ธปท. และ มหาวิทยาลัย

ในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับสังคมไทย

        หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับบทบาทของ ธปท. ในฐานะผู้ดูแลนโยบายการเงิน หรือสถาบันการเงินในประเทศ แต่อีกบทบาทหนึ่งของ ธปท. ที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ งานด้านการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ที่รวมถึง งานด้านการส่งเสริมความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy : Finlit) ซึ่งเป็นการวางรากฐานสำคัญของการมีทักษะทางการเงินที่ดี และลูกฝังทัศนคติเพื่อเสริมสร้างวินัยทางการเงินที่ดีให้กับประชาชนทุกคนตั้งแต่วัยเด็ก อันเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยให้ประชาชนคนไทยมีความเป็นอยู่ทางการเงินที่ดีอย่างยั่งยืนตลอดช่วงชีวิต (financial well-being)

 

        การผลักดันเรื่องดังกล่าวให้เป็นจริงได้นั้นไม่อาจทำเพียงลำพังได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกันผลักดันจากหลายภาคส่วน รวมทั้ง “มหาวิทยาลัย” ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดกับนักศึกษาและชุมชุน โดยมหาวิทยาลัยนอกจากจะมีบทบาทในการบ่มเพาะนักศึกษาให้มีความรู้และทักษะที่จำเป็นแล้ว ยังเป็นศูนย์รวมความรู้ นวัตกรรมและ เครือข่ายต่าง ๆ อันเปรียบเสมือนสะพานเชื่อมภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมอีกด้วย ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงเป็นหน่วยสำคัญในการส่งผ่านและส่งเสริมความรู้ทางการเงินและการบริหารจัดการหนี้อย่างครบวงจร ใน 2 ด้านสำคัญ ดังนี้

 

        1. การส่งเสริมความรู้ทางการเงินและการบริหารจัดการหนี้ผ่านระบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา

        2. การเป็นศูนย์รวมความรู้ทางการเงินและการบริหารจัดการหนี้ 

 

        โดย ธปท. พร้อมสนับสนุนเครื่องมือ สื่อการสอน และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัย ในการส่งเสริมความรู้ทางการเงินและการบริหารจัดการหนี้ไปยังนักศึกษา บุคลากร และประชาชนไทย ให้มีความรู้ ทักษะ และทัศนคติทางการเงินที่ดีต่อไป

1. การส่งเสริมความรู้ทางการเงินและการบริหารจัดการหนี้ผ่านระบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา

 

      มหาวิทยาลัยสามารถมีบทบาทในการให้ความรู้ทางการเงิน ทักษะ และค่านิยมทางการเงินที่ถูกต้อง โดยการผลักดันวิชาความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy : FinLit) ที่ถูกต้อง เข้าสู่วิชาศึกษาทั่วไป (General Education : Gen Ed ) ได้ ตามแนวทางดังนี้

แนวทางการสร้างวิชา FinLit

     1. สำรวจ : สำรวจเครื่องมือและสื่อการสอนจาก “แหล่งเครื่องมือและสื่อการสอนความรู้ทางการเงินระดับมหาวิทยาลัย" สำหรับการเปิดวิชา Financial Literacy ในมหาวิทยาลัย

 

     2. สร้าง : สร้างวิชา FinLit ของมหาวิทยาลัยตนเอง โดยสามารถดูได้จาก "ตัวอย่างรูปแบบการเปิดสอนในมหาวิทยาลัย" ที่ ธปท. ได้รวบรวมสำหรับใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละมหาวิทยาลัย

 

     3. ส่งต่อ : ส่งต่อแรงบัลดาลใจ และไอเดียไปยังมหาวิทยาลัยอื่นๆ เมื่อสร้างสำเร็จแล้ว โดยสามารถแจ้งความสำเร็จแก่เราได้ที่ email : cpstrategy-fcd@bot.or.th นี้เลย

 

2. การเป็นศูนย์รวมความรู้ทางการเงินและการบริหารจัดการหนี้

 

      นอกจากการพัฒนาความรู้ทางการเงินสำหรับนักศึกษาแล้ว มหาวิทยาลัยยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์รวมความรู้ทางการเงินและการบริหารจัดการหนี้ ซึ่งมีส่วนสนับสนุนการสร้างความเป็นอยู่ทางการเงินที่ดี (financial well-being) และช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างยั่งยืน ได้แก่


      2.1 สร้างครูสตางค์ : พัฒนาครูให้สามารถสอนเรื่องการเงินได้

          มหาวิทยาลัยที่มีการสอนครู (เช่น คณะครุศาสตร์ / ศึกษาศาสตร์) มีบทบาทสำคัญในการผลิต “ครูสตางค์” หรือครูที่สามารถนำความรู้ทางการเงินไปประยุกต์ใช้ในห้องเรียนจริงได้

 

      2.2 สร้างหมอหนี้ : พัฒนาบุคลากร เช่น อาจารย์ นักศึกษาให้สามารถเป็นหมอหนี้ ช่วยให้คำปรึกษา – แก้ปัญหาหนี้ให้ชุมชนได้

          มหาวิทยาลัยได้ชื่อว่าเป็นแหล่งของบุคลากรที่มีความรู้ ทั้งอาจารย์ และนักศึกษา ซึ่งเป็นบุคลากรที่มีศักยภาพในการเรียนรู้บทบาทการเป็น “หมอหนี้” เพื่อช่วยให้คำปรึกษา – แก้ปัญหาหนี้ให้ชุมชนได้ 

 

      2.3 ส่งต่อความรู้ไปยังชุมชน

          มหาวิทยาลัยสามารถมีบทบาทในการสร้างความเป็นอยู่ทางการเงินที่ดี (financial well-being) ของชุมชนและสังคม เช่น การวิจัยและพัฒนาที่จะช่วยสร้างองค์ความรู้และมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชน การเผยแพร่ความรู้และสื่อการสอนผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น แพลตฟอร์ม Life Long Learning


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือบอกเล่าการสร้างวิชา FinLit ได้ที่ : cpstrategy-fcd@bot.or.th