การกำกับดูแลระบบการชำระเงิน

การกำกับดูแลระบบการชำระเงิน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีบทบาทหลักในการพัฒนาและกำกับดูแลระบบการชำระเงิน ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ ให้สามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยความมั่นคง ปลอดภัย รองรับการทำธุรกรรมทางการเงินของสถาบันการเงิน ภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไป การมีระบบการชำระเงินที่ดีจะช่วยให้เกิดสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจการเงินที่มีเสถียรภาพ และมี​การพัฒนาอย่างยั่งยืนและทั่วถึง การพัฒนาและการกำกับดูแลระบบการชำระเงินของ ธปท. เป็นไปตามขอบเขตอำนาจภายใต้พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย และพระราชบัญญัติระบบการชำระเงิน พ.ศ. 2560 (พ.ร.บ. ระบบการชำระเงิน) เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของธนาคารกลาง ในการดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพระบบการชำระเงิน โดยมีคณะกรรมการระบบการชำระเงิน (กรช.) เป็นผู้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับระบบการชำระเงินที่ ธปท. กำกับดูแล และระบบการหักบัญชีระหว่างสถาบันการเงิน รวมถึงติดตามการดำเนินงานของ ธปท. ในการจัดตั้งหรือสนับสนุนการจัดตั้งระบบการชำระเงิน ทั้งนี้ ธปท. มีวัตถุประสงค์ในการกำกับดูแลระบบการชำระเงินให้มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ตามหลักการมาตรฐานสากล สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการ ซึ่งนำไปสู่การมีเสถียรภาพของระบบการชำระเงินและระบบการเงินโดยรวม

test

ระบบการชำระเงินเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ ให้สามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยความมั่นคง และปลอดภัย

การกำกับดูแลระบบการชำระเงินในประเทศไทย

 

ในการกำกับระบบการชำระเงิน ธปท. มีขอบเขตและกระบวนการกำกับดูแลเพื่อส่งเสริมให้ระบบการชำระเงินมีประสิทธิภาพ มั่นคง ปลอดภัย มีการบริหารความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม และสามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่องทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน รวมถึงลดความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องเป็นวงกว้าง (Symtemic Risk) ดังนี้  

 

1. การกำกับดูแลตาม พ.ร.บ. ระบบการชำระเงิน


   การกำกับดูแลตาม พ.ร.บ. ระบบการชำระเงิน แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่

     

     1) ระบบการชำระเงินที่มีความสำคัญ ได้แก่ ระบบบาทเนต (Bank of Thailand Automated High-value Transfer Network: BAHTNET) ซึ่งเป็นระบบที่ ธปท. จัดตั้งและดำเนินการ ทั้งนี้ พ.ร.บ. ระบบการชำระเงิน มีบทบัญญัติในเรื่องที่สำคัญต่อเสถียรภาพระบบการชำระเงิน โดยมีการคุ้มครองการโอนเงิน การชำระดุล หรือการหักบัญชีที่ได้ดำเนินการผ่านระบบการชำระเงินที่มีความสำคัญก่อนเวลาที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการหรือมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของสมาชิก ให้มีผลสมบูรณ์ไม่สามารถเพิกถอน กลับรายการ แก้ไข หยุด หรือระงับได้ (Payment finality) เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องเป็นวงกว้าง (Systemic risk)

 

     2) ระบบการชำระเงินภายใต้การกำกับ ได้แก่ (1) ระบบโอนเงินรายย่อยระหว่างผู้ใช้บริการของระบบ (Inter-institution Fund Transfer System) (2) ระบบเครือข่ายบัตร (Payment Card Network) และ (3) ระบบการชำระดุล (Settlement System)

 

     3) บริการการชำระเงินภายใต้การกำกับ ได้แก่ (1) การให้บริการบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือบัตรเอทีเอ็ม (2) การให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (3) การให้บริการรับชำระเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แทนผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการหรือเจ้าหนี้  (4) การให้บริการโอนเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และ (5) การให้บริการการชำระเงินอื่นใดที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบการเงิน หรือประโยชน์สาธารณะ

 

     โดย พ.ร.บ. ระบบการชำระเงิน ได้ให้อำนาจ ธปท. ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลระบบการชำระเงิน โดยมีตามกรอบหลักการกำกับดูแล 5 ด้าน คือ (1) ด้านฐานะทางการเงิน (2) ด้านธรรมาภิบาล (3) ด้านการบริหารความเสี่ยงและความปลอดภัย (4) ด้านการคุ้มครองผู้ใช้บริการ และ (5) ด้านการส่งเสริมประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้ ธปท. สามารถเข้าตรวจสอบและขอข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสั่งให้แก้ไขฐานะทางการเงินหรือการดำเนินงานที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน หรือฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ ธปท. ประกาศกำหนด

 

 

2. การกำกับดูแลตามมาตรฐานสากล


    คณะกรรมการระบบการชำระเงิน (กรช.) ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์การจัดกลุ่มระบบการชำระเงินตามระดับความสำคัญ รวมถึงได้วางกรอบการกำกับดูแลระบบการชำระเงินในแต่ละกลุ่มเพื่อให้มีการกำกับดูแลที่สอดคล้องกับหลักการตามมาตรฐานสากล (Principles for Financial Market Infrastructures: PFMI) ที่ออกโดย Committee on Payments and Market Infrastructures (CPMI) ร่วมกับ International Organization of Securities Commissions (IOSCO) เมื่อเดือนเมษายน 2555 ซึ่งการกำกับดูแลตามมาตรฐานสากล PFMI สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

     

     1) ระบบการชำระเงินที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของระบบการเงินของประเทศ (Systemically Important Payment System: SIPS) ได้แก่ ระบบบาทเนต (BAHTNET) ที่ดำเนินการโดย ธปท. เนื่องจากเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน (Financial Market Infrastructure: FMI) ของประเทศ รองรับธุรกรรมการโอนเงินมูลค่าสูงระหว่างสถาบันการเงินและใช้สำหรับชำระดุลธุรกรรมตลาดเงินและระบบการชำระเงินอื่น ซึ่งหากระบบหยุดชะงักอาจส่งผลกระทบต่อสมาชิกในระบบอย่างต่อเนื่องเป็นวงกว้าง (Systemic risk) หรือเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบการชำระเงิน จึงต้องมีการกำกับดูแลระบบ SIPS ให้ดำเนินการได้ตามมาตรฐานสากล PFMI ที่ใช้กับระบบการชำระเงินทุกข้อ (รวม 18 ข้อ)

 

     2) ระบบการชำระเงินรายย่อยที่มีความสำคัญ (Prominently Important Retail Payment Systems: PIRPS) ได้แก่ ระบบ ICAS และระบบการโอนเงินรายย่อยระหว่างธนาคาร (Interbank Transaction Management and Exchange: ITMX) ซึ่งดำเนินการโดย บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด (NITMX) โดยในการกำกับดูแลระบบ PIRPS จะใช้มาตรฐานสากล PFMI จำนวน 14 ข้อ โดยไม่รวมถึงหลักการที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงทางการเงิน

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

ธปท. ได้จัดทำ “กรอบการกำกับดูแลระบบการชำระเงินในประเทศไทย (Oversight Framework of Payment Systems in Thailand)” เพื่อใช้เป็นแนวทางการดำเนินการของ ธปท. ในการกำกับดูแลระบบการชำระเงิน ดังนี้

  • กรอบการกำกับดูแลระบบการชำระเงินในประเทศไทย (Oversight Framework of Payment Systems in Thailand)

การกำกับดูแลตาม พ.ร.บ. ระบบการชำระเงิน

ในการประกอบธุรกิจระบบหรือบริการการชำระเงินภายใต้การกำกับ ตาม พ.ร.บ. ระบบชำระเงิน ผู้ประสงค์ประกอบธุรกิจต้องขอขึ้นทะเบียน หรือขอใบอนุญาตต่อกระทรวงการคลังผ่าน ธปท. และเมื่อได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และหลักเกณฑ์ที่ ธปท. กำหนด

Supervision

ความร่วมมือในการกำกับดูแลระบบการชำระเงิน (Co-operative Oversight)

 

     ธปท. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลระบบการชำระเงิน มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินอื่น ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการกำกับดูแลระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่เชื่อมโยงกัน ให้มีความมั่นคงปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และมีการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเพียงพอ และรวมถึงป้องกันความเสี่ยงในลักษณะลูกโซ่ (Systemic risk) ของทั้งระบบได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับมาตรฐานสากล PFMI ตามหลักการด้านหน้าที่ความรับผิดชอบของธนาคารกลางหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล (Responsibility E: Cooperation with other authorities) โดยมีการกำหนดขอบเขตความร่วมมือในการกำกับดูแลให้ครอบคลุมถึงเรื่องการกำหนดนโยบายและแผนการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่เชื่อมโยงกัน การดูแลความเสี่ยงที่สำคัญ และการจัดการกรณีที่ระบบเกิดปัญหาหรือขัดข้อง ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่เชื่อมโยงกัน

     

     1) หน่วยงานกำกับดูแลในประเทศ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลระบบศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (Central Securities Depositories: CSD) ระบบการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ (Securities Settlement Systems: SSS) และระบบสำนักหักบัญชีกลางสำหรับธุรกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์ (Central Counterparties: CCP) 

 

     2) หน่วยงานกำกับดูแลในต่างประเทศ ได้แก่ Hong Kong Monetary Authority (HKMA) ซึ่งกำกับดูแลระบบ US Dollar Clearing House Automated Transfer System (USD CHATS) โดยมีการเชื่อมโยงกับระบบบาทเนต (cross-border links) ในลักษณะการชำระดุลแบบข้ามพรมแดนในเวลาเดียวกันด้วยกลไก Payment-versus-Payment (PvP) เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการชำระดุลธุรกรรมซื้อขายเงินบาทและเงินดอลลาร์สหรัฐ

เอกสารที่เกี่ยวข้อง (Related documents)

  • รายงานการกำกับดูแลระบบการชำระเงินประจำปี 2560

  • รายงานการกำกับดูแลระบบการชำระเงินประจำปี 2559

  • รายงานการกำกับดูแลระบบการชำระเงินประจำปี 2558

  • รายงานการกำกับดูแลระบบการชำระเงินประจำปี 2557