่งเสริมการให้บริการระบบชำระเงินภายในประเทศและเชื่อมโยงบริการทางการเงินระหว่างประเทศให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัย รวมทั้งสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่น โดยทั้งสองธนาคารกลางได้บรรลุข้อตกลงริเริ่มโครงการนำร่องเกี่ยวกับการพัฒนามาตรฐาน QR Code เพื่อรองรับการเชื่อมโยงด้านระบบชำระเงินระหว่างไทยกับกัมพูชาต่อไป

  • การลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงินระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารกลางกัมพูชา

3) ความร่วมมือด้านการดำเนินงานของธนาคารกลาง

ธปท. และธนาคารกลางกัมพูชามีการประชุมทวิภาคีร่วมกันเป็นประจำ เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ ที่ผ่านมา ธปท. มีความร่วมมือด้านวิชาการกับธนาคารกลางกัมพูชาในหลายรูปแบบ อาทิ ทุนการศึกษา การศึกษาดูงาน และการฝึกงาน (secondment programme) เป็นต้น

ธปท. และธนาคารแห่ง สปป. ลาว (ธหล.) มีความร่วมมือกันในด้านต่าง ๆ ระหว่างกัน ดังนี้

1) ความร่วมมือด้านการกำกับสถาบันการเงิน

ธปท. และธนาคารแห่ง สปป. ลาว ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการกำกับดูแลสถาบันการเงิน เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2562 เพื่อยกระดับการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทยและ สปป. ลาว ให้สอดคล้องกับมาตรฐานกำกับดูแลของสากล

  • การลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการกำกับดูแลสถาบันการเงินระหว่าง ธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารแห่ง สปป. ลาว

2) ความร่วมมือด้านการพัฒนาความเชื่อมโยงระบบการเงิน

ทั้งสองธนาคารกลางได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจด้านความร่วมมือทางเทคโนโลยีทางการเงิน และการชำระเงิน เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2562 เพื่อสนับบสนุนการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินระหว่างไทยและลาว ทำให้ประชาชนของทั้งสองประเทศมีทางเลือกในการใช้บริการชำระเงินที่สะดวก ปลอดภัย และสามารถเข้าถึงได้ง่ายด้วยต้นทุนที่ต่ำลง

  • การลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารแห่ง สปป. ลาว

3) ความร่วมมือด้านการดำเนินงานของธนาคารกลาง

ธปท. และธนาคารแห่ง สปป. ลาว มีการประชุมทวิภาคีระหว่างผู้บริหารระดับสูงของสองธนาคารกลางอย่างต่อเนื่อง โดยมีการหารือเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายเพื่อรับมือกับความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ที่อยู่ในความสนใจในขณะนั้น

นอกจากนี้ ธปท. ได้ให้การสนับสนุนเชิงวิชาการ ด้วยการส่งบุคลากร ธปท. ไปเป็นวิทยากรเพื่อถ่ายทอดความรู้แก่ผู้บริหารและพนักงานธนาคารแห่ง สปป. ลาว เป็นระยะ รวมถึงจัดให้มีโครงการรับพนักงานจากธนาคารแห่ง สปป. ลาว เพื่อมาปฏิบัติงานระยะสั้นในส่วนงานต่าง ๆ ของ ธปท. อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการให้ทุนการศึกษาแก่พนักงานของธนาคารแห่ง สปป. ลาว เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ที่จำเป็นและสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสองธนาคารกลาง นอกจากนี้ ยังมีการทำงานร่วมกันในการศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินนโยบายของทั้งสองธนาคารกลาง

ธปท. และธนาคารกลางเมียนมา (Central Bank of Myanmar: CBM) มีความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ระหว่างกัน ดังนี้

