ตลาดเงินและตลาดพันธบัตร

ตลาดเงินและตลาดพันธบัตร

ตลาดเงินและตลาดพันธบัตรถือเป็นแหล่งระดมทุนหรือแหล่งกู้ยืมเงินผ่านการออกตราสารหนี้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ตลาดเงินยังถือเป็นหนึ่งในช่องทางที่ สำคัญ ซึ่ง ธปท. ใช้ในการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปสู่ระบบการเงินและเศรษฐกิจด้วย โดยบทบาทหน้าที่ของ ธปท. ในตลาดเงินและตลาดพันธบัตร มีดังนี้

 

1. การดูแลอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงินให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีหน้าที่ดูแลอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงินให้อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กำหนด โดยอาศัยกลไกของการดำเนินการผ่านตลาดการเงิน (Open Market Operations: OMOs) ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือการดำเนินนโยบายการเงิน

2. การออกพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย

ธปท. ได้เริ่มออกพันธบัตร ธปท. อย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ปี 2546 เพื่อใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือการดำเนินนโยบายการเงิน (OMOs instrument) เพื่อดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินและดูแลให้ปริมาณเงินในระบบอยู่ในระดับที่เหมาะสม รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ให้มีสภาพคล่องและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

การออกพันธบัตรของ ธปท. จะพิจารณาให้เหมาะสมกับปริมาณสภาพคล่องและภาวะตลาดในแต่ละช่วง รวมทั้งหารือกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) อย่างใกล้ชิดเพื่อร่วมกันวางแผนการออกพันธบัตรภาครัฐในภาพรวม โดยกำหนดปริมาณการออกพันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง และพันธบัตร ธปท. ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกัน และจะประกาศตารางการประมูลพันธบัตรล่วงหน้าทุกเดือน ​

 

3. การเป็นนายทะเบียนและตัวแทนจัดจำหน่ายตราสารหนี้ภาครัฐ

ธปท. ทำหน้าที่กำกับดูแลและจัดจำหน่ายตราสารหนี้ภาครัฐในตลาดแรกรวมถึงเป็นนายทะเบียนและตัวแทนการจ่ายดอกเบี้ย และไถ่ถอนเงินต้น นอกจากนี้ ธปท. ยังให้บริการงานด้านตราสารหนี้ภาครัฐประเภทมีใบพันธบัตร (Scrip) แก่ประชาชนด้วย เช่น การโอนกรรมสิทธิ์ การจำนำหรือถอนจำนำ การวางเป็นหลักประกัน/ถอนหลักประกันกับส่วนราชการ การไถ่ถอนต้นเงินตราสารหนี้ การเปลี่ยนแปลงสถานที่ติดต่อ การเปลี่ยนแปลงบัญชีที่รับดอกเบี้ยและการเปลี่ยนชื่อในตราสารหนี้ เป็นต้น

 

4. การพัฒนาตลาดเงินและตลาดตราสารหนี้

ธปท. ทำหน้าที่พัฒนาตลาดเงินไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยได้พัฒนาตลาดซื้อคืนภาคเอกชน (Private Bilateral Repo) ให้มีความกว้างและความลึกยิ่งขึ้น รวมถึงพัฒนาอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นตลาดกรุงเทพ (BIBOR) และอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงตลาดซื้อคืนพันธบัตรภาคเอกชนระยะข้ามคืนระหว่างธนาคาร (Thai Overnight Repurchase Rate: THOR) เพื่อทดแทนการใช้อัตราดอกเบี้ย THBFIX นอกจากนี้ ธปท. ได้ร่วมมือกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานตลาดตราสารหนี้ให้เท่าเทียมกับหลักสากล เช่น พัฒนาการออกตราสารหนี้ภาครัฐในตลาดแรก เพิ่มสภาพคล่องและประสิทธิภาพของตลาดรอง  และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกระบวนการส่งมอบและชําระราคาตราสารหนี้