การบริหารเงินสำรอง

17 พ.ค. 2566 ใช้เวลาอ่าน 999 นาที

การบริหารเงินสำรอง

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีหน้าที่บริหารจัดการเงินสำรองทางการ โดยยึดหลักการบริหารตามที่กฎหมายระบุไว้ 3 ประการ คือ

1. รักษามูลค่าของเงินสำรองทางการในรูปเงินตราต่างประเทศ (Security)

2. มีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน (Liquidity)

3. ได้รับผลตอบแทนสูงสุดภายในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk-Adjusted Return)วัตถุประสงค์ของเงินสำรองทางการ

 

วัตถุประสงค์ของเงินสำรองทางการ

 

เงินสำรองทางการคืออะไร มีไว้ทำไม?

    เงินสำรองทางการ คือ เงินตราและ/หรือสินทรัพย์ต่างประเทศของเศรษฐกิจไทยที่อยู่บนงบดุลของ ธปท. มีไว้เพื่อรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ และเพื่อรักษาอำนาจในการซื้อ (Global Purchasing Power) ของไทย

    ดังนั้น เงินสำรองทางการจึงทำหน้าที่เป็น ‘กันชน’ ให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ บรรเทาผลกระทบของความผันผวนจากภายนอกต่อธุรกิจไทย และเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญที่นักลงทุนต่างชาติใช้ประเมินความมั่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ

 

การเปลี่ยนแปลงของเงินสำรองทางการ

 

เงินสำรองทางการเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้อย่างไร?

    การเปลี่ยนแปลงของเงินสำรองทางเกิดจากสาเหตุหลัก 2 ด้าน ได้แก่

 

    1. การเปลี่ยนแปลงของดุลการชำระเงิน

    เมื่อธุรกิจไทยส่งออกสินค้า นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น และ/หรือมีการลงทุนจากต่างประเทศ จะส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ความต้องการแลกเงินบาทเพิ่มขึ้น และเงินบาทแข็งค่า

    เพื่อรักษาเสถียรภาพการเงินและลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ธปท. จะดำเนินการซื้อเงินตราต่างประเทศ ขายเงินบาท และออกพันธบัตร ธปท. เพื่อดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินในระบบการเงิน โดยการดำเนินการดังกล่าว จะส่งผลให้สินทรัพย์และหนี้สินของ ธปท. เพิ่มขึ้นในจำนวนที่เท่ากัน ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของเงินสำรองทางการจึงไม่ได้สะท้อนความมั่งคั่ง (Wealth) ของ ธปท. แต่อย่างใด

    ในทางกลับกัน หากนักลงทุนต่างชาติถอนเงินลงทุนออกจากประเทศไทย หรือดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล เงินสำรองทางการจะถูกนำมาใช้เพื่อรักษาเสถียรภาพการเงินและรักษาอำนาจในการซื้อของเศรษฐกิจไทย (Global Purchasing Power) ดังนั้น การมีเงินสำรองทางการในระดับสูงจะช่วยลดความเสี่ยงและผลกระทบของวิกฤตค่าเงินของประเทศได้

 

    2. การเปลี่ยนแปลงของราคาตลาด

    เงินสำรองทางการอยู่ในสินทรัพย์และสกุลเงินที่หลากหลาย เพื่อกระจายความเสี่ยง เมื่อราคาตลาดเปลี่ยน จะส่งผลให้มูลค่าของเงินสำรองทางการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

 

กรอบกฎหมาย

กรอบกฎหมายหลักที่ควบคุมการบริหารเงินสำรองทางการของธนาคารแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย

 

1. พ.ร.บ. ธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

 

    มาตรา 35 ให้ ธปท. มีอำนาจหน้าที่บริหารจัดการสินทรัพย์ของ ธปท. ซึ่งรวมถึงการนำสินทรัพย์นั้น ไปลงทุนหาประโยชน์ด้วย ทั้งนี้จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ธปท. กำหนด โดยต้องคำนึงถึงความมั่นคง สภาพคล่อง และผลประโยชน์ตอบแทนของสินทรัพย์ ตลอดจนความเสี่ยงในการบริหารจัดการเป็นสำคัญ

 

    มาตรา 36 หากเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ ให้กระทำเฉพาะสินทรัพย์ต่อไปนี้

1. ทองคำ

2. เงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ สถาบันการเงินระหว่างประเทศ หรือสถาบันการเงินต่างประเทศ

3. หลักทรัพย์ต่างประเทศที่จะมีการชำระหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศ ได้แก่

    3.1 หลักทรัพย์รัฐบาลต่างประเทศ องค์การของรัฐบาลต่างประเทศ สถาบันการเงินระหว่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ

    3.2 หลักทรัพย์ที่รัฐบาลต่างประเทศ หรือสถาบันการเงินระหว่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศค้ำประกันการชำระหนี้ตามหลักทรัพย์นั้น

    3.3 ตราสารที่สถาบันการเงินระหว่างประเทศที่ไทยเป็นสมาชิกออกให้ในการให้กู้ยืมเงินร่วมแก่รัฐบาลสมาชิก หรือองค์การของรัฐบาลสมาชิกของสถาบันการเงินระหว่างประเทศดังกล่าว

    3.4 หลักทรัพย์ที่ออกโดยองค์การหรือนิติบุคคลต่างประเทศอื่น ตามที่คณะกรรมการ ธปท. กำหนด

4. หน่วยลงทุนหรือตราสารทุนต่างประเทศที่ออกโดยนิติบุคคลต่างประเทศตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ธปท. กำหนด

5. สิทธิซื้อส่วนสำรองในกองทุนการเงินและธนาคารระหว่างประเทศ

6. สิทธิพิเศษถอนเงินในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

7. สินทรัพย์อื่นใดที่ ธปท. นำส่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

8. สินทรัพย์อื่นตามที่คณะกรรมการ ธปท. กำหนด

    มาตรา 37 ให้ ธปท. รายงานผลการบริหารจัดการทรัพย์สินต่อคณะกรรมการ ธปท. เป็นรายไตรมาส  

 

2. พ.ร.บ. เงินตรา พ.ศ. 2501 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

 

    มาตรา 30 กำหนดประเภทของสินทรัพย์ในทุนสำรองเงินตรา โดยมีสินทรัพย์ซึ่งถือเป็นเงินสำรองทางการ เช่น

1. ทองคำ

2. เงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ หรือสถาบันการเงินระหว่างประเทศ

3. หลักทรัพย์ต่างประเทศที่จะมีการชำระหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

4. ทองคำ สินทรัพย์ต่างประเทศ และสิทธิพิเศษถอนเงินที่นำส่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

5. ใบสำคัญสิทธิพิเศษถอนเงิน ใบสำคัญสิทธิซื้อส่วนสำรอง

6. หลักทรัพย์รัฐบาลไทยที่ชำระหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศ

กลไกในการกำกับดูแลการบริหารเงินสำรอง

 

    ธปท. มีกลไกในการกำกับดูแลการบริหารเงินสำรองในหลายระดับ ภายใต้กรอบและหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน โดยมุ่งเน้นให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุล (Check and Balance) ระหว่างผู้ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลความเสี่ยงและผู้ที่ทำหน้าที่ตัดสินใจด้านการลงทุน อีกทั้งยังมีการติดตามและประเมินผลการบริหารและความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ

 

    โครงสร้างองค์กรด้านการบริหารเงินสำรองสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ

 

1. คณะกรรมการที่ทำหน้าที่กำกับดูแลความเสี่ยงทางการเงิน มีหน้าที่กำหนดระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ขององค์กร อนุมัติหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และติดตามผลการบริหารและความเสี่ยงทางการเงิน โดยมีฝ่ายบริหารความเสี่ยงทางการเงิน เป็นผู้ปฏิบัติงานดูแล ติดตาม และควบคุมความเสี่ยงให้อยู่ภายใต้เกณฑ์ที่กำหนด

 