1) ความร่วมมือด้านการดำเนินงานของธนาคารกลาง

ธปท. และธนาคารกลางเมียนมา มีการหารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันเพื่อการพัฒนาและปฏิรูประบบการเงินของสองประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยมีการประชุมทวิภาคีร่วมกันครั้งแรก ในปี 2562 ณ กรุงเนปิดอว์ เมียนมา การประชุมทวิภาคีดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการเงินการธนาคาร อาทิ การส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่น ความร่วมมือระหว่างสถาบันการเงิน และการให้บริการชำระเงินระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการเงิน และการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนของทั้งสองประเทศ

  • การลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการใช้เงินจ๊าตและเงินบาท สำหรับการชำระธุรกรรมระหว่างไทยและเมียนมา และความร่วมมือด้านเทคโนโลยีทางการเงินและการชำระเงิน ระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารกลางเมียนมา

2) ความร่วมมือด้านวิชาการ

เพื่อพัฒนาบุคลากรและองค์ความรู้ ธปท. และธนาคารกลางเมียนมาได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of understanding: MOU) เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการในปี 2555 เพื่อใช้เป็นกรอบความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ที่จำเป็นและสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสองธนาคารกลาง และเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินนโยบายของทั้งสองธนาคาร

ธปท. และธนาคารกลางเวียดนาม (State Bank of Viet Nam: SBV) มีความร่วมมือระหว่างกันในด้านต่าง ๆ ดังนี้

1) ความร่วมมือด้านการกำกับดูแลสถาบันการเงิน

ในปี 2553 ธปท. และธนาคารกลางเวียดนาม ได้ขยายความร่วมมือด้านการกำกับดูแลสถาบันการเงินโดยลงนาม MOU ว่าด้านความร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการกำกับดูแลสถาบันการเงิน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการกำกับดูแลภาคการธนาคารของไทยและเวียดนาม ซึ่งต่อมาในปี 2562 ได้มีการลงนาม MOU ฉบับใหม่ เพื่อยกระดับความร่วมมือด้านกำกับดูแลสถาบันการเงิน โดยเฉพาะด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการบริหารจัดการสถาบันการเงินในภาวะวิกฤติร่วมกันระหว่างสองหน่วยงาน

  • การลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการกำกับดูแลสถาบันการเงินและด้านเทคโนโลยีทางการเงิน ระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารกลางเวียดนาม (State Bank of Viet Nam)

2) ความร่วมมือด้านการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน

ในช่วงการประชุมทวิภาคีที่จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2562 ธปท. และธนาคารกลางเวียดนาม ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคโนโลยีทางการเงิน เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาบริการทางการเงินที่นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ และพัฒนาช่องทางการให้บริการทางการเงินใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพ สะดวก ปลอดภัย และสามารถเข้าถึงได้ง่ายด้วยต้นทุนที่ต่ำลง รวมถึงเป็นกรอบความร่วมมือด้านการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (digital payment) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเชื่อมโยงบริการทางการเงินระหว่างไทยและเวียดนาม

การลงนามใน MOU ด้านต่าง ๆ ระหว่าง ธปท. และธนาคารกลางเวียดนาม จะเสริมให้เกิดความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างไทยและเวียดนาม ทั้งในด้านเสถียรภาพสถาบันการเงินและพัฒนาการทางการเงิน ซึ่งจะนำไปสู่การความเชื่อมโยงระบบการเงินระหว่างสองประเทศและอนุภูมิภาค รวมทั้งสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของทั้งสองประเทศต่อไป

3) ความร่วมมือด้านการดำเนินงานของธนาคารกลาง

ธปท. และธนาคารกลางเวียดนามมีการประชุมทวิภาคีร่วมกันเป็นประจำ เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ นอกจากนี้ ในปี 2560 ทั้งสองธนาคารกลาง ยังมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วม (Memorandum of understanding: MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านธนาคารกลางและด้านวิชาการ เพื่อขยายความร่วมมือจาก MOU ฉบับเดิม ด้านการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ ที่ลงนามเมื่อปี 2549

กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ สายองค์กรสัมพันธ์

E-mail: InternationalDepartment@bot.or.th