เป้าหมายนโยบายการเงิน

ประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินเรื่อง เป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2567

ประกาศ ณ วันที่ 26 ธันวาคม 2566

[ เอกสารในรูปแบบ PDF ]

เหตุผลในการออกประกาศ


เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติเป้าหมายของนโยบายการเงินประจำปี 2567 ที่เป็นความตกลงร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ ตามที่บัญญัติในมาตรา 28/8 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยพุทธศักราช 2485 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551


อำนาจตามกฎหมาย


กนง. ได้ออกประกาศฉบับนี้เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามความในมาตรา 28/8 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551


เนื้อหา


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเงินได้ตกลงร่วมกัน ดังนี้

1.  ปัจจัยที่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมาและแนวโน้มในระยะข้างหน้า 

     ในช่วงที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อไทยที่อยู่ในระดับสูงได้ปรับลดลงต่อเนื่อง ตามแรงกดดันด้านอุปทานที่ทยอยคลี่คลายเป็นสำคัญ ได้แก่  (1) ราคาพลังงานที่ปรับลดลงตามราคาในตลาดโลกหลังผลกระทบของการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิตโลกและความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนบรรเทาลง ประกอบกับมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และ  (2) ราคาเนื้อสัตว์ในประเทศ โดยเฉพาะเนื้อสุกรที่ปรับลดลงตามอุปทานที่เพิ่มขึ้น ทำให้แรงกดดันด้านต้นทุนและแนวโน้มการส่งผ่านราคาของผู้ประกอบการลดลง อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อไทยในระยะต่อไปยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยอัตราเงินเฟ้อในปี 2567 อาจได้รับแรงกดดันทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานจากมาตรการทางเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมถึงราคาอาหารสดที่อาจได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังมีความไม่แน่นอนจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ ภูมิทัศน์ด้านพลังงานและภูมิรัฐศาสตร์ และการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว

 

2.  ข้อตกลงร่วมกันในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลางและเป้าหมายสำหรับปี 2567 ไว้ที่ร้อยละ 1-3

     รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและ กนง. มีข้อตกลงร่วมกันโดยกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1-3 เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายสำหรับปี 2567 เนื่องจาก  (1) เป้าหมายดังกล่าวเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับศักยภาพ และที่ผ่านมาสามารถยึดเหนี่ยวอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ได้ดีแม้ในช่วงที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง  (2) การคงเป้าหมายเป็นการแสดงถึงความตั้งใจที่จะรักษาเสถียรภาพราคา อันจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณชนและช่วยยึดเหนี่ยวอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย และ  (3) ในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มกลับมาเคลื่อนไหวในกรอบภายใต้ความไม่แน่นอนสูง การปรับเปลี่ยนเป้าหมายอาจสร้างความสับสนต่อสาธารณชนเกี่ยวกับแนวนโยบายในระยะข้างหน้าได้

     ภายใต้สถานการณ์ที่พลวัตเงินเฟ้อได้รับผลกระทบจากปัจจัยที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยจะร่วมมือในการดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินให้มีความสอดประสาน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการเพิ่มผลิตภาพและสร้างรายได้ให้กับประชาชน ซึ่ง กนง. มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคาและดูแลให้อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางอยู่ในกรอบเป้าหมาย ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน

 

3.  ข้อตกลงในการติดตามและรายงานผลการดำเนินนโยบาย รวมถึงการหารือร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนโยบายการเงิน

     กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยจะหารือร่วมกันเป็นประจำและ/หรือ เมื่อมีเหตุจำเป็นอื่นตามที่ทั้งสองหน่วยงานจะเห็นสมควร เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของนโยบายการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้การดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินเป็นไปในทิศทางที่สอดประสานกัน

     กนง. จะจัดทำรายงานผลการดำเนินนโยบายการเงินทุกครึ่งปี ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับ  (1) การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมา  (2) แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไป และ  (3) การคาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจในอนาคต เพื่อแจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทราบ รวมถึงจะเผยแพร่รายงานนโยบายการเงินทุกไตรมาสเป็นการทั่วไป อันจะช่วยเพิ่มการรับรู้ของสาธารณชนถึงแนวทางการตัดสินนโยบายการเงินของ กนง. ซึ่งจะช่วยเพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต

 

4.  ข้อตกลงในการออกจดหมายเปิดผนึกของ กนง. ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน

     กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในปี 2566 และ 2567 จะอยู่ในกรอบเป้าหมาย อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อในบางช่วงอาจผันผวนและเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมายได้จากปัจจัยชั่วคราวที่กระทบต่อพลวัตเงินเฟ้อ ดังนั้น กนง. จะติดตามและประเมินผลกระทบของปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างต่อพลวัตเงินเฟ้อไทยในระยะต่อไปอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ หากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาหรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเป็นการสื่อสารและสร้างความเชื่อมั่นในการดูแลเสถียรภาพด้านราคาให้แก่สาธารณชน โดยจะชี้แจงถึง  (1) สาเหตุของการเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมายดังกล่าว  (2) แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมาและในระยะต่อไปเพื่อนำอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่เป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม และ  (3) ระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่เป้าหมาย นอกจากนี้ กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทุก 6 เดือน หากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยตามแนวทางข้างต้นยังคงอยู่นอกกรอบเป้าหมาย และจะรายงานความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาเป็นระยะตามสมควร

 

5.  ข้อตกลงในการแก้ไขเป้าหมายนโยบายการเงินหากมีเหตุจำเป็น

     ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรหรือจำเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ กนง. อาจตกลงร่วมกันเพื่อแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงินได้ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา

ประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงิน เรื่อง เป้าหมายของนโยบายการเงิน ที่ผ่านมา

  • เป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2566

  • เป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2565

  • เป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2564

  • เป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2563

  • เป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2562

  • เป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2561

  • เป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2560

  • เป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2559

  • เป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2552-2558 (ไฟล์ .ZIP)