2. คณะกรรมการที่ทำหน้าที่ตัดสินใจด้านการลงทุน อนุมัติสัดส่วนการลงทุนทั้งระยะยาวและระยะกลาง ติดตามและทบทวนการลงทุนให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและตลาดการเงินอยู่เสมอ  โดยมีฝ่ายบริหารเงินสำรอง สายตลาดการเงิน เป็นผู้ปฏิบัติงาน บริหารและดูแลกองทุนต่างๆ ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่กำหนด

RMD Governance StructureTH

 

กรอบการบริหารความเสี่ยง

 

    ธปท. กำหนดและควบคุมความเสี่ยงหลัก 3 ด้าน ได้แก่ ความเสี่ยงด้านตลาด ความเสี่ยงด้านเครดิต และความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง โดยเกณฑ์ทั้งหมดจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารความเสี่ยง และมีการทบทวนความเหมาะสมเป็นประจำตามภาวะตลาดการเงินการลงทุนที่เปลี่ยนไป

 

1. การบริหารความเสี่ยงด้านตลาด (Market Risk)

 

    การบริหารความเสี่ยงด้านตลาดมีเป้าหมายเพื่อควบคุมความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่กำหนด

    เครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการกำกับดูแลความเสี่ยงด้านตลาด ได้แก่ (1) ในการบริหารกองทุนระยะยาว มีการกำหนดดัชนีอ้างอิงองค์กร เพื่อควบคุมให้ผลตอบแทนและความเสี่ยงของดัชนีอ้างอิงกองทุนสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุนนั้นๆ (2) ในการบริหารกองทุนในระยะสั้น มีการกำหนด Tracking Error Limit เพื่อควบคุมไม่ให้ผลตอบแทนและความเสี่ยงของกองทุนแตกต่างจากดัชนีอ้างอิงมากจนเกินไป

 

2. การบริหารความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk)

 

    การบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตมีเป้าหมายเพื่อควบคุมความเสียหายที่เกิดจากการผิดนัดชำระหนี้ หรือการที่ราคาสินทรัพย์ลดลงจากการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ โดย ธปท. มีความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk Exposure) กับทั้งรัฐบาล ภาคเอกชน และสถาบันการเงินต่างประเทศ

    เครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการกำกับดูแลความเสี่ยงด้านเครดิต ได้แก่ (1) การกำหนดระดับเครดิตต่ำสุดที่สามารถยอมรับได้ (Minimum Acceptable Credit Rating) โดยใช้อันดับความน่าเชื่อถือที่จัดทำโดยสถาบันที่เป็นสากล (2) การกำหนดวงเงินหรือสัดส่วนการลงทุนในภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงินต่างประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้ความเสี่ยงกระจุกตัวมากเกินไป (Concentration Risk)

    ปัจจุบัน ธปท. กำหนดอันดับเครดิตต่ำสุดที่สามารถลงทุนได้ของรัฐบาลต่างประเทศไว้ที่ “Investment Grade” และกำหนดอันดับเครดิตต่ำสุดของภาคเอกชนต่างประเทศในระดับที่เข้มงวดกว่า

 

3. การบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk)

 

    การบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องมีเป้าหมายเพื่อดูแลให้มีการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องในสัดส่วนที่เหมาะสม สามารถนำเงินมาใช้ได้อย่างทันท่วงที โดยไม่กระทบราคาตลาดอย่างมีนัยสำคัญ

    เครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ได้แก่ (1) การแยกกองทุนสภาพคล่องออกมาอย่างชัดเจน (2) การกำหนดเพดานการถือครองสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำ (Illiquid Asset) และ (3) การกำหนดไม่ให้มีการถือครองตราสารรุ่นใดรุ่นหนึ่งมากเกินไป จนอาจทำให้มีผลกระทบกับราคาตลาด เมื่อต้องขายตราสารนั้นๆ

 

4. การประเมินผลการบริหารกองทุน (Performance and Risk Measurement)

 

    ธปท. ประเมินฐานะเงินสำรองโดยใช้ราคาปิดสิ้นวัน เพื่อให้เป็นมูลค่าปัจจุบันตามตลาด และมีหน่วยงานที่แยกจากการบริหารเงินสำรองทางการเป็นผู้ตีราคา คำนวณผลตอบแทน และประเมินความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