การกําหนดนโยบายสถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงิน
ธปท. กำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงินภายใต้กรอบหลักการ 4 ด้าน
ธปท. มีกระบวนการกำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงินที่รอบคอบและรัดกุม โดยอาศัยกระบวนการ Regulatory Impact Assessment หรือ RIA ในการดำเนินการ กล่าวคือ มีการวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา กำหนดผลลัพธ์ที่ต้องการ พิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงหลักการกำกับดูแลตามสัดส่วน (Proportionality) วิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือก พิจารณาแนวทางลดความเสี่ยงของทางเลือก และรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน รวมทั้ง ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ด้วย
ภายหลังจากการออกนโยบายและหลักเกณฑ์การกำกับดูแลแล้ว ธปท. ยังมีการติดตามผลและปรับปรุงตามความเหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่านโยบายและหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่กำหนดสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ บรรลุวัตถุประสงค์ของการกำกับดูแลและไม่เป็นอุปสรรคหรือก่อภาระต้นทุนที่เกินจำเป็น
นอกจากการกำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์ และกำกับตรวจสอบการดำเนินงานเพื่อดูแลให้สถาบันการเงินมีความมั่นคงแข็งแรงแล้ว ธปท. กำหนดให้สถาบันการเงินมีแผนล่วงหน้ารองรับการเสริมสร้างความมั่นคงและแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง (Recovery plan) เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตไว้ล่วงหน้า โดยการดำเนินการเหล่านี้จะต้องทำในขณะที่สถาบันการเงินมีความเข้มแข็ง ซึ่งการเตรียมความพร้อมอย่างเป็นระบบจะเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างให้ระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ธปท. มีการสร้างกลไกรองรับการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินในกรณีที่เกิดภาวะวิกฤต (Resolution) โดยมีกระบวนการตัดสินใจที่โปร่งใส รอบคอบ และมีเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาอย่างเพียงพอที่จะช่วยให้บริการที่สำคัญต่อระบบการเงินไม่หยุดชะงักและไม่เกิดความเสียหายที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินโดยรวม