​การที่ยังมีผู้ผลิตหรือผู้พยายามนำธนบัตรปลอมมาใช้ ส่วนหนึ่งเกิดจากผู้ใช้ธนบัตรมักไม่สังเกตหรือไม่ทราบวิธีสังเกตธนบัตรที่ถูกต้อง ดังนั้น วิธีป้องกันธนบัตรปลอมที่ให้ผลดีที่สุด ก็คือ การกระตุ้นเตือนให้ประชาชนสังเกต พร้อมกับให้ความรู้ในการสังเกตธนบัตร ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันมิให้ตกเป็นเหยื่อของธนบัตรปลอมแล้ว ยังมีส่วนช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของธนบัตรปลอมอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย 

วิธีสังเกตธนบัตร

ท่านสามารถช่วยยับยั้งธนบัตรปลอมด้วยการปฏิบัติ ดังนี้ 

  • สังเกตทุกครั้งก่อนรับธนบัตร 
  • ไม่นำธนบัตรปลอมที่รับไว้แล้วออกใช้ต่อ เพราะมีความผิดตามกฎหมาย 
  • ให้เขียนคำว่า "ปลอม" ลงบนธนบัตรปลอมเพื่อแยกแยะออกจากธนบัตรฉบับจริง และนำไปส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ธนาคารพาณิชย์เพื่อนำส่งเข้าระบบ
  • หรือนำส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมแจ้งลักษณะรูปพรรณและสิ่งอื่น ๆ เกี่ยวกับผู้ที่นำธนบัตรปลอมมาใช้กับท่านให้มากที่สุด เช่น ได้มาอย่างไร จากใคร ที่ใด เป็นต้น เพื่อเป็นข้อมูลในการสืบสวนจับกุม 
  • หรือแจ้งธนาคารแห่งประเทศไทย ​โทร. 0 2356 7987

ประชาชนที่แจ้งเบาะแสแหล่งผลิตหรือแหล่งจำหน่ายธนบัตรปลอม จนนำไปสู่การสืบสวนจับกุมตัวผู้กระทำความผิด ทางการได้ตั้ง "เงินสินบน" ให้กับผู้แจ้งความและ "เงินรางวัล" ให้กับผู้จับกุมธนบัตรปลอมแปลง ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลการจับกุมการปลอมแปลงธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2529  ดังนี้ 

เงินสินบน จ่ายให้แก่ผู้แจ้งความนำจับ ตามหลักเกณฑ์วิธีการ ดังนี้ 

​กรณีที่ 1  จับได้ตัวผู้ต้องหา และของกลางเป็นอุปกรณ์ ให้จ่ายเงินสินบนในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของราคาอุปกรณ์ตามที่กรมธนารักษ์ หรือธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วแต่กรณีประเมินราคา แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท 

กรณีที่ 2  จับได้ตัวผู้ต้องหา และของกลางเป็นธนบัตรปลอม ให้จ่ายเงินสินบนในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของราคาในหน้าธนบัตรปลอม หรือเหรียญกษาปณ์ปลอมที่จับได้ แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท 

เงินรางวัล  จ่ายให้แก่ผู้จับกุม ตามหลักเกณฑ์วิธีการ ดังนี้ 

กรณีที่ 1  จับได้ตัวผู้ต้องหา และของกลางเป็นอุปกรณ์ให้จ่ายเงินรางวัลในอัตราไม่เกินร้อยละ 25 ของราคาอุปกรณ์ตามที่กรมธนารักษ์ หรือธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วแต่กรณีประเมินราคา แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท 

กรณีที่ 2  จับได้ตัวผู้ต้องหา และของกลางเป็นธนบัตรปลอมให้จ่ายเงินรางวัลในอัตราไม่เกินร้อยละ 25 ของราคาในหน้าธนบัตรปลอม หรือเหรียญกษาปณ์ปลอมที่จับได้ แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท 

ในกรณีที่จับกุมได้โดยไม่มีผู้แจ้งความนำจับ ให้จ่ายเงินรางวัลแก่ผู้จับกุมไม่เกินร้อยละ 30 แล้วแต่กรณี 

การจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลจะจ่ายให้ทันทีครึ่งหนึ่ง เมื่ออัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหา และเมื่อศาลพิพากษาลงโทษว่ามีความผิด จะจ่ายให้อีกครึ่งหนึ่ง 

การขอรับเงินสินบน เงินรางวัล ให้ผู้แจ้งความนำจับหรือผู้จับกุมยื่นคำขอต่อบุคคลต่อไปนี้ภายใน 90 วัน นับแต่วันสั่งฟ้องผู้ต้องหา หรือวันที่คดีถึงที่สุดแล้วแต่กรณี 

(1) ในกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นต่ออธิบดีกรมธนารักษ์ 

(2) ในส่วนภูมิภาค ให้ยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งได้รับคำขอ ส่งคำขอรับเงินสินบน หรือเงินรางวัล พร้อมด้วยหลักฐานไปยังอธิบดีกรมธนารักษ์ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำขอรับเงิน ​

มาตรา 240 ผู้ใดทำปลอมขึ้นซึ่งเงินตรา ไม่ว่าจะปลอมขึ้นเพื่อให้เป็นเหรียญกษาปณ์ ธนบัตรหรือสิ่งอื่นใด ซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ หรือทำปลอมขึ้นซึ่งพันธบัตรรัฐบาลหรือใบสำคัญสำหรับรับดอกเบี้ยพันธบัตรนั้น ๆ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเงินตรา ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสี่แสนบาท

[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560]

มาตรา 241 ผู้ใดแปลงเงินตรา ไม่ว่าจะเป็นเหรียญกษาปณ์  ธนบัตรหรือสิ่งอื่นใดซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ หรือแปลงพันธบัตรรัฐบาล หรือใบสำคัญสำหรับรับดอกเบี้ยพันธบัตรนั้น ๆ ให้ผิดไปจากเดิม เพื่อให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีมูลค่าสูงกว่าจริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานแปลงเงินตรา ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท

[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560 ]

มาตรา 244 ผู้ใดมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งสิ่งใด ๆ อันตนได้มาโดยรู้ว่าเป็นของปลอมตามมาตรา 240 หรือของแปลงตามมาตรา 241 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสามแสนบาท

[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560]

มาตรา 245 ผู้ใดได้มาซึ่งสิ่งใด ๆ โดยไม่รู้ว่าเป็นของปลอมตามมาตรา 240 หรือของแปลงตามมาตรา 241 ถ้าต่อมารู้ว่าเป็นของปลอมหรือของแปลงเช่นว่านั้น ขืนยันนำออกใช้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560]

มาตรา 246 ผู้ใดทำเครื่องมือหรือวัตถุสำหรับปลอมหรือแปลงเงินตราไม่ว่าจะเป็นเหรียญกษาปณ์ ธนบัตร หรือสิ่งใด ๆ ซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ หรือสำหรับปลอมหรือแปลงพันธบัตรรัฐบาลหรือใบสำคัญสำหรับรับดอกเบี้ยพันธบัตรนั้น ๆ หรือมีเครื่องมือหรือวัตถุเช่นว่านั้น เพื่อใช้ในการปลอมหรือแปลง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสามแสนบาท

[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ 2560]

มาตรา 249 ผู้ใดทำบัตรหรือโลหะธาตุอย่างใดๆ ให้มีลักษณะและขนาดคล้ายคลึงกับเงินตรา ไม่ว่าจะเป็นเหรียญกษาปณ์ ธนบัตรหรือสิ่งใด ๆ ซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ หรือพันธบัตรรัฐบาล หรือใบสำคัญสำหรับรับดอกเบี้ยพันธบัตรนั้น ๆ หรือจำหน่ายบัตรหรือโลหะธาตุเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการจำหน่ายบัตรหรือโลหะธาตุดังกล่าวในวรรคแรก เป็นการจำหน่ายโดยการนำออกใช้ดังเช่นสิ่งใด ๆ ที่กล่าวในวรรคแรก ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ 2560]​