การวางแผนการเงิน
ซึ่งควรเริ่มจากการปลูกฝังนิสัยการออมและการใช้เงินอย่างสมเหตุสมผลตั้งแต่วัยเด็กเพื่อบ่มเพาะวินัยทางการเงินไว้ก่อน เมื่อเข้าสู่วัยทำงานก็จำเป็นต้องรู้วิธีการวางแผนการจัดสรรรายได้ให้เพียงพอกับการออมเงินตามเป้าหมายและรายจ่ายต่าง ๆ อย่างเหมาะสม เมื่อมีครอบครัวก็จำเป็นต้องดูแลทั้งตนเองและคนในครอบครัว ทำให้ความรับผิดชอบและภาระทางการเงินยิ่งเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้การวางแผนทางการเงินมีความสำคัญมากขึ้น แม้กระทั่งเมื่อเกษียณอายุ ก็ยังต้องวางแผนการเงิน เพราะเป็นวัยที่มีรายได้ลดลง แต่ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ยังคงอยู่ หรืออาจสูงขึ้นในบางหมวด เช่น การรักษาพยาบาล ซึ่งหากไม่มีการวางแผนที่ดีก็อาจเกิดปัญหาได้
ทั้งนี้ คุณสามารถทดลองทำแบบประเมินความรอบรู้ทางการเงินเพื่อทดสอบว่าปัจจุบันคุณมีความมั่นคงทางการเงินมากน้อยแค่ไหน มีทักษะการจัดการเงินส่วนบุคคลอย่างไร และความรู้พื้นฐานด้านการเงินเพียงพอหรือไม่ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการวางแผนการเงินต่อไป
สิ่งที่สะท้อนฐานะทางการเงินที่แท้จริงของบุคคลไม่ใช่ สินทรัพย์ที่มีอยู่ แต่เป็น “ความมั่งคั่งสุทธิ”
สินทรัพย์ - หนี้สิน = ความมั่งคั่งสุทธิ
นอกจากนี้ ควรจดบันทึกรายรับรายจ่ายประจำวัน เพื่อจะได้รู้พฤติกรรมการใช้จ่ายของตนเอง
รายรับ - เงินออม - รายจ่าย = เงินเหลือใช้/ เงินขาดมือ
.
ควรตั้งเป้าหมายและกำหนดเวลาที่จะพิชิตเป้าหมายให้ชัดเจน รวมถึงมีการจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายให้สอดคล้องกับความสามารถทางการเงินในช่วงเวลานั้น ๆ
เป้าหมายที่ดี ต้องเป็นไปตามหลัก SMART ได้แก่
Specific ควรเป็นเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่คลุมเครือ มีความเฉพาะเจาะจงว่าเราจะทำอะไรเพื่ออะไร
Measurable สามารถวัดผลเป็นตัวเลขหรือตัวเงินได้ชัดเจน เพื่อให้ทราบถึงความก้าวหน้า ว่าใกล้ถึงเป้าหมายมากน้อยแค่ไหนแล้ว
Achievable เป็นเป้าหมายที่สามารถทำสำเร็จได้ โดยรู้ว่าต้องทำอย่างไรให้บรรลุเป้าหมาย
Realistic เป็นสิ่งที่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง
Time Bound มีกรอบเวลาที่แน่ชัด ว่าจะเริ่มเมื่อใด และต้องใช้เวลาเท่าใดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ได้วางไว้ โดยอาจแบ่งเป็นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
ควรหมั่นตรวจสอบแผนอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยทุก 6 เดือนว่าทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่
หากไม่ ก็ต้องหาสาเหตุว่าเกิดจากตัวเรา หรือมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่ทำให้ไม่เป็นไปตามแผน แล้วปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
ควรวางแผนการใช้จ่ายให้เหมาะสมกับรายรับ โดยพิจารณาว่าค่าใช้จ่ายที่จำเป็นมีอะไรบ้าง แล้วกันรายรับส่วนหนึ่งไว้สำหรับเป็นเงินออมและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นก่อน หากพบว่ารายรับไม่เพียงพอก็ควรหาทางลดรายจ่ายหรือเพิ่มรายได้
หากรู้ล่วงหน้าว่าจะต้องใช้เงินจำนวนมาก ควรวางแผนเก็บเงินเตรียมไว้แต่เนิ่น ๆ บริหารเงินออมให้งอกเงย เช่น ฝากธนาคาร ซื้อพันธบัตร ซื้อประกันสะสมทรัพย์ ซื้อกองทุนรวม ฯลฯ ทั้งนี้ ต้องศึกษาและทำความเข้าใจรูปแบบการออม ความเสี่ยง รวมทั้งติดตามข่าวภาวะเศรษฐกิจที่อาจส่งผลกระทบ เช่น ภาวะเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยเพื่อประกอบการตัดสินใจด้วย
หากใช้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคล ควรใช้อย่างมีวินัย จัดเก็บใบเสร็จเพื่อตรวจสอบและจ่ายเงินให้ตรงตามกำหนด เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยโดยไม่จำเป็น
การก่อหนี้ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวหากมีการบริหารจัดการที่ดี และเลือกก่อหนี้ที่มีประโยชน์ เช่น การกู้ซื้อบ้านหรือกู้เพื่อประกอบอาชีพ อย่างไรก็ตาม ควรประเมินความสามารถในการชำระคืนก่อน โดยภาระการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยของหนี้ทุกประเภทในแต่ละเดือนรวมกัน ไม่ควรเกิน 1 ใน 3 ของรายได้ต่อเดือน
หากมีหนี้สินเกินตัว ก็ต้องพยายามปลดหนี้ด้วยการประหยัด ทยอยผ่อนชำระ โดยเฉพาะหนี้นอกระบบและหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง ที่สำคัญไม่ควรก่อหนี้เพิ่ม หากไม่สามารถชำระคืนได้ ก็ควรหารือกับเจ้าหนี้เพื่อหาทางออกร่วมกัน